
วันนี้อาจจะเขียน ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะกำลังใจจดใจจ่อกับฟุตบอลโลกที่กำลังจะชิงชนะเลิศกันในอีกไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็ไม่อยากทิ้งช่วงการเขียน Blog หลายวันนัก พอดีเมื่อวานที่ www.rojn-info.com มีผู้ถามคำถามเกี่ยวกับดวงเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งผมเคยตอบคนอื่นไปแล้ว ก็ขอนำประเด็นหนึ่งที่ใช้ตอบคำถามเรื่องดังกล่าวมาบันทึกไว้ที่นี่สักนิด ดังนี้
เวลาของดวงคน หรือดวงเมือง หรือดวงอะไรก็แล้วแต่ พอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. วันเวลาที่ถูกต้องจริงแท้แน่นอนเป็นสัจจธรรม พูดตามแบบศาสนาที่เชื่อพระเจ้าก็ต้องบอกว่า "พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบ"
2. วันเวลาที่มีการจดบันทึกหรือบอกเล่า ซึ่งถ้าใกล้เคียงกับเวลาแบบแรกก็ดีไป ปัญหาคือ ไม่เที่ยงตรงแน่นอนเสมอไป เช่น หมอสูติกว่าจะนึกได้ว่าต้องจดเวลาก็ต่อเมื่อเสร็จเรื่องอื่นของท่านแล้ว พ่อแม่ไปแจ้งเกิดช้า คำบอกเล่าหรือบันทึกไม่ชัดเจน รู้แค่ "พระบิณฑบาต" หรือในกรณีดวงเมืองกรุงเทพฯ นี้คือ "รุ่งแล้วเก้าบาท" ฯลฯ
3. วันเวลาที่มีการตรวจสอบปรับแก้โดยนักโหราศาสตร์ ซึ่งความถูกต้องจะขึ้นอยู่กับหลักวิชาที่ใช้ ทักษะและประสบการณ์ของผู้ปรับแก้ ข้อมูลประกอบการปรับแก้มีความครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใด ฯลฯ
ตามข้อสามนี่จะยุ่ง ยากตรงที่โหราศาสตร์ก็มีหลายสายหลายแขนง นักโหราศาสตร์ไทยที่ดูแค่จักรราศีแบบที่เรียกว่า "ดวงอีแปะ" นักโหราศาสตร์ที่ดูถึงนวางค์ โหราศาสตร์กาลจัรกลัคน์จร โหราศาสตร์อินทภาษบาทจันทร์ โหราศาสตร์สิบลัคนา โหราศาสตร์ภารตะ โหราศาสตร์สากล โหราศาสตร์ยูเรเนียน ฯลฯ ต่างก็มีวิธีการปรับเวลาดวงชะตาแตกต่างกันไป
อีกประเด็นหนึ่ง ใน วงการโหราศาสตร์เคยมีข้อถกเถียงกันว่า แล้วเวลาเกิดของคนนั้น จะยึดถือตามอะไร เวลาออกจากครรภ์เป๊ เวลาเริ่มร้อง เวลาตัดสายสะดือ หรือเวลาอะไร หรืออย่างกรณีองค์กร สมาคมบริษัท หรือพรรคการเมือง ฯลฯ จะถือเอาเวลาที่จดทะเบียน หรือเวลาเริ่มทำการ หรือเวลาอะไรเป็นดวงขององค์กรนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ผมจะชี้แจงได้ในเวลานี้ คงต้องอาศัยการค้นคว้ากันอีกมาก
(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://rojn.blogth.com/957/ เมื่อ 9 ก.ค.2549)