ReadyPlanet.com
dot dot dot
dot
สำหรับสมาชิก
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
dot
dot
bulletหลักโหรโดนใจ
bulletหลักโหร-ศิวเมษ
bulletโหรา-ประวัติศาสตร์
bulletโหรา-ไอที
bulletโหรา-โปรแกรม
bulletDemo/Freeware
bulletโปรแกรม Virgo07
bulletDelphi กับ Swiss Ephemeris
bulletผูกดวงออนไลน์กับ Astrotheme.com
bulletพิกัดภูมิศาสตร์ ประเทศไทย
bulletwebboard ผลัดกันเขียนเวียนกันอ่าน
dot
dot
bulletกำพล ภาระโภชน์ (Astroman) - ยูเรเนียน
bulletโรงเรียนโหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน
bulletอดิเทพ ศรีรัตนไพฑูรย์ - ยูเรเนียน
bulletอาคม ชูจันทร์ - ยูเรเนียน, ลายมือ
bulletชาญชัย เดชะเสฏฐดี (ผู้ร่วมเขียนบทความ)
bulletอาจารย์ ธนกร ตันติถาวร - ยูเรเนียน
dot
dot
bulletประวัติ
bulletการติดต่อ
bulletภาพยนตร์ประวัติศาสตร์
bulletRojnChin's Channel (YouTube)
bulletRojnChin's Blog
bulletร้านค้าออนไลน์
dot
dot
bulletโรงเรียน โหราศาสตร์ ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน
bulletAstro.com
bulletพยากรณ์ดอทคอม
bulletมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยฯ
bulletโหราศาสตร์แนวอาจารย์จรัญ พิกุล
bulletโหรายูเรเนียนดอทคอม
bulletบ้านฮวงจุ้ย
bulletวารสารโหราเวสม์
bulletUranianSoft.com
bulletดูดวงกับ GooSiam.com
bulletMyHora.com: ดูดวงยูเรเนียนออนไลน์
bulletAstro-Seek.com: Full Moons & New Moons
bulletAstro-Seek.com: Aspect Search Engine
bulletLatitude&Longitude เมืองต่างๆ ทั่วโลก
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC
bulletรวม Link เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
bulletแผนผังเว็บไซต์ (Site Map)






ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์


CURRENT MOON


dot
พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนหรือคัดค้านโหราศาสตร์หรือไม่และอย่างไร? article
วันที่ 18/03/2013   11:39:19

(หมายเหตุเบื้องต้น บทความนี้นอกจากจะเป็นลิขสิทธิ์อันชอบธรรมของผู้เขียนแล้ว สิ่งที่เขียนยังอาจกระทบต่อความเชื่อทางศาสนาและโหราศาสตร์ของผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งผู้เขียนควรจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว การที่จะนำบทความนี้ไปเผยแพร่นอกเว็บไซต์ rojn-info.com ของผู้เขียนจึงควรใช้วิธีการทำลิงก์ให้เข้ามาอ่านกัน ณ ที่นี้ แทนการ Copy บทความทั้งหมดไป Paste กันอย่างฉาบฉวยดังที่มักจะเกิดขึ้นตามเว็บบอร์ดและบล็อกต่างๆ ซึ่งอาจจะนำผลเสียบางประการมาสู่ตัวท่านเองได้ – Webmaster@rojn-info.com)

สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์ต่างๆ มาเป็นเวลาพอสมควร นอกจากการศึกษาหาความรู้ในศาสตร์นั้นๆ แล้ว ย่อมจะเคยได้ยินได้ฟังได้อ่านเรื่องราวข้อถกเถียงต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อถกเถียงในหลักวิชาระหว่างผู้ที่ศึกษาต่างสำนักต่างแนวทางกัน และระหว่างผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อในศาสตร์นั้นๆ ข้อถกเถียงอันหนึ่งที่คงเคยได้ยินกันมามาก เป็นเรื่องข้ออ้างที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อในเรื่องโหราศาสตร์โดยตรัสว่า “ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้” ขณะที่นักโหราศาสตร์ที่ยังศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็กล่าวอ้างว่า นั่นเป็นเพียงคำสอนของพระพุทธเจ้ากับคนเฉพาะกลุ่ม ซ้ำยังได้มีการอ้างเหตุการณ์ตอนหนึ่งว่ามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งไปอยู่ในป่า แล้วมีกลุ่มโจรไปสอบถามเรื่องฤกษ์ยามแล้วตอบไม่ได้ทำให้ถูกโจรเหล่านั้นทำ ร้าย เป็นเหตุให้ทรงสอนพระภิกษุเหล่านั้นให้เรียนรู้เรื่องโหราศาสตร์

