โดย มานิตย์ ธีระเวชชกุล
1 กุมภาพันธ์ 2525
ลงใน พยากรณ์สาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 9 มีนาคม 2525 หน้า 37-42
หมายเหตุ
- ภายหลังผู้เขียนใช้นามสกุลว่า ธีระเวชชโรกุล โปรดดูประวัติผู้เขียนจากบทความเรื่อง คำไว้อาลัยของสมาคมโหรฯ ต่อการเสียชีวิตของ อาจารย์ มานิตย์ ธีระเวชชโรกุล และ อาจารย์ มานิตย์ ที่ผมรู้จัก
- สมผุสดาวและราศีที่ปรากฏในบทความเป็นสมผุสและราศีในระบบนิรายนะตัดอยนางศแบบลาหิรี
- ขออภัยหากข้อมูลในภาพที่สแกนไว้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
Webmaster@rojn-info.com
นักโหราศาสตร์ย่อมทราบว่าการดูดวงจร (Transits) ที่กระทบกับดวงชะตาเดิมนั้น ใช้หลักพิจารณาจากดาวที่มีอัตราการโคจรช้าที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก จนถึงดาวอาทิตย์และจันทร์ แล้วจึงมาพิจารณาถึงตำแหน่งของลัคนาและเมอริเดียนของดวงจร แต่เราได้ละเลยจุดอิทธิพลสำคัญไปอีกจุดหนึ่ง คือจุด "องคลาภ" (Part of Fortune) สาเหตุอาจเป็นเพราะการคำนวณจุดองคลาภมีความยุ่งยากมากกว่าการคำนวณสมผุสลัคนาขึ้นไปอีก แต่ความจริงจุดองคลาภได้มีประวัติการใช้มานานในแถบตะวันออกกลาง จนมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Arabian Points หรือ Arabian Parts ได้มีการสร้างจุดอิทธิพลขึ้นจากดวงดาวต่างๆ สัมพันธ์กับเรือนชะตาและยังได้ซอยออกไปเป็นจุดอิทธิพลต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากอย่างพิศดาร ผู้สนใจหาอ่านได้จากหนังสือ Encyclopedia of Astrology ของ Nicholas de Vou หน้า 10-16
ความยุ่งยากซึ่งเป็นอุปสรรคของการใช้จุดองคลาภก็คือจะต้องเล่นดวงแบบสมผุสและต้องมีสมผุสของลัคนาที่แม่นยำจึงจะใช้ได้ผล โดยเฉพาะการคำนวณสมผุสลัคนาเท่าที่เคยปฏิบัติกันมานั้น ท่านนักโหราศาสตร์ทุกท่านย่อมจะต้องยอมรับว่ามีขั้นตอนมากมาย กว่าจะได้สมผุสลัคนาออกมาแต่ละครั้งก็พอดีเบื่อ ผมจึงได้สร้างหนังสือ "ลัคนา 314 ปี กรุงเทพมหานครขึ้นเพื่อลดภาระอันหนักหน่วงนี้ ให้มีขีดความสามารถที่จะวางลัคนาถึงช่วง 5 วินาทีตามแบบสังคมไทยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องที่สุด
จุดองคลาภเป็นจุดอิทธิพลที่สร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ของสมผุสลัคนากับอาทิตย์และจันทร์ มีสูตรการคำนวณ คือ
องคลาภ = ลัคนา + จันทร์ - อาทิตย์
จากสูตรนี้จะเห็นได้ว่า องคลาภมีอัตราของการโคจรเร็วกว่าลัคนาเล็กน้อย และที่ผมกล่าวว่าองคลาภเป็นจุดอิทธิพลที่สำคัญเพราะ
- ในดวงอมาวสี จุดองคลาภจะกุมลัคนา หรือเป็นจุดเดียวกับลัคนา
- ในดวงปูรณมี จุดองคลาภจะทำมุม 180 ํ กับลัคนา หรือเล็งตรงข้ามกับลัคนา
- ในดวงกึ่งเพ็ญและกึ่งดับ จุดองคลาภจะทำมุมตั้งฉากเป็นจตุโกณกับลัคนา
จากที่กล่าวมานี้ ท่านที่ใช้ดวงอมาวสีและดวงปูรณมีเป็นหลักในการพยากรณ์ ก็คงจะมองเห็นถึงความสำคัญของจุดอิทธิพลนี้ แต่ที่เราได้พากันละทิ้งไม่ได้ให้ความสนใจกันมานานก็เพราะอุปสรรคของการคำนวณดังกล่าว
