ReadyPlanet.com
dot dot dot
dot
สำหรับสมาชิก
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
dot
dot
bulletหลักโหรโดนใจ
bulletหลักโหร-ศิวเมษ
bulletโหรา-ประวัติศาสตร์
bulletโหรา-ไอที
bulletโหรา-โปรแกรม
bulletDemo/Freeware
bulletโปรแกรม Virgo07
bulletDelphi กับ Swiss Ephemeris
bulletผูกดวงออนไลน์กับ Astrotheme.com
bulletพิกัดภูมิศาสตร์ ประเทศไทย
bulletwebboard ผลัดกันเขียนเวียนกันอ่าน
dot
dot
bulletกำพล ภาระโภชน์ (Astroman) - ยูเรเนียน
bulletโรงเรียนโหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน
bulletอดิเทพ ศรีรัตนไพฑูรย์ - ยูเรเนียน
bulletอาคม ชูจันทร์ - ยูเรเนียน, ลายมือ
bulletชาญชัย เดชะเสฏฐดี (ผู้ร่วมเขียนบทความ)
bulletอาจารย์ ธนกร ตันติถาวร - ยูเรเนียน
dot
dot
bulletประวัติ
bulletการติดต่อ
bulletภาพยนตร์ประวัติศาสตร์
bulletRojnChin's Channel (YouTube)
bulletRojnChin's Blog
bulletร้านค้าออนไลน์
dot
dot
bulletโรงเรียน โหราศาสตร์ ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน
bulletAstro.com
bulletพยากรณ์ดอทคอม
bulletมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยฯ
bulletโหราศาสตร์แนวอาจารย์จรัญ พิกุล
bulletโหรายูเรเนียนดอทคอม
bulletบ้านฮวงจุ้ย
bulletวารสารโหราเวสม์
bulletUranianSoft.com
bulletดูดวงกับ GooSiam.com
bulletMyHora.com: ดูดวงยูเรเนียนออนไลน์
bulletAstro-Seek.com: Full Moons & New Moons
bulletAstro-Seek.com: Aspect Search Engine
bulletLatitude&Longitude เมืองต่างๆ ทั่วโลก
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC
bulletรวม Link เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
bulletแผนผังเว็บไซต์ (Site Map)






ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์


CURRENT MOON


dot
พยากรณ์อากาศจากดวงดาว โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ article
วันที่ 28/04/2011   20:38:49

(ลงใน พยากรณ์สาร เมษายน 2508 ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 หน้า 14-18 และ พฤษภาคม 2508 ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 หน้า 11-17)

(ตอนที่ ๑)

 

 
พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์

 

การพยากรณ์อากาศที่กระทำกันอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่อาศัยหลักการอุตุนิยมวิทยา และอุตุนิยมวิทยาในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็หาได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับดวงดาวไม่ ทั้งนี้ก็เพราะอุตุนิยมวิทยามีฐานะเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง และวิทยาศาสตร์ในส่วนรวมยังไม่พร้อมที่จะยอมรับนับถือว่า ดวงดาวมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ในบรรยากาศ

ความจริงเรื่องอิทธิพลของดวงดาวต่อกาลอากาศ (Weather) นี้ นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนก็ได้มีความสนใจศึกษาค้นคว้ากันมาแล้วพอสมควร  โยฮานน์ส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งยง ผู้เป็นเจ้าของกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่หลายปี โดยเฉพาะในระหว่างวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ.๑๖๑๗ ถึงวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ.๑๖๒๙ เขาได้บันทึกข้อสังเกตต่างๆ ไว้ในอนุทินของเขา ซึ่งต่อมา ดร.เจ. โกด (J. Goad) ได้ถ่ายทอดเอาไปรวบรวมไว้ในหนังสือ Astro-Meteorologica (อุตุนิยมวิทยาดวงดาว) ของเขา ซึ่งได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน เมื่อ ค.ศ.๑๖๘๖  หนังสือที่กล่าวมานี้เกิดจากผลงานการค้นคว้าเป็นเวลา ๓๙ ปี ของดร.โกด และได้กลายเป็นตำราอุตุนิยมวิทยาชั้นนำมาจนกระทั่งปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙  แม้แต่เซอร์ ไอแซค นิวตัน เอง ก็เคยใช้หลักอุตุนิยมวิทยาดวงดาวพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ ๒๐ กว่าปีว่า ในระยะ ๓ เดือนแรกของค.ศ.๑๗๕๐ จะเกิดพายุใหญ่และแผ่นดินไหวเป็นระลอก ทำให้บางส่วนของกรุงลอนดอนเสียหายมาก และเหตุการณ์เช่นที่ว่าก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ค.ศ.๑๗๕๐ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ท่านเซอร์ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ๒๓ ปี

นาวาโท อาร์. เจ. มอร์ริสัน (R.J. Morrison) แห่งราชนาวีอังกฤษ ผู้พิมพ์ Almanac อันมีชื่อทั่วโลกสมัยร้อยกว่าปีก่อน ได้ปรับปรุงเสริมแต่งผลการค้นพบของนักปราชญ์คนก่อนๆ ให้เข้าหลักวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น  ต่อมา ดร. แอลเฟร็ด เจ. เพียร์ซ (Alfred J. Pearce) ผู้รับช่วงงานจากมอร์ริสัน ก็ได้ศึกษาค้นคว้าต่อและได้จัดพิมพ์ตำราขึ้นหลายเล่ม เช่น Weather Guide (ค.ศ.๑๘๖๔) The Science of the Stars (ค.ศ.๑๘๘๑) และ Textbook อันยิ่งใหญ่ของเขา (ค.ศ.๑๘๘๙)  หนังสือที่กล่าวหลังนี้มี ๒ เล่ม และในเล่ม ๒ ดร.เพียร์ซได้ให้ทฤษฎีและวิธีการของอุตุนิยมวิทยาดวงดาวไว้หลายประการ

ในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน มีนักพยากรณ์อากาศแห่งเมืองแฟร์ลอว์น รัฐนิวเจอร์ซี อยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ นายยอร์ช เอ. แมคคอร์แมค (George A. Mc Cormack) นายแมคคอร์แมคกับคณะของเขาได้ทดลองใช้วิธีการของดร.เพียร์ซมาเป็นเวลาช้านาน ตลอดจนได้ทำการปรับปรุงทางหลักวิชามาเรื่อยๆ ผลการพยากรณ์ของเขาปรากฏว่าใกล้เคียงความจริงมาก จนกระทั่งสำนักพยากรณ์อากาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เชิญให้ไปบรรยายเรื่อง "ทฤษฎีและข้อปฏิบัติของการพยากรณ์อากาศจากดวงดาว" ในการสัมมนาพิเศษของนักอุตุนิยมวิทยาฝ่ายรัฐบาล ณ นครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๖ นอกจากนั้น ในการประชุมประจำปีคร้งที่ ๔๔ ของสมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกัน ณ นครลอสอันเจลีส รัฐคาลิฟอร์เนีย เมื่อมกราคมศกก่อน เขาก็ได้รับเชิญไปบรรยายในหัวข้อเรื่องเดียวกันนั้นด้วย ผู้เขียนจะขอหยิบยกเอาใจความสำคัญๆ มาเล่าสู่กันฟังเป็นการประดับความรู้ตามสมควร

ทฤษฎีที่นายแมคคอร์แมค เสนอมีอยู่ว่า :-

๑. ดวงอาทิตย์ควบคุมส่วนประกอบของบรรยากาศ

๒. ดาวเคราะห์ต่างๆ กำหนดระเบียบการเปลี่ยนแปลงทางอินทรีย์ (Organic Changes) ในกาลอากาศ :

ก) โดยเปลี่ยนรอยประทับบนบรรยากาศเมื่อลองกิจูด (สมผุส) หรือเดกลิเนชัน (อายัน) (ตำแหน่งทางเหนือหรือทางใต้เส้นศูนย์สูตร) เปลี่ยนแปลงไป เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท้งทางไฟฟ้าและทางเคมีในบรรยากาศของโลก)

ข) เมื่ออยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ กล่าวคือ: อยู่บนเส้นศูนย์สูตร อยู่ในตำแหน่งปัดเหนือหรือปัดใต้สูงสุด อยู่ใกล้โลกที่สุด (Perigee) อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (Perihelion) หรือเมื่อดูจากโลกแล้วเห็นอยู่กับที่

ค) โดยความสัมพันธ์เชิงมุมกับดวงอาทิตย์หรือในระหว่างกันเอง

ฆ) โดยเข้าไปอยู่ในตำแหน่งหรือโคจรผ่านเหนือเส้นเมอริเดียนของโลกแห่งหนึ่งแห่งใดหรือมีความสัมพันธ์เชิงมุมกับเส้นเมอริเดียนนั้น

๓. ดวงจันทร์เป็นตัวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของความดันและกระแสบรรยากาศ ซึ่งปรากฏการณ์ของดวงอาทิตย์หรือดาวเคราะห์ ชี้แสดงว่ากำลังจะเกิดขึ้น

๔. ลองกิจูด (สมผุส) และเดกลิเนชันของดวงดาว มีผลต่อความผิดสภาพตามฤดูกาลของกาลอากาศพอๆ กัน

นายแมคคอร์แมคอธิบายต่อไปว่าการหมุนรอบตัวของโลกทำให้ได้หลักสำคัญประการหนึ่ง ในการหาว่ากระสวนใหญ่ๆ ของกาลอากาศนั้นมีจุดชุมนุมอยู่ที่ไหนในขณะหนึ่งขณะใด  เขากล่าวว่าเราต้องมองดูระบบสุริยะในฐานะเป็นหน่วยรวมหน่วยเดียว ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในระบบมีความผูกพันต่อกันและกันทั้งสิ้น  ดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่อยู่เป็นนิจย่อมก่อให้เกิดกระสวนแปลกๆ แตกต่างกันชั่วนิรันดร ปฏิกิริยาระหว่างดาวเคราะห์เป็นของมีแน่ดังจะเห็นได้จากการที่ได้มีการพบดาวเคราะห์ใหม่ๆ (เนปจูน พลูโต) เพราะความวิปริตในวิถีโคจรของดาวเคราะห์ที่รู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว ความวิปริตที่ว่านี้เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลทางความถ่วงของดาวเคราะห์ที่ยังตรวจไม่พบ