แล้วเรื่องราวที่แท้จริงเป็นอย่างไร? ควรจะเชื่อฝ่ายไหน? เป็นไปได้หรือที่พระพุทธเจ้าจะทรงสอนคนต่างกลุ่มในเรื่องที่ต่างกันสุดขั้วยังกับที่ภาษาการเมืองสมัยนี้เรียกว่า “สองมาตรฐาน” หรือว่าในรายละเอียดจริงๆ ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน แต่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกเอาแต่ประเด็นที่ตนพอใจมาอ้างอิงโดยฉาบฉวย?

ในสมัยก่อน พระไตรปิฎกอันเป็นหลักฐานชั้นต้นทางพระพุทธศาสนาที่มีถึง 8 หมื่น 4 พันพระธรรมขันธ์ เป็นคัมภีร์ภาษาบาลีจำนวนมหาศาลที่ยากแก่การเข้าถึง แม้ต่อมาจะมีการแปลเป็นภาษาไทยตีพิมพ์เป็นเล่ม ก็ยังมีมากถึง 45 เล่ม ใครจะรักการอ่านขนาดไหนก็ยากจะเข้าถึงได้ จนกระทั่งย่างเข้าสู่ยุคไอซีทีนี้เองที่พระไตรปิฎกเริ่มมีวิวัฒนาการจากหนังสือลงมาสู่ CD-ROM โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ และเว็บไซต์ในที่สุด การจะสืบหาความจริงในเรื่องนี้จึงเป็นไปได้มากขึ้น โดยส่วนตัวแล้วอยากสรุปความเห็น ทาง Twitter สัก 1-2 tweet ก็แทบจะได้ แต่เพื่อให้ผู้สนใจทั่วไปสามารถพิจารณาในรายละเอียดได้ จึงขอนำข้อความจากพระไตรปิฎกที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้ชมกันก่อน ดังนี้ครับ

กรณีที่ ๑ “ประโยชน์คือฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้” (ถ้างั้นไม่ต้องเชื่อไม่ต้องเรียนเรื่องฤกษ์รวมถึงเรื่องโหราศาสตร์กันเลย???)

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ใน อรรถกถา นักขัตตชาดก เนื้อความจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๑๘. หรือแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ผมคัดลอกมาคือ http://84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270049 เรื่องราวฉบับสมบูรณ์มีดังนี้ครับ

อรรถกถา นักขัตตชาดก
ว่าด้วย ประโยชน์คือฤกษ์

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอาชีวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นกฺขตฺตํ ปฏิมาเนนฺตํ เป็นอาทิ.

ได้ยินว่า กุลบุตรชาวบ้านนอกผู้หนึ่ง ไปขอกุลธิดานางหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ให้แก่ลูกชายของตน นัดหมายวันกันว่า ในวันโน้น จักมารับเอาตัวไป. ครั้นถึงวันนัด จึงถามอาชีวก ผู้เข้าไปสู่ตระกูลของตน ว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ พวกผมจักทำมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ.

อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนผู้นี้ ครั้งแรกไม่ถามเราเลย บัดนี้ เลยวันไปแล้ว กลับมาถามเรา เอาเถิด จักต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง. จึงพูดว่า วันนี้ ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคล ในวันนี้เลย ถ้าขืนทำจักพินาศใหญ่.

พวกมนุษย์ในตระกูลพากันเชื่ออาชีวกนั้น ไม่ไปรับตัวในวันนั้น. ฝ่ายพวกชาวเมืองจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นพวกนั้นมา ก็กล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา แม้การงานของพวกเรา ก็ใกล้จะสำเร็จแล้ว เรื่องอะไรจักต้องไปคอยพวกนั้น จักยกธิดาของเราให้คนอื่นไป แล้วก็ยกธิดาให้แก่ตระกูลอื่นไป ด้วยการมงคลที่เตรียมไว้ นั้นแหละ.

