
เมื่อแรกเริ่มเรียน โหราศาสตร์ยูเรเนียน ใหม่ๆ ได้รับทราบทั้งจากอาจารย์ผู้สอนและทางตำราต่างๆ ว่า โหราศาสตร์ยูเรเนียน ใช้มุมต่างจากโหราศาสตร์สากลเดิม โดยเน้นที่มุมเท่าของ 45 องศา อันได้แก่ 45, 90, 135, 180, 225, 270, 315 และ 360 หรือ 0 องศา รวม 8 มุมด้วยกัน แต่ก็มีการพูดถึงมุมอื่นๆ ที่ใช้กันแต่เดิมในโหราศาสตร์สากลบ้าง เช่น มุม 30, 60, 120, 72 และ 144 เป็นต้น รวมถึงมุม 22 องศาครึ่ง ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของมุม 45 องศานั้น
เท่าที่พอจะจำได้ อาจารย์ พลตรี ประยูร พลอารีย์ นั้น ใช้มุม 45 องศาเป็นหลัก พูดถึงมุมอื่นในทางทฤษฎีบ้าง และกล่าวถึงมุมอื่นในเชิงว่า ให้ศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ส่วนอาจารย์ จรัญ พิกุล ก็ใช้มุม 22 ครึ่ง และ 7 ครึ่ง (1 ใน 3 ของ 22 ครึ่ง) อยู่บ้างในช่วงหนึ่ง ช่วงท้ายๆ ชีวิตท่าน ผมไม่แน่ใจว่าท่านใช้มุมใดแค่ไหน
ต่อมา รู้สึกว่านักโหราศาสตร์ยูเรเนียนรุ่นหลังๆ จะเอาเป็นเอาตายกับมุมที่นอกเหนือจากมุมเท่าของ 45 องศา กันมากขึ้น สำนักหนึ่งที่ใช้จานคำนวณสองชั้นเป็นหลักเคยเล่นมุมยิบย่อนถึง 5 องศา 7 ลิบดาครึ่ง (ครึ่งของครึ่งของครึ่งมุม 22 องศาครึ่ง) แล้วมาระยะหลังมาใช้มุม 22 ครึ่งเป็นหลัก ควบคู่กับจานคำนวณ 22 องศาครึ่งแบบสองชั้น (ถ้าเข้าใจไม่ผิด) อีกสำนักหนึ่งก็เริ่มพูดถึงมุม 72 องศามากขึ้น
ซึ่งถ้าหากเป็นการศึกษาทดลองตามสปิริตทาง วิชาการ ก็ถือว่าต่างคนต่างใจจะใช้ไม่ใช้ก็แล้วแต่ถนัด แต่บางครั้งการพูดย้ำไปย้ำมาของบางสำนักหรือบางคนโดยไม่มีผลงานสนับสนุนที่ ชัดเจน ทำให้บางทีอดที่จะอคติไม่ได้ว่าต้องการสร้างจุดขายอะไรของตัวเองหรือเปล่า?
ในฐานะคนทำโปรแกรมแล้ว เคยมีลูกค้ารายหนึ่งขอให้เพิ่มมุม 72 องศาลงในโปรแกรมด้วย นอกจากจะเจรจากันทางส่วนตัวแล้ว ช่วงนั้นมีกระทู้อะไรในเว็บพี่แกลากเข้าเรื่องมุม 72 องศาไปหมด จนในที่สุดก็ต้องเพิ่มลงในโปรแกรมให้ แล้วมาเมื่อสักอาทิตย์ก่อน ลูกค้าอีกคนหนึ่งก็จะมาขอให้ผมเพิ่มจานคำนวณ 22 องศาครึ่งลงในโปรแกรมที่จะออกเวอร์ชันใหม่อีก!
เรื่องที่มา ของมุมสารพัดมุมนั้น มีที่มาจากการแบ่งวงกลมออกเป็นสัดส่วนเท่าๆ กัน หรือที่เรียกว่า Harmonic เช่น มุม 45 คือ 8 ส่วนเท่าๆ กัน มุม 72 คือ 5 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งผู้รู้ท่านอื่นอาจอธิบายได้ดีกว่าผม เช่น บทความเรื่อง สัดส่วนสมบูรณ์กับการพยากรณ์ ที่ http://www.astroclassical.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=347220 ฯลฯ
ในทัศนะของผม โหราศาสตร์ยูเรเนียนมีรากฐานมาจากทฤษฎีการสะท้อน ดังที่เคยเขียนไว้ในเว็บหลัก เรื่อง "จุดสะท้อน : ต้นกำเนิด ศูนย์รังสี และ จุดอิทธิพล" (http://www.rojn-info.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=377357&Ntype=2) โดยภาพข้างบนก็เป็นภาพหนึ่งในภาพประกอบบทความนั้น หากเรายังให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานที่ว่า "มุมตกเท่ากับมุมสะท้อน" แล้ว มุมที่จะทำให้มุมทุกมุมที่เกิดขึ้นมีขนาดเท่ากันหมด ก็คือมุม 45 องศานั้นเอง ไม่ใช่มุมสองข้างของแกนสะท้อนลีบเล็กแล้วมุมบนพื้นระนาบใหญ่กว่าอย่างในภาพ แต่มุม 45 องศาจะทำให้มุมทั้งสี่ที่กล่าวเท่ากัน จนแม้กระทั่งจะลากเส้นเฉียงทั้งสองเส้นกับเส้นแกนสะท้อนลงมาข้างล่าง ก็จะเกิดเป็นมุม 8 มุมที่เท่ากัน
แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่อยากจะพูดถึงขนาดว่ามุมอื่นจะไม่สำคัญเลย ขอยืนยันตามที่เคยตอบบางกระทู้ที่ www.rojn-info.com ไปแล้วว่า มุมอื่นไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้าน แต่ควรใช้มุม 45 เป็นหลัก ใช้มุมอื่นประกอบได้บ้างเป็นเหมือน Option และควรดูเรื่องอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น ทฤษฎีเรือนชะตา ดวงทินวรรษ ฯลฯ
และที่สำคัญ ตัวผลงานการพยากรณ์จริง และการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปราศจากอคติ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าอะไรควรใช้ไม่ควรใช้ หรือใช้ได้แค่ไหน
(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://rojn.blogth.com/1364/ )