เหตุการณ์สะเทือนใจที่นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวไทยครั้งหนึ่ง คือการระเบิดที่โรงงานผลิตจรวดของกรมสรรพาวุธทหารบก สะพานแดง บางซื่อ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2523 เวลาประมาณ 10.25 น. เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 29 คน บาดเจ็บ 351 คน (สถิติจากสยามจดหมายเหตุ ปีที่ 5 หน้า 1289) แรงระเบิดได้สั่นสะเทือนไปในระยะทางไกลหลายกิโลเมตร สร้างความสูญเสียมูลค่าประมาณมิได้
อุบัติเหตุคราวนั้น ผมจะขอเริ่มตั้งแต่ อาทิตย์ได้ยกเข้าสู่ราศีพิจิก ภาพมรณะของลัคนาเมือง ตั้งแต่เวลา 02.15.54 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน และเมื่อเวลา 06.00 น. สมผุสลัคนาของกทม.อยู่ที่ตำแหน่ง 13 ํ 46' 18" ราศีมีน (ใช้เป็นจุดลัคนารายวันสำหรับคำนวณหาสมผุสลัคนาได้ทั้งวันจากตารางลัคนารายชั่วโมง ที่ผมได้สร้างขึ้น ซึ่งมีอยู่ในฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2525)
เวลา 10.01.30 น. เมอริเดียนหรือจุดศูนย์กลางของภพที่ 10 ทับดาวพลูโต เป็นเวลาที่ดาวพลูโตอยู่เหนือศีรษะพอดี มีสมผุส กย 29 ํ 21' ตำแหน่งลัคนา ธนู 20 ํ 32' องคลาภ 26 ํ 26' และหลังจากนี้ไป เมอริเดียนจะเคลื่อนเข้าสู่ราศีตุลย์เข้าเล็งอาทิตย์กับลัคนาของดวงเมือง
เวลา 10.15.50 น. จุดองคลาภเคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ สมผุสลัคนา ธนู 23 ํ 59' เมอริเดียน ตล 03 ํ 09' ณ จุดนี้จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นของเวลาสำหรับการวิเคราะห์
เวลา 10.17.06 น. องคลาภ มษ 00 ํ 20' ทำมุม 210 ํ เป็นแปดกับอาทิตย์จร ที่ พจ 00 ํ 20' ลัคนา ธน 24 ํ 18' เมอริเดียน ตล 03 ํ 29'
เวลา 10.18.23 น. องคลาภ มษ 00 ํ 39' ทำมุมเท่ากับศูนย์รังสีของ อังคาร/พลูโต ลัคนา ธน 24 ํ 36ง เมอริเดียน ตล 03 ํ 49'
เวลา 10.20.47 น. องคลาภ มษ 01 ํ 15' ทำมุม 210 ํ เป็นแปดกับศูนย์รังสีของอาทิตย์/มฤตยู (มฤตยูกำลังเข้าสู่จุดดับ) ลัคนา ธน 25 ํ 11' เมอริเดียน ตล 04 ํ 27' และในช่วงเวลานี้เอง เมอริเดียน ได้ทำมุมกับศูนย์รังสีอีกชุดหนึ่งคือเข้าทับศูนย์รังสี พุธ/ศุกร์ ตล 04 ํ 08' และทำมุมตั้งฉากกับศูนย์รังสี จันทร์/อังคาร มก 04 ํ 11' และยังทำมุม 330 ํ เป็นสิบสองกับศูนย์รังสี พุธ/เนปจูน และในขณะเดียวกัน ลัคนาได้ทำมุม 240 ํ ซึ่งเป็นมุมตรีโกณกับลัคนาของดวงเมืองสนิทองศากันพอดี
ช่วงตั้งแต่ 10.18.23 น. ถึง 10.20.47 น. จึงเป็นช่วงที่มีวิกฤตการณ์รุนแรงที่สุด
เวลา 10.21.35 น. องคลาภ มษ 01 ํ 27' ลัคนา ธน 25 ํ 23' เมอริเดียน ตล 04 ํ 40'
เวลา 10.24.23 น. องคลาภ มษ 02 ํ 10' ทำมุม 210 ํ เป็นแปดกับมฤตยู พจ 02 ํ 10' ลัคนา ธน 26 ํ 04' เมอริเดียน ตล 05 ํ 24' ทับศูนย์รังสี อาทิตย์/พฤหัส ตล 05 ํ 12' และศูนย์รังสีพุธ/พลูโต ตล 05 ํ 27' และหลังจากนี้ไป เมอริเดียนก็เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์รงสี พฤหัส/มฤตยู ตล 06 ํ 07' และศูนย์รังสีเสาร์/มฤตยู ตล 07 ํ 30'