ครั้นวันรุ่งขึ้น พวกที่ขอไว้ก็พากันมาถึง แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงส่งตัวเจ้าสาวให้พวกเราเถิด. ทันใดนั้น ชาวเมืองสาวัตถีก็พากันบริภาษพวกนั้นว่า พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่า เป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี เป็นคนลามก กำหนดวันไว้แล้ว ดูหมิ่นเสีย ไม่มาตามกำหนด เชิญกลับไปตามทางที่มากัน นั่นแหละ. พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นแล้ว.

พวกชาวบ้านนอกก็พากันทะเลาะกับชาวเมือง ครั้นไม่ได้เจ้าสาว ก็ต้องพากันไปตามทางที่มา นั่นเอง. เรื่องที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของมนุษย์เหล่านั้น ปรากฏว่ารู้กันทั่วไปในระหว่างภิกษุทั้งหลาย. และภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในธรรมสภา นั่งพูดกันว่า อาวุโสทั้งหลาย อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของตระกูลเสียแล้ว. พระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอกำลังสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว. ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกกระทำอันตรายงานมงคลของตระกูลนั้นเสีย แม้ในกาลก่อน ก็โกรธคนเหล่านั้น กระทำอันตรายงานมงคลเสียแล้ว เหมือนกัน แล้วทรงนำเอา เรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ชาวพระนครพากันไปสู่ขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้ว ถามอาชีวกผู้คุ้นเคยกันว่า พระคุณเจ้าผู้เจริญ วันนี้ ผมจะกระทำงานมงคลสักอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมขอรับ. อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้ กลับถามเรา คิดต่อไปว่า ในวันนี้ เราจักทำการขัดขวางงานของคนเหล่านั้นเสีย แล้วกล่าวว่า วันนี้ ฤกษ์ไม่ดี ถ้ากระทำการมงคลจักพากันถึงความพินาศใหญ่. คนเหล่านั้นพากันเชื่ออาชีวก จึงไม่ไปรับเจ้าสาว. ชาวชนบททราบว่า พวกนั้นไม่มา ก็พูดกันว่า พวกนั้นกำหนดวันไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจักต้องคอยคนเหล่านั้น แล้วก็ยกธิดาให้แก่คนอื่น.

รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมาขอรับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่า เป็นชาวเมือง แต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้ว แต่ไม่มารับเจ้าสาว เพราะพวกท่านไม่มา เราจึงยกให้คนอื่นไป.

ชาวเมืองกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกดู ได้ความว่า ฤกษ์ไม่ดีจึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด. ชาวชนบทแย้งว่า เพราะพวกท่านไม่มากัน พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว คราวนี้จักนำตัวเจ้าสาวที่ให้เขาไปแล้วมาอีกได้ อย่างไรเล่า?

เมื่อคนเหล่านั้นโต้เถียงกันไป โต้เถียงกันมา อยู่อย่างนี้ ก็พอดี มีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปชนบทด้วยกิจการบางอย่าง ได้ยินชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า พวกเราถามอาชีวกแล้ว จึงไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ก็พูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้ว มิใช่หรือ? ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ ความว่า :-

“ ประโยชน์ผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลาย จักทำอะไรได้ ” ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิมาเนนฺตํ ความว่า ผู้คอยดูอยู่ อธิบายว่า มัวรอคอยอยู่ว่า ฤกษ์จะมีในบัดนี้ จักมีในบัดนี้.

บทว่า อตฺโถ พาลํ อุปจฺจคา ความว่า ประโยชน์ กล่าวคือการได้เจ้าสาว ผ่านพ้นคนโง่ผู้เป็นชาวเมืองนี้.

บทว่า อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ ความว่า บุคคลเที่ยวแสวงหาประโยชน์ใด ประโยชน์ที่เขาได้แล้วนั่นแหละ ชื่อว่าเป็นฤกษ์ของประโยชน์.

บทว่า กึ กริสฺสนฺติ ตารกา ความว่า ก็ดวงดาวทั้งหลายในอากาศนอกจากนี้ จักยังประโยชน์เช่นไรให้สำเร็จได้.

พวกชาวเมืองทะเลาะกับพวกนั้นแล้ว ก็ไม่ได้เจ้าสาวอยู่นั่นเอง เลยพากันไป.