การทำมุมระหว่างกันอยู่ตลอดกาลของดวงดาวเหล่านี้ มีความหมายทั้งในทางลักษณะและความเข้มข้นของปรากฏการณ์แห่งบรรยากาศ กระสวนกาลอากาศซึ่งมีลักษณะทั่วๆ ไปคล้ายกันมักจะเริ่มขึ้นพร้อมๆ กัน ณ จุด ๒ จุด ซึ่งอยู่ห่างกัน ๖,๐๐๐ ไมล์ ชั่วแต่ว่าความเข้มจะยิ่งหย่อนกว่ากันบ้างเท่านั้น  ในทำนองนี้หย่อมความดันสูงหรือต่ำในเขตอบอุ่นจะเคลื่อนตัวจากตะวันตกไปตะวันออกเสมอ แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในแลติจูดต่างๆ แม้กระทั่งการย้อนกลับจากเหนือไปใต้ของเส้นศูนย์สูตร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ นายแมคคอร์แมคกล่าวว่าจะจับจุดได้โดยดาราศาสตร์ทั้งสิ้น จากแผนภูมิของดวงอาทิตย์หรือดาวเคราะห์ ซึ่งเขียนขึ้นโดยคำนึงถึงวัตภาคของดวงจันทร์ด้วย เราสามารถจะพยากรณ์ได้ว่า ความผิดสภาพหรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ของบรรยากาศจะก่อหวอดขึ้นที่เส้นลองกิจูดไหนบนพื้นโลก และกาลอากาศประเภทก่อกวนจะมาถึงจุดสังเกตการณ์ในวันใด ในบางระยะของเดือนการเคลื่อนตัวที่กล่าวนั้นจะมีจังหวะเร่งเร็ว แต่ในบางระยะของเดือนจะมีจังหวะเชื่องช้า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เมื่อดาวเคราะห์ดวงหนึ่งดวงใดอยู่กับที่ หรืออยู่บนเส้นศูนย์สูตร หรือมีเดกลิเนชัน (อายัน) สูงสุดทางเหนือ (อุตตรายัน) หรือทางใต้ (ทักษิณายัน) หรือกุมหรืออยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ กับดวงอาทิตย์ ลักษณะจำเพาะของดาวเคราะห์จะถูกประทับลงไปในบรรยากาศในขนาดพอสมควร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโอกาสเช่นนี้ ตามปกติจะมาถึงเส้นเมอริเดียนที่ทำการสังเกตการณ์ภายในเวลาสามวัน

สำหรับระยะเชิงมุมระหว่างดาวเคราะห์หรือ Aspect ซึ่งผู้เขียนขอเรียกเป็นภาษาไทยว่า "สนทรรศน์" นั้น นายแมคคอร์แมคใช้ผลคูณของ ๑๕ องศาเป็นมูลฐานตามที่เคปเลอร์ได้เป็นผู้ค้นพบ มุมเหล่านี้เคปเลอร์เรียกว่า "มุมแม่เหล็ก" แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ประเภทบวกและประเภทลบ มุมหรือสนทรรศน์ประเภทบวกเป็นพวกสนทรรศน์อากาศดี ประกอบด้วยมุม ๖๐  ๑๒๐  ๓๐ และ ๑๕๐ องศาระหว่างกัน โดยมีความแรงเรียงจากสูงไปหาต่ำตามลำดับที่เขียนไว้ ส่วนผลจากการกุมกันจะเป็นประการใดก็แล้วแต่ดาวเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นการผสมผสานกันของลักษณะจำเพาะของแต่ละดาวเคราะห์ที่กุมกันนั้นเอง

สนทรรศน์ประเภทลบ หรือสนทรรศน์อากาศเลว คือ มุม ๙๐  ๑๘๐  ๔๕  และ ๑๓๕  โดยมีความแรงเรียงจากสูงไปหาต่ำตามลำดับ  นายแมคคอร์แมคเสริมอีกว่าถ้าหากดาวเคราะห์ขนานกัน กล่าวคือ มีปริมาณของเดกลิเนชันหรือปัดเหนือปัดใต้ในองศาเท่ากันในขณะที่กุมหรือเล็ง หรือเกือบกุมหรือเกือบเล็งด้วยแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะมีความแรงมากกว่าผลจากสนทรรศน์ระหว่างกันมาก นอกจากนั้นเมื่อใดที่ดาวเคราะห์อยู่บนเส้นศูนย์สูตรพอดี (กล่าวคือ เดกลิเนชันเป็น ๐ องศา) เมื่อนั้นแหละก็จะแสดงผลทางแม่เหล็กและทางความถ่วงต่อโลกอย่างสูงสุด

ถึงตอนนี้ผู้เขียนใคร่ขอพักการบรรยายวิธีการของนายแมคคอร์แมคไว้ชั่วขณะ เพื่อตั้งข้อสังเกตบางประการในเนื้อเรื่องที่ได้ผ่านมาแล้ว ท่านผู้อ่านคงได้เห็นแล้วว่า ทฤษฎีที่นายแมคคอร์แมคเสนอไว้นั้น ที่จริงก็ละม้ายคล้ายกันกับหลักการทั่วไปของโหราศาสตร์นั่นแหละ แต่รายละเอียดปลีกย่อยก็คงจะต้องมีแตกต่างกันบ้างซึ่งเราจะเห็นกันต่อไป เรื่องที่ผู้เขียนติดใจเรื่องหนึ่งก็คือสนทรรศน์ระหว่างดวงดาวซึ่งนายแมคคอร์แมคกล่าวถึงสนทรรศน์บวกกับสนทรรศน์ลบ และการเรียงลำดับความแรงของสนทรรศน์นั้นๆ

