(เผยแพร่ครั้งแรกที่ rojn.blogth.com)
เมื่อเราได้เปิดเว็บไซต์ขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเว็บที่ต้องเสียค่าโฮสติ้งและโดเมนเนม หรือเว็บไซต์ฟรี รวมถึงการเขียน Blog ที่กำลังฮิตอยู่นี้ แล้วไม่ทราบว่ามีใครเข้ามาดูเป็นจำนวนเท่าไหร่ คงเป็นเรื่องอึดอัดพิลึก
การจะวัดสถิติผู้ชมนั้น จะต้องมีการใส่ตัววัดสถิติหรือ Counter ไว้ที่หน้าเว็บทุกๆ หน้าที่เราต้องการ อาจทำได้ทั้งโดยการเขียน Code ขึ้นมาเอง (ซึ่งมักทำได้แค่นับจำนวนเท่านั้น) หรือในเว็บสำเร็จรูปอาจมีให้เราเรียบร้อยแล้ว และอีกทางเลือกคือไปสมัครขอโค้ดสำหรับวัดสถิติจากเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านนี้
เดือนแรกๆ ที่มาเขียน Blog อยู่ที่นี่ก็มืดแปดด้านว่าเขียนๆ ไปแล้วมีใครมาอ่านอะไรแค่ไหน ทั้งที่เว็บหลัก www.rojn-info.com และเว็บรอง www.rojn-info.biz ก็ได้ติดตัววัดสถิติเรียบร้อยมาเป็นปีแล้วก่อนจะมาคิดเขียน Blog นี้ด้วยซ้ำ แต่ความที่ยังใหม่กับการทำ Blog กลัวติด Code แล้วจะมีปัญหากับ Blog หนักๆ เข้าทนไม่ไหว ก็ลองเสี่ยงติด Code ดูบ้าง ก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไร
เว็บที่ให้บริการตัววัดสถิตินั้น มีอยู่มากมายทั้งของไทยและเทศ ของไทยที่นิยมกันมากที่สุด (แม้ว่าตอนหลังจะได้เปลี่ยนนโยบายจากบริการฟรีมาเป็นการเก็บเงินแล้ว) คือ โครงการของสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) ที่เรียกกันว่า ทรูฮิต ( http://truehits.net/ ) ซึ่งนอกจากจะบอกว่าเว็บไซต์ของเรามีผู้เข้าชมจำนวนเท่าใหร่ เป็นใคร มาจากไหน ฯลฯ แล้ว ยังมีการจัดอันดับด้วยว่า บรรดาเว็บไซต์ที่ใช้บริการนี้ อยู่ในอันดับที่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับเว็บไซต์อื่นๆ
ความที่มีการเปรียบเทียบอันดับ กับกติกาที่ว่าเว็บที่ใช้บริการต้องไม่ใช่เว็บต้องห้าม โดยเฉพาะเรื่องภาพโป๊ ทำให้บริการของทรูฮิตถูกวิพากษ์วิจารณ์สารพัด โดยเฉพาะในเว็บบอร์ดของทรูฮิตเอง แต่สำหรับตัวผมเองที่ไม่ได้ทำเว็บโป๊นั้น ปัญหาจะอยู่ที่รายงานสถิติที่ตัดช่วงเวลาเป็นวันเป็นเดือนเป็นปี โดยเฉพาะเมื่อขึ้นเดือนใหม่ เราจะไม่เห็นว่าวันที่หนึ่งของเดือนนี้มันมากน้อยกว่าวันสุดท้ายของเดือนที่แล้วอย่างไร นอกจากจะยอมเสียเวลาคลิกกลับไปกลับมาสองสามตลบ
ตัววัดอันที่สองที่ผมใช้ควบคู่กับทรูฮิตในเว็บหลัก และใช้ในเว็บที่สอง และใน Blog นี้โดยลำพัง คือ Extremetracking ( http://www.extremetracking.com/ ) ซึ่งจะสามารถบอกสถิติและรายละเอียดต่างๆ ของผู้เข้าชมเว็บอย่างละเอียดถี่ถ้วน แม้จะมีข้อจำกัดในระบบ 20 คือ จะบอกแต่เพียง ผู้เข้าชม 20 รายล่าสุด จำนวนคนในรอบ 20 วัน ล่าสุด 20 สัปดาห์ล่าสุด และ 20 เดือนล่าสุด แต่ก็ค่อนข้างจะเพียงพอ รวมถึงค่าอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยระบบ 20 คือ เริ่มตั้งแต่เราติดโค้ดวัดสถิติของเขา เช่น ค่าเฉลี่ยผู้ชมตั้งแต่แรก คำสืบค้นที่ใช้ เปอร์เซนต์ของผู้เข้าชมในลักษณะต่างๆ ฯลฯ
(ตัววัดสถิติจากแหล่งอื่นอาจจะ "ดี" หรือ เหมาะกับความต้องการของท่านมากกว่านี้ก็ได้นะครับ เพื่อประหยัดเวลาเลยขอพูดถึงแต่ตัวที่ใช้ประจำ)
นอกจากจะบอกว่ามีผู้เข้าชมมากน้อยแค่ไหนแล้ว ข้อมูลที่เจ้าของเว็บควรจะสนใจมากๆ คือ คำสืบค้นที่ผู้เยี่ยมชมเขาใช้ใน Search Engine (Google, Yahoo ฯลฯ) จนเข้ามาเจอเว็บเรา อย่างกรณีเว็บ www.rojn-info.biz ของผมนั้น บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ชมเข้ามาเพราะคำว่า "มาม่า" "ยำยำ" "ไวไว" ฯลฯ ถ้ามองในแง่ร้ายก็อาจจะว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเรา แต่ในอีกแง่หนึ่ง คนที่ตอนแรกค้นอะไรเปะปะแล้วมาเจอเว็บเราก็อาจกลายมาเป็นขาประจำได้เหมือนกัน อีกตัวอย่างก็เช่นที่ผมเปรยไว้ในบทความก่อนว่าเขียนเรื่อง ธุรกิจเครือข่ายที่เป็นสมาชิกอยู่ แล้วคนยอมรับแค่ไหน ข้อมูลจาก Extremetracking ช่วยให้ผมใจชี้นขึ้นเนื่องจากมีคนส่วนหนึ่งใช้ชื่อบริษัทค้นมาพบ Blog นี้เข้า จึงเท่ากับว่าตัววัดสถิติเหล่านี้ ช่วยให้เจ้าของเว็บ หรือเจ้าของ Blog เข้าใจได้ว่า มีผู้ชมตรงตามเป้าหมายหรือไม่ ควรเพิ่มหรือลดเนื้อหาด้านใดให้ตรงตามความต้องการของผู้เยี่ยมชมหรือไม่ และควรจะโปรโมทเว็บไซต์ต่อไปอย่างไร