แม้พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่อาชีวกนั้นทำการขัดขวางงานมงคลของตระกูลนั้น ถึงในครั้งก่อน ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน.

ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า

อาชีวกในครั้งนั้น ได้มาเป็นอาชีวกในครั้งนี้

แม้ตระกูลทั้งนั้นในครั้งนั้น ก็ได้มาเป็นตระกูลในครั้งนี้

ส่วนบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ผู้ยืนกล่าวคาถา ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

ความเห็นส่วนตัวของผม ไม่ทราบว่าพอจะคุ้นๆ กับเรื่องพรรค์นี้บ้างไหมครับ ไม่ว่าวงการโหรหรือวงการอะไรในยุคสมัยไหน ย่อมมีคนประเภทอาชีวก (นักบวชนอกศาสนา) อย่างในเรื่อง คือเห็นใครเขากำลังจะได้ประโยชน์อะไรโดยไม่ผ่านฉันหรือฉันไม่ได้อะไรด้วยแล้วเป็นยอมไม่ได้ ต้องหาทางเข้ามาสอดแทรกขัดขวางอะไรมันซักอย่างโดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณธรรมหรือหลักวิชาอะไรทั้งนั้น จึงขอให้สังเกตว่าอาชีวกในกรณีนี้อ้างว่าฤกษ์แต่งงานเป็นฤกษ์ไม่ดีโดยไม่ได้ใช้หลักวิชาทางโหราศาสตร์ที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าใช้หลักวิชาทางโหราศาสตร์เต็มที่แล้วผลออกมาตรงกันข้าม หากให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมแต่ยังไม่หลุดพ้นจากทางโลกก็คงให้ความเห็นทำนองว่า ถ้าพวกท่านไปหานักโหราศาสตร์ตัวจริงที่เขารู้จริงและจริงใจไม่กั๊กแบบพวกอาชีวก และไปขอฤกษ์ซะก่อนจะดำเนินการก็คงไม่เกิดเรื่อง แต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคของเรานั้นท่านทรงหลุดพ้นจากเรื่องทางโลกแล้ว จึงไม่มีพระประสงค์ที่จะไปโปรโมทนักโหราศาสตร์รายใด และทรงหันมาสอนให้เอาประโยชน์ของสิ่งที่จะกระทำเป็นหลักดังเรื่องราวที่ยกมาข้างต้น

 

กรณีที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุเรียนเรื่องฤกษ์(และโหราศาสตร์)???

เรื่องราวที่กล่าวอ้างปรากฏอยู่ใน อารัญญกวัตร ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ หรือ แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ผมคัดลอกมา http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=07&A=4575&Z=4620 ปรากฏเรื่องราวดังนี้

อารัญญกวัตร

[๔๒๘] สมัยนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกันอยู่ในป่า พวกเธอไม่ตั้งน้ำฉัน ไม่ตั้งน้ำใช้ไว้ ไม่ติดไฟไว้ ไม่เตรียมไม้สีไฟไว้ ไม่รู้ทางนักษัตร ไม่รู้ทิศาภาค พวกโจรพากันไปที่นั้น ได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มีน้ำดื่มหรือไม่

ภ. ไม่มี ท่านทั้งหลาย

จ. มีน้ำใช้หรือไม่

ภ. ไม่มี ท่านทั้งหลาย

จ. มีไฟหรือไม่

ภ. ไม่มี ท่านทั้งหลาย

จ. มีไม้สีไฟหรือไม่

ภ. ไม่มี ท่านทั้งหลาย

จ. วันนี้ประกอบด้วยฤกษ์อะไร

ภ. พวกเราไม่รู้เลย ท่านทั้งหลาย

จ. นี้ทิศอะไร

ภ. พวกเราไม่รู้เลย ท่านทั้งหลาย

ลำดับนั้น โจรเหล่านั้นคิดกันว่า พวกนี้น้ำดื่มก็ไม่มี น้ำใช้ก็ไม่มี ไฟก็ไม่มี ไม้สีไฟก็ไม่มี ทางนักษัตรก็ไม่รู้ ทิศาภาคก็ไม่รู้ พวกนี้เป็นโจร พวกนี้ไม่ใช่ภิกษุ จึงทุบตีแล้วหลีกไป จึงภิกษุเหล่านั้น แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติวัตรแก่พวกภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร โดยประการที่ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร พึงประพฤติเรียบร้อย ฯ