เรื่องสนทรรศน์นี้ ทางโหราศาสตร์ไทยก็มีเหมือนกันชั่วแต่มิได้บ่งไว้ว่าเป็นสนทรรศน์ และมิได้แบ่งเป็นสนทรรศน์ดีและสนทรรศน์เลว ของไทยมีกุม มีเล็ง มีโยคหน้าโยคหลัง มีจตุรเกณฑ์ มีตรีโกณ นอกจากนั้นก็มีว่าเป็นสอง เป็นสาม เป็นสี่ ฯลฯ ต่อลัคนาหรือต่อดาวเคราะห์ด้วยกัน ฝ่ายทางโหราศาสตร์ฮินดูนั้นเล่าเขามีเรื่องสนทรรศน์ว่าไว้ละเอียดพอสมควร แต่ผลดหรือผลเลวหาได้ถือจากลักษณะของสนทรรศน์นั้นๆ ไม่ แต่ต้องดูว่าดวงดาวที่มีสนทรรศน์ต่อกันนั้นเป็นศุภเคราะห์หรือบาปเคราะห์  และการที่ดาวเคราะห์ใดจะเป็นศุภเคราะห์หรือบาปเคราะห์นั้น จำต้องดูลักษณะถาวรของเคราะห์นั้นๆ ประกอบกับลักษณะเฉพาะกาลซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลัคนด้วย ส่วนทางโหราศาสตร์ตะวันตกเขาแบ่งพวกเป็นสนทรรศน์ดีและสนทรรศน์เลวทำนองเดียวกับหลักที่นายแมคคอร์แมคว่า ผิดกันตรงที่โหราศาสตร์ตะวันตกถือตรีโกณหรือสนทรรศน์ ๑๒๐ องศา เป็นสนทรรศน์ดีลำดับหนึ่ง ส่วนนายแมคคอร์แมคถือสนทรรศน์ ๖๐ องศาเป็นลำดับแรก ของใครจะถูกเป็นเรื่องที่เราควรจะศึกษาค้นคว้ากันดู

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ นายแมคคอร์แมคพูดถึงลองกิจูดหรือสมผุสของดวงดาว แต่เขาไม่พูดถึงราศีและไม่พูดถึงเรือน อย่างไรก็ดีเขาใช้วิธีวัดลองกิจูด (หรือพูดให้เต็มคือลองกิจูดฟ้า = Celestial Longitude) จากจุดแรกแห่งเอรีส์ (First Point of Aries) หรืออีกนัยหนึ่งจากจุดวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโหราศาสตร์สากลหรือระบบสายนะเหมือนกัน ชั่วแต่ไม่แบ่งเป็นราศีๆ แต่ใช้วัดเรื่อยไปจาก ๐ ถึง ๓๖๐ องศา ส่วนการที่ไม่พูดถึงเรือนนั้นทำให้เกิดข้อคิดว่าเรือนอาจไม่มีความสำคัญเท่ากับสนทรรศน์หรือระยะเชิงมุมระหว่างาดวงดาวก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะทำให้หมดปัญหายุ่งยากโดยเฉพาะในหมู่นักโหราศาสตร์สากลเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าจะแบ่งเรือนกันโดยวิธีใด ทั้งนี้ก็เพราะในปัจจุบันมีวิธีแบ่งเรือนอยู่หลายแบบเหลือเกิน เช่น แบบโมรินัส (Morinus) แบบปลาซิดัส (Placidus) แบบแคมปานัส (Campanus) แบบเรจีโอมอนตานัส (Regiomontanus) แบบระบบเรือนเท่า (Equal House System) ฯลฯ   ซึ่งมีแต่จะทำให้นักศึกษาเกิดความลังเลใจขึ้นเท่านั้น  นอกจากนั้นถ้าตัดเรื่องการกำหนดราศีและการแบ่งเรือนออกไปเสียได้แล้ว ก็มีหวังที่จะปรับปรุงโหราศาสตร์ระบบต่างๆ ให้เป็นระบบเดียวกัน มีมาตรฐานอย่างเดียวกันไม่ว่าจะศึกษาในที่แห่งใดในโลก หรืออีกนัยหนึ่งโหราศาสตร์ก็มีหวังที่จะถูกยกย่องขึ้นเป็นวิทยาศาสตร์ได้

ได้ตั้งข้อสังเกตมามากแล้ว หากจะเล่าวิธีการของนายแมคคอร์แมคต่อไปอีกก็จะทำให้เรื่องยืดยาวออกไป  เพราะจะต้องกล่าวถึงลักษณะของดาวเคราะห์ต่างๆ และสนทรรศน์ระหว่างกันว่าจะมีผลต่อกาลอากาศอย่างไรอย่างค่อนข้างละเอียด  ฉะนั้นจึงต้องขออภัยที่จะต้องขอให้ท่านผู้อ่านอดใจรอไปถึงฉบับหน้า ซึ่งจะได้บรรยายในตอนที่สองซึ่งจะเป็นตอนจบด้วย

(เชิงอรรถ ของตอนที่ ๑)

คำว่า  Aspect นี้ ทางโหราศาสตร์ฮินดูเรียกว่า "ทฤษฏิ" (ฏ ปฏักสระอิ ไม่ใช่ ฎ ชฎาสระอี) หรือ "วีษณะ" ทางไทยเคยมีผู้เคยใช้คำ "ทัศนาการ" ซึ่งบังเอิญไปตรงกับคำแปลของคำว่า "Vision" ในศัพท์วิทยาศาสตร์ของทางราชการ ผู้เขียนจึงขอเสนอคำ "สนทรรศน์" เพื่อพิจารณา.