เวลา 10.27.20 น. องคลาภ มษ 02 ํ 54' ราศีเมษ ทำมุมตรีโกณกับศูนย์รังสีจันทร์/พลูโต ธน 02 ํ 54' ซึ่งกุมทับดาวอังคารเกือบสนิทองศา ธน 01 ํ 57' ลัคนาในขณะนี้ ธน 26 ํ 47' เมอริเดียน ตล
จากสถิติที่กล่าวมานี้พอจะเห็นได้ว่า ช่วงที่มีเหตุการณ์รุนแรงที่สุดจะตกอยู่ในห้วงเวลา 10.18.23 น. - 10.20.47 น. ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีการระเบิดรุนแรงที่สุด แต่ก็พอที่จะคาดหมายได้ว่าอุบัติเหตุได้เริ่มก่อตัวขึ้นในเวลา 10.00.30 น. คือเมื่อดาวพลูโตเข้าสู่จุดเมอริเดียน และเมอริเดียนได้เคลื่อนเข้าสู่ราศีตุลย์ แต่จุดเริ่มจุดชนวนจริงๆ คงจะเป็นเวลา 10.15.50 น. เมื่อองคลาภเคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ และจุดที่เป็นจุดอิทธิพลจริงๆ ของการระเบิดครั้งนี้คงจะเป็นนวางค์แรกของราศีพิจิก (พจ 00 ํ - 03 ํ 20') เพราะมฤตยูกำลังเข้าสู่จุดดับ และมีศูนย์รังสีของอังคาร/พลูโตปรากฏอยู่ด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่าจุดที่เป็นกลไกบังคับการระเบิดครั้งใหญ่นี้ได้มีปฏิกิริยาแบบลูกโซ่ต่อเนื่องกันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถก่อให้เกิดการระเบิดที่รุนแรงสั่นสะเทือนมีรัศมีไปไกลถึงหลายกิโลเมตร ระหว่างที่เกิดการระเบิดนั้น ควันดำได้ก่อตัวเป็นรูปดอกเห็ดสีดำขนาดใหญ่เหนือพื้นที่ๆ เกิดการระเบิด คล้ายกับการระเบิดของลูกระเบิดนิวเคลียร์ ต่างกันก็รงที่ว่าไม่มีกัมมันตภาพรังสีเท่านั้น จุดกลไกที่กล่าวถึงนี้คือ องคลาภ ลัคนา และเมอริเดียน
ทั้งองคลาภและเมอริเดียนมีตำแหน่งเล็งกันตรงข้ามมีเชิงมุมห่างจาก 180 ํ เพียง 3 องศา โดยมีเมอริเดียนเคลื่อนกรุยทางไปข้างหน้าในราศีตุลย์ ซึ่งเป็นภพที่ 12 ของจุดอิทธิพล คือ นวางค์แรกของราศีพิจิก ดัชนีก็คือจุดองคลาภในราศีเมษ ติดตามด้วยผู้ควบคุมทีมก็คือตัวลัคนาในราศีธนูซึ่งมีเชิงมุม 120 ํ ตรีโกณประชิดกับลัคนาเมืองในราศีเมษเข้าไปตามลำดับ พอได้องศากันก็เป็นช่วงเวลาวิกฤตซึ่งได้แก่เวลา 10.21 น. และหลังจากเวลา 10.25 น. ไปแล้ว เหตุร้ายก็ได้คลี่คลายลงเมื่อศูนย์รังสีของดาวพฤหัสเริ่มเข้ามามีบทบาทด้วย
สำหรับแนวโน้มหรือสิ่งบอกเหตุที่จะสามารถเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ได้มีสุริยุปราคาบางส่วนเกิดขึ้น ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2523 เวลา 02.10.25 น. มีตำแหน่งของจุดคราสที่ 24 ํ 41' 28" ราศีกรกฎตั้งฉากกับลัคนาดวงเมืองพอดี ระยะเวลาห่างจากวันเกิดเหตุ 97 วัน และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2524 เวลา 05.14.36 น. ก็มีสุริยุปราคาบางส่วนที่ตำแหน่ง 22 ํ 25' 59" ราศีมกร ระยะเวลาหลังวันเกิดเหตุ 81 วัน ซึ่งตำแหน่งของอุปราคาทั้งสองครั้งนี้อยู่ตรงข้ามกันโดยทำมุมตั้งฉากกับลัคนาของดวงเมือง จึงเป็นสาเหตุอันสำคัญให้เกิดการสูญเสียของชาติขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม จุดอิทธิพลสำคัญซึ่งได้แก่นวางศ์แรกของราศีพิจิกนี้ (พจ 00 ํ - 03 ํ 20') ก็ยังเป็นการสนับสนุนสมมติฐานเกี่ยวกับจุดคราสที่ตำแหน่ง 02 ํ 05' ราศีเมษ (ดูคำทำนาย 150 ปีของรัชกาลที่ 1 ในฉบับประจำเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2524) และจุดคราสที่หว้ากอ (03 ํ 27' ราศีสิงห์) ซึ่งเริ่มลงในพยากรณ์สารฉบับประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525
ต่อไปนี้ เป็นดวงสมผุสและศูนย์รังสีของปัจจัย เวลา 10.20.47 ของวันเกิดเหตุ
สาระสำคัญของบทความนี้มีความมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้ท่านนักโหราศาสตร์ทั้งหลายที่มีความแตกแยกกันในด้านแนวความคิดของปฏิทินระบบต่างๆ เพราะต่างก็มีหลักการเป็นไปตามแบบฉบับของตนเองย่อมจะต้องมีจุดเด่นของแต่ละสำนัก แต่สิ่งที่จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของปฏิทินฉบับนั้นๆได้ ย่อมขึ้นอยู่กับความแม่นยำของผลลัพธ์เป็นสำคัญ แต่ละฉบับอาจจะมีความแม่นยำในช่วงระยะเวลาต่างๆกัน อาจเป็นช่วงสั้นบ้างยาวบ้าง ตามขีดความสามารถของปฏิทินนั้นๆ ส่วนมากจึงต้องมีการปรับแก้ไขเมื่อครบเวลาตามกำหนด ซึ่งก็จะมีปัญหาติดตามมาคือไม่ต่อเนื่องกัน การสร้างปฏิทินให้ได้ผลครบถ้วนอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะการที่จะให้มีผลต่อเนื่องกันในระยะยาวเป็นร้อยๆปีหรือเป็นพันปี ในสมัยก่อนนั้นย่อมกระทำได้ทางเดียวคือคิดประมาณจากคาบการโคจรของดวงดาวต่างๆ ฉนั้นเมื่อย้อนถอยหลังไปนานเท่าไร ความผิดพลาดก็จะสะสมกันเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้เราไม่สามารถที่จะค้นหารายละเอียดของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ไกลเท่าที่ควร นอกจากหลักฐานบันทึกจากจดหมายเหตุต่างๆ ซึ่งก็เป็นคำบอกเล่าของบรรพบุรุษสืบต่อกันมาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำลายอุปสรรคสำคัญประการนี้ลงแล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถที่จะคำนวณตำแหน่งของดวงดาวทุกดวง พร้อมด้วยปัจจัยทางโหราศาสตร์ต่างๆได้อย่างถูกต้องและแม่นยำย้อนหลังหรือล่วงหน้าได้เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 พันปี โดยสามารถที่จะกำหนดสมรรถนะของความแม่นยำของช่วงเวลาของการคำนวณนั้นๆได้ เช่น ในช่วงเวลาย้อนหลังไป 1,700 ปี ความแม่นยำของสมผุสอาทิตย์ก็ยังสูงถึงช่วง 1 ลิบดา และถ้าย้อนหลังไปอีกถึง 2,100 ปี ความแม่นยำจะลดลงเหลือช่วง 2 ลิบดา เป็นต้น นอกจากนี้ ที่เป็นประการสำคัญคือสามารถที่จะคำนวณติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน ปัญหาการทบเศษจึงไม่มี แต่สิ่งที่จะสามารถยืนยันถึงความถูกต้องของปฏิทินนั้นๆได้ ก็คือการวิเคราะห์ผลจากเหตุการณ์สำคัญๆที่มีมาแล้วในอดีตและปัจจุบัน ณ จุดของเวลาที่มีเหตุได้อย่างถูกต้องเท่านั้น จึงจะสามารถนำมาประมวลเพื่อสร้างคำพยากรณ์ที่มีความแม่นยำของเหตุการณ์ในอนาคตได้
สวัสดี