[๔๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่พึงสวมถุงบาตร คล้องบ่า พาดจีวรบนไหล่ สวมรองเท้า เก็บเครื่องไม้ เครื่องดิน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วออกจากเสนาสนะ กำหนดรู้ว่าจักเข้าบ้านเดี๋ยวนี้ พึงถอดรองเท้า เคาะต่ำๆ แล้วใส่ถุง คล้องบ่า เมื่อปกปิดมณฑลสาม พึงนุ่งให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ห่มผ้าซ้อน ๒ ชั้น กลัดลูกดุม ล้างบาตรแล้วถือเข้าบ้านโดยเรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน พึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน พึงสำรวมด้วยดีไปในละแวกบ้าน ... อย่าเดินกระหย่งไปในละแวกบ้าน เมื่อเข้าสู่นิเวศน์พึงกำหนดว่า จักเข้าทางนี้ จักออกทางนี้ อย่ารีบร้อนเข้าไป อย่ารีบร้อนออกมา อย่ายืนไกลนัก อย่ายืนใกล้นัก อย่ายืนนานนัก อย่ากลับเร็วนัก ยืนอยู่พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายภิกษา หรือไม่ประสงค์จะถวาย ถ้าเขาพักการงาน ลุกจากที่นั่ง จับทัพพี จับภาชนะ หรือตั้งไว้ พึงยืนอยู่ด้วยคิดว่า เขาประสงค์จะถวาย เมื่อเขาถวายภิกษา พึงแหวกผ้าซ้อนด้วยมือซ้าย พึงน้อมบาตรเข้าไปด้วยมือขวาพึงใช้มือทั้งสองประคองบาตรรับภิกษา และไม่พึงมองดูหน้าผู้ถวายภิกษา พึงกำหนดว่า เขาประสงค์จะถวายแกง หรือไม่ประสงค์จะถวาย ถ้าเขาจับทัพพี จับภาชนะหรือตั้งไว้ พึงยืนอยู่ด้วยคิดว่าเขาประสงค์จะถวาย เมื่อเขาถวายภิกษาแล้ว พึงคลุมบาตรด้วยผ้าซ้อนแล้วกลับโดยเรียบร้อย ไม่ต้องรีบร้อน พึงปกปิดกายด้วยดีไปในละแวกบ้าน ... ไม่พึงเดินกระหย่งไปในละแวกบ้าน ออกจากบ้านแล้ว เข้าถุงบาตร คล้องบ่า พับจีวร วางบนศีรษะ สวมรองเท้าเดินไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร พึงตั้งน้ำฉัน พึงตั้งน้ำใช้ พึงติดไฟไว้ พึงเตรียมไม้สีไฟไว้พึงเตรียมไม้เท้าไว้ พึงเรียนทางนักษัตรทั้งสิ้น หรือบางส่วนไว้ พึงเป็นผู้ฉลาดในทิศ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นวัตรของภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ซึ่งภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร พึงประพฤติเรียบร้อย ฯ

ความเห็นส่วนตัวของผม แทบไม่ต้องวิเคราะห์อะไรให้ลึกซึ้งมากมายก็บอกได้ทันทีว่า นี่เป็นการสอนสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ และปัญหาที่เหล่าพระภิกษุในเรื่องถูกติเตียนนั้นก็มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน กล่าวคือเมื่ออยู่ใน “ป่า” ที่ยังมีคนอาศัยอยู่ จะเรียกคนพวกนี้ว่า “ชาวบ้าน” “ชาวป่า” หรือ “โจร” ก็ตาม การที่พระภิกษุไปอยู่ท่ามกลางคนพวกนี้ก็ยังต้องอาศัยความรู้ทั้งในเรื่องของกิริยามารยาทต่างๆ รวมถึงความรู้ที่จะพึ่งตนเองและอยู่กับเขาคุยกับเขาได้โดยไม่ขายหน้าครับ คำสอนที่กล่าวแต่เพียงย่อๆ ว่า “พึงเรียนทางนักษัตรทั้งสิ้น หรือบางส่วนไว้” ไม่น่าจะหมายความถึงการเรียนโหราศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาคคำนวณ ภาคพยากรณ์ หรือภาคพิธีกรรมการหาฤกษ์ยามใดๆ ทั้งสิ้น  ในอีกเว็บหนึ่ง (ขออภัย ลืมจด URL มาให้ดู พอจะกลับไปหาอีกทีก็ไม่เจอซะแล้ว) เขาทำวงเล็บอธิบายไว้ข้างหลังด้วยว่า “(ดูดาวให้เป็น)” ทั้งนี้ในทางดาราศาสตร์เขาทราบกันดีว่าคนสมัยก่อนซึ่งยังไม่มีทั้งเข็มทิศและนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านชาวป่าชาวเรือนั้นเขาอาศัยการดูดาวเพื่อให้รู้ทั้งทิศทางและเวลาครับ ไม่งั้นอาจจะโดนเขาหลอกพาไปหลงทางที่ไหนได้ การจะเอา อารัญญกวัตร มาเป็นข้ออ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระภิกษุเรียนโหราศาสตร์จึงเป็นอันตกไปครับ