(ตอนที่ ๒ - ตอนจบ)

[คำชี้าแจงของผู้เขียน -- ในบทความเรื่อง "พยากรณ์อากาศจากดวงดาว" ตอนต้น ซึ่งลงพิมพ์ในพยากรณ์สารฉบับประจำเดือนเมษายน ๒๕๐๘ นั้น มีคำที่เกินไปจากต้นฉบับของผู้เขียนอยู่ ๔ แห่ง คือ :

หน้า ๑๕ บรรทัดที่ ๑๔ คำที่เกินคือ "(อายัน)" ท้ายคำ "เดกลิเนชัน"

หน้า ๑๖ บรรทัดที่ ๑๙ คำที่เกินคือ "(อายัน)" ท้ายคำ "เดกลิเนชัน"

หน้า ๑๖ บรรทัดที่ ๒๐ คำที่เกินคือ "(อุตตรายัน)" และ "(ทักษิณายัน)" ท้ายคำ "สูงสุดทางเหนือ" และ "หรือทางใต้" ตามลำดับ

คำที่เกินเหล่านี้ไม่ตรงกับความหมายของคำเดิมของผู้เขียนแต่ประการใด  ฉะนั้นจึงใคร่ขอให้ท่านผู้มีหนังสือพยากรณ์สารฉบับดังกล่าวได้ขีดฆ่าออกเสียด้วย

คำว่า "เดกลิเนชัน" (Declination) นี้ ทางโหราศาสตร์ภาษาฮินดูเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า "กรานติ" ศัพท์วิทยาศาสตร์ของทางราชการไม่มีแปลเป็นภาษาไทย แต่ใช้เขียนทักศัพท์ ส่วน "อายัน" ถ้าหมายถึงคำที่มาจากภาษาชวาก็แปลว่า "นักบวช" หรือ "ฤษี" แต่ถ้าหมายถึงคำที่มาจากคำสันสกฤต "อายน" แล้วก็แปลว่า "การมาถึง" หรืออาจแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า "ของจุดหยุด (Solstice)"

สำหรับคำ "อุตตรายน" กับ "ทักษิณายน" ผู้เขียนได้เคยให้คำชี้แจงไว้ในเรื่อง "ปัญหาเรื่องอยนางศ" แล้วว่าควรเก็บไว้ใช้ในความหมายของ "ทางขึ้นเหนือ" กับ "ทางลงใต้" ของดวงอาทิตย์ตามลำดับ ไม่ใช้ในความหมายอื่นที่ขัดกัน จึงขอเรียนให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจตามนี้ด้วย]

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงหลักการหรือทฤษฎีที่นายแมคคอร์แมคใช้ในการพยากรณ์มาแล้ว บัดนี้จะได้พูดถึงลักษณะบวกและลบของดวงดาวแต่ละดวงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศต่อไป

ดาวพุธ  ดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่รวดเร็วที่สุดนั้น  ให้ผลหนักไปในทางไฟฟ้า ดาวพุธโดยลำพังตัวเอง หมายถึงความดันบรรยากาศสูง แต่อิทธิพลของดาวเคราะห์นี้ะถูกปรุงปรับให้แปรเปลี่ยนไปในเมื่อเข้าไปกุมหรือมีสนทรรศน์กับดาวเคราะห์อื่น (นี่ก็ตรงกับหลักโหราศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง) เมื่อมีสนทรรศน์กับดาวอังคาร ดาวพุธทำให้เกิดลมกำลังแรงซึ่งบางทีก็พัดสบัดหนักเหมือนเฆี่ยนด้วยแส้ เมื่อมีสนทรรศน์กับดาวศุกร์จะมีกระแสลมโชยซึ่งมักจะมาจากทางทิศใต้ หากดาวพุธอยู่กับที่ (ตามที่ปรากฏจากโลก) หรือกุมกับดวงอาทิตย์โดยอยู่ทางด้านหลังของอาทิตย์ (Superior Conjunction) แล้ว ก็จะทำให้เกิดความดันอากาศสูงและกระแสลมแรง  และถ้าเป็นในฤดูหนาวก็จะทำให้เกิดคลื่นอากาศเย็นกับมักมีพายุหิมะทางภูมิภาคภายในที่อยู่ในระดับสูงๆ ความสัมพันธ์เชิงมุมระหว่างดาวพุธกับดาวยูระนัสหรือมฤตยู ๕ ประการดังต่อไปนี้ คือ กุม เล็ง สนทรรศน์ ๖๐ องศา สนทรรศน์ ๙๐ องศา และขนานกันจะทำให้เกิดกระแสลมกำลังแรงซึ่งเปลี่ยนทิศทางอยู่เรื่อยพัดลงจากที่สูงลงหาที่ต่ำ และอุณหภูมิจะลดลงด้วย

เมื่อใดที่ดาวพุธพักรหรือดูจากโลกเห็นเดินถอยหลัง เมื่อนั้นก็ให้เตรียมการซ่อมสายไฟฟ้าสายโทรทัศน์ไว้เถิดเพราะคงจะต้องเกิดการเสียหายจากพายุอย่างค่อนข้างแน่ๆ เมื่อดาวพุธมีสนทรรศน์บวกกับดาวเสาร์ บารอมิเตอร์จะเขยิบสูงขึ้น อุณหภูมิลดลง และเมฆเปลี่ยนแปร แต่ถ้าสนทรรศน์กับเสาร์เป็นจำพวกลบ (๙๐  ๑๘๐  ๔๕  หรือ  ๑๓๕ องศา) แล้ว  ดาวพุธจะทำให้ความดันอากาศลดลงมีเมฆทวีขึ้น  และมักเกิดกระแสอากาศหมุนซ้าย อากาศทึม แสดงว่าอากาศเลวกำลังใกล้เข้ามา สนทรรศน์ระหว่างดาวพุธกับพฤหัส ตามปรกติหมายถึงลมพัดจากทิศเหนือ ติดตามด้วยเมฆคูมูลัสชนิดหนึ่งที่เป็นเครื่องหมายของอากาศดีและบรรยากาศจะแจ่มใสสดชื่นขึ้น