 

กรณีที่ ๓ พระสมณโคดมเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด

อันนี้ยังไม่เคยมีใครหยิบมาประณามโหราศาสตร์ แต่ในเมื่อผมบังเอิญค้นเจอเข้าก็ขอนำมาประกอบไว้ด้วย ปรากฏอยู่ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หรือแหล่งข้อมูลออนไลน์ http://84000.org/tipitaka/read/?9/19-25 กล่าวไว้ดังนี้ครับ

มหาศีล

ติรัจฉานวิชา

[๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต พึงกล่าวเช่นนี้ว่า-

๑. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา ๑- เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ๒- ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมลงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทางเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์.

[๒๐] ๒. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ

๑. หมายเอาวิชาที่ขวางทางสวรรค์ทางนิพพาน ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ธรรมปฏิบัติ.

๒. คือสิ่งที่ตกจากเบื้องบน เช่นอสนีบาตเป็นต้น.ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค.

[๒๑] ๓. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออกพระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิดพระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัยพระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาพระองค์นี้จักมีชัย พระราชาพระองค์นี้จักปราชัยเพราะเหตุนี้ๆ.

[๒๒] ๔. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทร-คราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาต จักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้.

[๒๓] ๕. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนนคำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ ๑-

[๒๔] ๖. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียงเป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ.

[๒๕] ๗. พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาเห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัดรักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต จะพึงกล่าวด้วยประการใด ซึ่งมีประมาณน้อย ยังต่ำนัก เป็นเพียงศีลนั้นเท่านี้แล.

ความเห็นส่วนตัวของผม คงต้องเริ่มจากการตีความคำว่า “ติรัจฉานวิชา” ล่ะครับว่ามันหมายถึงอะไรแน่ มันเป็นวิชาที่ต่ำช้าเลวทรามเหมือนสัตว์เดรัจฉานกระนั้นหรือ คำว่า “ติรัจฉาน” หรือที่แผลงมาเป็น “เดรัจฉาน” นั้น เท่าที่พอค้นได้ตามรากศัพท์เดิมจริงๆ มันแปลว่า “ขวาง” ครับ การที่สัตว์ชนิดอื่นนอกจากมนุษย์ถูกเรียกว่า “เดรัจฉาน” ก็เพราะว่าร่างกายหรือลำตัวของพวกมันนั้น “ขวาง” หรือขนานกับพื้นดินครับ วิชาหรือศาสตร์ที่ถูกเรียกว่า “ติรัจฉานวิชา” หรือ “เดรัจฉานวิชา” นั้น ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องของการประณามว่าต่ำช้าเลวทรามอะไรนักหนา เพียงแต่ว่าถ้าเราไปยึดติดกับวิชาหรือศาสตร์เหล่านี้มากเกินไปแล้ว ย่อมกลายเป็นอุปสรรคหรือการ “ขวาง” ต่อการเข้าถึงธรรมะระดับสูงได้ ซึ่งในข้อความที่คัดมาเขาก็มีเชิงอรรถอธิบายไว้ทำนองนี้อยู่ และตามข้อความที่ยกมา พระองค์ยังได้ทรงกล่าวถึงวิชาการอีกหลายอย่างที่เป็น “ติรัจฉานวิชา” ด้วย

แล้วโหราศาสตร์นั้นมัน “ขวาง” การเข้าถึงหลักธรรมได้อย่างไร ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ทายแม่นไม่แม่นประการใด มีผู้รู้โหราศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่าเมื่อเราได้หลักการที่ถูก ความแม่นยำก็เกิดขึ้นเอง ปัญหาคือไม่ว่าเราจะรู้โหราศาสตร์หรือศาสตร์ใดๆ มากน้อยแค่ไหน เรามักติดนิสัยเอาความ “อยาก” ของตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามเอาหลักวิชามาสนับสนุน แทนที่จะพยากรณ์อะไร “จากเหตุไปหาผล” กลายเป็นจาก “อยากได้ผลอะไรก็พยายามหาเรื่องมาใส่ให้เป็นเหตุ” ดังเช่นในยุคนี้พวกที่หมกมุ่นการเมืองแบบ “เลือกข้าง” ก็มักจะออกมาพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุทางการเมืองโดยอ้างหลักวิชาอย่างนั้นอย่างนี้ ทายจบไปซักพักก็ได้แต่เงียบกันไปเพราะมันไม่ได้เกิดอะไรอย่างนั้นเลย หรือพวกที่เอาโหราศาสตร์มาเก็งหวยเล่นหุ้นทั้งหลาย มีกี่รายที่ประสบความสำเร็จจริง ลองดูบรรดาผู้ต้องการคำพยากรณ์โชคชะตาทั้งหลายดูบ้าง มีแต่กระทู้ถาม “อยากได้-อยากมี-อยากเป็น” แทบจะทั้งนั้น เมื่อเป็นซะอย่างนี้แล้วจะเอาอะไรไปบรรลุธรรมระดับสูงของพระพุทธองค์ท่านล่ะครับ

กลับมาฟันธงตรงประเด็นกับคำถามที่ตั้งเป็นชื่อบทความนี้ว่า “พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนหรือคัดค้านโหราศาสตร์แค่ไหนและอย่างไร?” คำตอบคือมิได้ทรงสนับสนุนเลยครับ เพราะว่าทรงประกาศศาสนาขึ้นมาเพื่อการหลุดพ้นของสัตว์โลกทั้งปวงเลยครับ ถ้าถามต่อไปว่าหากเราพุทธศาสนิกชนจะยังคงฝืนที่จะศึกษาวิชาโหราศาสตร์และขอคำพยากรณ์กันต่อไปจะเป็นความผิดสถานใดมากน้อยแค่ไหน เท่าที่ผมคัดลอกมาให้ศึกษากันทั้งสามกรณีนี้ดูเหมือนจะไม่ปรากฏชัด ทั้งนี้ของพระภิกษุนั้น น่าที่จะอยู่ห่างจากวิชานี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนฆราวาสหรือชาวบ้านทั่วไปนั้น หากจะอ้างว่าบุญบารมียังยากจะละทางโลกไปหาพระนิพพานได้จริงๆ แล้ว ทำอย่างไรจะใช้โหราศาสตร์ได้โดยไม่ขัดต่อหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาล่ะครับ คำตอบที่อาจจะกำปั้นทุบดินหน่อยคือก็ต้องศึกษาโหราศาสตร์ควบคู่ไปกับพุทธศาสตร์นั่นแหละครับ โดยหลักพุทธศาสตร์จะต้องเป็นตัวนำ ผู้ศึกษาโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์ทั้งหลายจะต้องลดละเลิกการพยากรณ์ใดๆ ก็ตามที่จะนำไปสู่การกระทำที่ขัดต่อหลักการทางพุทธศาสนาตั้งแต่หลักศีล ๕ ไปจนถึงหลักการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์ จะต้องมีแต่การพยากรณ์ที่ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง และปราศจากวิธีการที่ขัดศีลธรรม ซึ่งจะว่าไปแล้ว โหรรุ่นเก่าๆ ตลอดจนถึงคนรุ่นหลังที่ยังมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงท่านก็ยึดถือปฏิบัติเช่นนี้ด้วยดีอยู่แล้ว หลายท่านเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ละวางโหราศาสตร์ไปสู่พระศาสนาเพียงอย่างเดียวก็มีให้เห็นหลายราย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะไม่สนับสนุนโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์ทั้งปวง แต่หลักธรรมที่พระองค์ท่านประทานไว้นั้น จะนำมาใช้ดับทุกข์แก่สัตว์โลกแต่เพียงศาสตร์เดียวก็ได้ จะนำโหราศาสตร์มาช่วยขยายความให้เห็นเหตุแห่งทุกข์และความเป็นอนิจจังแห่งชีวิตก็ได้ หลักธรรมอีกหลายประการของพระองค์ท่านแม้มิได้มีผลโดยตรงที่จะทำให้การพยากรณ์แม่นยำขึ้นมาได้ แต่การมีศีลงามมีสมาธิมั่นคงย่อมมีส่วนช่วยให้เกิดปัญญาต่อการพยากรณ์ได้ไม่น้อย รวมถึงการเป็นผู้มีบุคลิกน่าเชื่อถือ ย้ำอีกครั้งเป็นการส่งท้ายว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนับสนุนวิชาโหราศาสตร์หรอกครับ แต่หลักธรรมของพระองค์สามารถสนับสนุนให้เราใช้โหราศาสตร์ได้อย่างถูกทางและไม่ติดหลงกับมันจนกลายเป็นสิ่งขัดขวางต่อการยกระดับชีวิตจิตใจของเราได้