เมื่อดาวพุธกุมหรือมีสนทรรศน์ลบกับดาวเนปจูน จะมีกระแสลมโชยจากทางทิศใต้ แต่บางทีก็อาจเงียบสงัดไม่มีลมโดยมีอากาศชื้นและอุ่นลอยขึ้นสู่เบื้องสูง  มีหมอกควันเหนือพื้นที่ต่ำใกล้ตัวเมืองหรือศูนย์กลางอุตสาหกรรม รวมทั้งทัศนวิสัยเลว ณ ตำบลที่อยู่ใกล้ทางน้ำด้วย ในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดอยู่นานๆ อาจจะมีลมสงัดและอากาศอบอ้าวในตอนเช้า และพอตกบ่ายหรือเย็นจะมีลมกระโชกกระจายเป็นแห่งๆ  ความสัมพันธ์เชิงมุมระหว่างดาวพุธกับดาวพลูโตมีผลคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงกระทันหันที่เกิดขึ้นเมื่อดาวพุธมีสนทรรศน์กับดาวอังคาร แต่นายแมคคอร์แมคกล่าวว่าในประการหลังนี้คณะเขายังไม่มีหลักฐานพอเพียงที่จะวินิจฉัยได้อย่างเด็ดขาด

ดาวศุกร์ กิริยาการของดาวศุกร์นั้นอ่อนละมุนเสมอและไม่ใคร่ก่อให้เกิดลมแรงๆ  เมื่ออยู่ในสนทรรศน์บวก อากาศจะแจ่มใสเป็นไปตามฤดูกาลและมักมีลมฝ่ายใต้กับอุณหภูมิสูงขึ้น  ฝนที่เกิดเพราะดาวศุกร์จะตกลงมาตรงๆ ไม่มีลม เมื่อกุมหรือมีสนทรรศน์ลบดับดาวอังคารจะมีฝนตกมาก และจะตกหนักที่สุดเมื่อมีลองกิจูดฟ้าระหว่าง ๒๑๐ ถึง ๒๔๐ (เทียบราศีสากลตรงกับราศีพิจิก) แต่ถ้าอยู่ในลองกิจูดฟ้าระหว่าง ๓๐๐ ถึง ๓๓๐ องศา (เทียบราศีสากลตรงกับราศีกุมภ์) จะให้ความเย็นยะเยือกสูงที่สุด  แต่มักจะไม่ค่อยทำให้เกิดฝนหรือเห็บหรือหิมะ  เมื่อดาวศุกร์กุมหรือมีสนทรรศน์ลบกับดาวอาทิตย์ ฝนจะตกอย่างเทน้ำเทท่า  แต่ถ้าเป็นสนทรรศน์บวกก็แสดงว่าอากาศจะแจ่มใสมีแสงแดด  ดาวศุกร์กุมดาวพฤหัสตามปรกติหมายถึงอากาศดีโดยทั่วๆ ไปพร้อมกับอุณหภูมิสูงขึ้น  ความสัมพันธ์เชิงมุมใดๆ ก็ตามระหว่างดาวศุกร์กับดาวเสาร์หมายถึงมีเมฆในปริมาณต่างๆ  และถ้าเป็นสนทรรศน์ลบก็จะทำให้เกิดความดันอากาศต่ำกระแสลมหมุนซ้าย บรรยากาศมืดครึ้มแล้วกลายเป็นฝนพร้อมกับอุณหภูมิลดลง  ดาวเสาร์ในกรณีนี้จะเป็นตัวการทำให้มีลมระหว่างฝนตกด้วย ดาวศุกร์กุมหรือมีสนทรรศน์ลบกับดาวยูระนัส (มฤตยู) ทำให้เกิดอากาศหนาวชนิดเสียดแทงและถ้าจะมีหยาดฟ้า (Precipitation) ก็จะเป็นฝนชนิดหนาวเย็น

บรรยากาศอันแจ่มใสที่สุดประกอบด้วยท้องฟ้าสีครามปราศจากเมฆ อากาศนิ่งสดชื่นจะเกิดขึ้นเมื่อดาวศุกร์ทำมุม ๖๐ องศา กับดาวยูระนัส (มฤตยู) เมื่อดาวศุกร์กุม เล็ง ได้จตุรเกณฑ์ หรือขนาน กับดาวเนปจูน ฝนจะตกอย่างหนักเป็นแห่งๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น  ถ้าดาวศุกร์กับดาวเนปจูนในลองกิจูด ๒๑๐ ถึง ๒๔๐ (เทียบราศีสากลตรงกับราศีพิจิก) จะเกิดน้ำท่วมกระทันหัน หรือหิมะตกหนักในพื้นที่สูง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปจากฝั่งทะเล

ดาวอังคาร  ดาวอังคารตามปรกติหมายถึงลมฝ่ายตะวันตกซึ่งมักจะมีกำลังแรงเสมอ ดาวอังคารเคลื่อนที่บรรจบวงโคจรทุกๆ ระยะเกือบ ๒ ปี และทุกๆ รอบโคจรจะมีตำแหน่งซึ่งอยู่ใกล้กับโลกที่สุด ซึ่งภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า Perigee  อย่างไรก็ดีตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบโคจรแต่ละรอบนั้นไม่ได้อยู่ที่เดียวกันทุกครั้ง หมายความว่าบางคราวก็เข้ามาใกล้โลกมาก บางคราวก็อยู่ห่างออกไป แต่ทุกๆ ระยะเวลา ๑๕ ถึง ๑๗ ปี ดาวอังคารจะเข้ามาอยู่ในระยะใกล้โลกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งตกใน พ.ศ. ๒๔๓๕  ๒๔๕๒  ๒๔๖๗  ๒๔๘๒  ๒๔๙๙ และคราวต่อไปในพ.ศ.๒๕๑๔ ก่อนกำหนดที่ดาวอังคารจะเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดเช่นที่กล่าวนี้  ฤดูร้อนมักร้อนจัดผิดปรกติและเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรง  ยิ่งเมื่อดาวอังคารเข้ามาใกล้โลกในตอนที่มีลองกิจูดฟ้าระหว่าง ๑๒๐ ถึง ๑๕๐ องศา (เทียบราศีสากลเท่ากับราศีสิงห์) ด้วยแล้ว ความร้อนและความแห้งแล้งจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกในระยะ ๗ ปีข้างหน้า ดาวอังคารจะเข้าสู่ตำแหน่ง Perigee หรือตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบโคจรในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘  วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๐  วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒ และวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๔ สำหรับในวันที่กล่าวหลังนี้ ดาวอังคารอยู่ในจังหวะที่เข้ามาอยู่ใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวคือจะอยู่ห่างจากโลกเพียง ๓๕ ล้านไมล์

โดยนัยนี้  นายแมคคอร์แมคกล่าวว่า ฤดูร้อนแห่ง พ.ศ.๒๕๑๓ จะร้อนและแห้งแล้งจัดทั้งให้ระวังอันตรายจากเพลิงไหม้ด้วย

ดาวพฤหัส  ดาวเคราะห์ใหญ่ดวงนี้ตามปกติเป็นสัญญลักษณ์ของอากาศดี ทั้งนี้นายแมคคอร์แมคบอกว่าเท่าที่ได้สังเกตมานั้น ถ้าดาวพฤหัสมีสนทรรศน์บวกหรืออยู่ในตำแหน่งใหญ่ๆ แล้ว  อากาศก็มักจะดีเสมอ กล่าวคือท้องฟ้าแจ่มใส  มีลมฝ่ายเหนือและมีเมฆอากาศดีชื่อคูมุลัสตามมา ยิ่งเมื่ออิทธิพลของดาวพฤหัสไม่ถูกอิทธิพลอื่นมาแทรกแซงด้วยแล้ว ท้องฟ้าจะแจ่มใสเป็นพิเศษและแสงแดดจะมีมากกว่าปกติ

ดาวพฤหัสจะโคจรบรรจบรอบในเวลา ๑๑.๘๖ ปี โดยจะอยู่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรเป็นเวลา ๕.๙๓ ปี แล้วกลับลงไปอยู่ทางใต้เส้นศูนย์สูตรเป็นเวลา ๕.๙๓ ปี สลับกันไป ใน ๕.๙๓ ปีที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรดาวพฤหัสจะช่วยเสริมให้มีความอบอุ่นมากขึ้น  ฉะนั้นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนก็จะมีอากาศร้อนกว่าธรรมดา แต่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวก็จะหนาวน้อยกว่าธรรมดาเหมือนกัน

หากดวงอาทิตย์มีสนทรรศน์ ๖๐ องศากับดาวพฤหัสแล้วอุณหภูมิจะสูงขึ้น  สนทรรศน์ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส โดยเฉพาะการกุมกันในขณะที่มีเดกลิเนชันสูง (ต่างก็อยู่เหนือหรือใต้เส้นศูนย์สูตรมากๆ) จะทำให้เกิดความร้อนและการระเหยสูง และผลอันนี้จะยิ่งแรงขึ้นอีกถ้าหากในขณะเดียวกันนั้น  ดาวอังคารอยู่ในระยะใกล้โลกที่สุดด้วย  เมื่อดาวพฤหัสมีความสัมพันธ์เชิงมุมกับดาวเสาร์ ออกซิเจนในบรรยากาศจะดูลดน้อยลง  และเนื่องจากทั้งสองเป็นดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่ช้า ดังนั้นบริเวณความดนต่ำจะมีความลึกมากและจะคงอยู่เป็นเวลานานในพื้นที่กว้างขวางกว่าปกติ และอุณหภูมิก็จะลดต่ำกว่าธรรมดา

สถิติที่คณะของนายแมคคอร์แมคได้จัดทำไว้ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๐ แสดงว่าสนทรรศน์ใหญ่ๆระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวยูระนัสหมายถึงพายุแม่เหล็ก และปรากฏความเร็วลมที่เคยวัดได้นั้นมีขนาดสูงถึง ๙๐ ไมล์ต่อชั่วโมงก็หลายครั้ง

ตามปกติแล้ว ถ้าดาวพฤหัสอยู่ตรงกับเมอริเดียนล่างก็หมายถึงว่าอากาศจะน่าสบายมาก มีแสงแดดอย่างอุดมสมบูรณ์ ตำแหน่งของดาวพฤหัสอย่างนี้ถ้าเป็นในฤดูหนาวก็หมายถึงฤดูหนาวที่ไม่มีหิมะ  ถ้าเป็นในฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนก็หมายถึงอากาศดีสำหรับการปลูกพืชไร่  ถ้าเป็นในฤดูใบไม้ร่วงก็หมายถึงอากาศดีสำหรับการเก็บเกี่ยว