โหรา-เบ็ดเตล็ด

ประวัติอาจารย์จรัญ พิกุล วันที่ 28/02/2011   22:34:07
Album สัญลักษณ์ 12 ราศี ชุดที่ 2 วันที่ 27/07/2009   08:52:18 article
Album สัญลักษณ์ 12 ราศี ชุดที่ 1 วันที่ 27/07/2009   08:51:59
Album จานคำนวณต่างๆ ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน วันที่ 05/10/2008   15:07:03
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อ "เดือน" ของไทย (www.iseehistory.com) วันที่ 23/05/2008   18:38:05
เวลามาตรฐาน วันที่ 27/07/2009   08:50:25 article
ผูกดวง ออนไลน์ (เฉพาะผู้รู้ โหราศาสตร์สากล/ยูเรเนียน เท่านั้น) วันที่ 04/10/2012   13:42:05
Download PDF เอกสารอาจารย์ จรัญ พิกุล วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
Download PDF ปฏิทิน โหราศาสตร์ยูเรเนียน 2544-2553 วันที่ 14/04/2017   12:16:30 article
คำไว้อาลัยของสมาคมโหรฯ ต่อการเสียชีวิตของ อาจารย์ มานิตย์ ธีระเวชชโรกุล วันที่ 28/01/2010   11:51:10 article
อาจารย์ มานิตย์ ที่ผมรู้จัก วันที่ 23/11/2015   09:38:23 article
พิกัดภูมิศาสตร์ จังหวัด และ อำเภอ/กิ่งอำเภอ ทั่วประเทศไทย วันที่ 19/10/2011   14:50:01
สรุป โพลล์ โหราศาสตร์ สำคัญกับชีวิตอย่างไร? วันที่ 27/07/2009   08:47:00 article
จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน (มรดกวรรณกรรม ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) วันที่ 00/00/0000   00:00:00 article
วันนี้ในอดีต วันที่ 27/07/2009   08:46:25 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| โหรา-ประวัติศาสตร์ | โหรา-ไอที | หลักโหรโดนใจ | บทความสมทบ | โหรา-โปรแกรม | ผู้จัดทำ/ผู้สนับสนุน | Site Map |

Custom Search


ติดต่อนายโรจน์ E-mail: webmaster@rojn-info.com
หรือ Mobile: 08-1697-3098
(อาจไม่สะดวกรับสายในบางเวลา)
ยังไม่เปิดสอนและไม่รับพยากรณ์เป็นส่วนตัว
กรุณาอย่าใช้โทรศัพท์หรือส่งอีเมล์มาขอดูดวง เพราะไม่มีเวลาตอบ



มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ โหราศาสตร์แนว อ.จรัญ พิกุล - AstroClassical.com HoraUranian.com ดูดวง
โหราศาสตร์กับเครื่องประดับ บ้านฮวงจุ้ย (fengshuihut.com) ตลาดวิชาฮวงจุ้ยและดวงจีน ผูกดวง/ยูเรเนียนออนไลน์ (MyHora.com)

รวมลิงค์ : เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
eXTReMe Tracker