ดาวเสาร์  ดาวเสาร์เดินรอบวงโคจรภายในเวลา ๒๙.๔๕ ปี และในรอบๆ หนึ่งจะมีฤดูหนาวที่หนาวจัดมากหนหนึ่ง เช่นที่เกิดใน พ.ศ. ๒๔๑๘  ๒๔๔๘  ๒๔๗๗  และ ๒๕๐๖ นายแมคคอร์แมคกล่าวว่าในพ.ศ.๒๕๓๕ ก็จะหนาวจัดมากอีกครั้งหนึ่ง  แต่ความหนาวจัดจะมีติดต่อกันเป็นลูกโซ่ตั้งแต่ฤดูหนาวพ.ศ.๒๕๓๑  เมื่อทั้งดาวเสาร์และดาวยูเรนัสจะไปอยู่ที่เหมายัน (Winter Solstice) ด้วยกัน ทั้งดาวเนปจูก็อยู่ใกล้ๆ นั่นเอง

กิริยาการของดาวเสาร์มักจะเกี่ยวเนื่องกับความดันอากาศต่ำและกระแสลมหมุนซ้าย  การรบกวนในบรรยากาศจะยืดเยื้อกว่าผลจากดาวเคราะห์อื่น  และอากาศมืดครึ้มจะแผ่ขยายในอาณาเขตกว้างขวางกว่า  แต่เมื่อลมเปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ อากาศจะค่อยแจ่มใสขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิจะลดลงอย่างเชื่องช้าแต่ว่าแน่นอน

การกุม การเล็ง หรือสนทรรศน์ ๙๐ องศาระหว่างดวงอาทิตย์หรือดาวเคราะห์อื่นกับดาวเสาร์จะทำให้เกิดเมฆและการรบกวนในบรรยากาศ ส่วนสนทรรศน์ ๖๐ องศา ๑๒๐ องศา หรือสนทรรศน์บวกอย่างอื่น แสดงถึงอากาศดีโดยทั่วไป ความดันอากาศเพิ่มขึ้น และอุณหภูมิต่ำลง  สนทรรศน์ระหว่างดาวเสาร์กับดาวยูระนัส หมายถึงความหนาวเย็นอันยืดเยื้อ ข้อนี้เราจะคอยดูกันได้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ในตอนที่ดาวทั้งสองนี้จะเข้าเล็งกันในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๐๘  มีนาคม ๒๕๐๙ กับเดือนมกราคม ๒๕๑๐

ดาวเสาร์จะโคจรไปอยู่บนเส้นศูนย์สูตรในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งสำหรับเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ตรงกับวันที่ ๒๑ มีนาคม เวลา ๐๐.๒๗ น. อันนี้ถ้าจะพูดตามภาษาโหรก็คือดวงเมษสงกรานต์แบบสากลสำหรับเมืองเดนเวอร์นั่นเอง  นายแมคคอร์แมคบอกว่าเมื่อผูกขึ้นแล้ว ปรากฏว่าดวงอาทิตย์อยู่ใกล้กับดาวเสาร์ที่เมอริเดียนล่าง  และการรบกวนในบรรยากาศจะมีความรุนแรงสูงสุดในแนวลองกิจูด ๑๑๒ องศาตะวันตก เขาอธิบายต่อไปว่าในการพิจารณาแผนภูมิดวงดาวซึ่งเขียนหรือผูกขึ้นสำหรับเวลาสงกรานต์หรือเวลาจันทร์ดับจันทร์เพ็ญนั้น ตำแหน่งสำคัญที่สุดคือตำแหน่งเหนือหัว หรือตำแหน่งกึ่งฟ้า (Mid Heaven) ของตำบลที่เราสังเกตการณ์ สำคัญรองลงไปก็คือตำแหน่ง ๙๐ องศาจากเส้นเมอริเดียน

ดาวยูระนัส  อุตุนิยมวิทยาดวงดาวถือว่า ดาวยูระนัสคือฝาแฝดฟ้าของดาวพุธ อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ที่เกี่ยวกับลักษณะทางไฟฟ้า ดาวยูระนัสมีความหมายถึงอากาศซึ่งจมลงเบื้องต่ำและลมฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ และเป็นดาวที่ให้สัญญาณว่าความดันอากาศสูงกำลังจะมาถึง นอกจากนั้นยังดูจะมีอำนาจเหนืออากาศหนาวเย็นเยือกในบรรยากาศชั้นสูงๆ ด้วย การสังเกตของนายแมคอร์แมคชวนให้เขาเชื่อว่าอิทธิพลของดาวยูระนัสมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่และแนวทางเดินของกระแสนลมกรด (Jet Stream) ซึ่งเป็นกระแสอากาศเย็นเยือก มีความกว้างนับ ๒๕ ไมล์ ลึกหลายพันฟุต พุ่งไปทางตะวันออกในระดับสูง ๓๕,๐๐๐ ถึง ๔๐,๐๐๐ ฟุต

เมื่อดาวยูระนัสมีสนทรรศน์กับดาวอื่น ความดันอากาศจะขึ้นไปสูงกว่า ๑๐๒๔ มิลลิบาร์ มีลมฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือและอุณหภูมิจะลดต่ำลงประมาณ ๓๐ องศา ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลักจากเกิดสนทรรศน์ ความสัมพันธ์เชิงมุมระหว่างดาวพุธกับดาวยูระนัสจะช่วยกันเพิ่มความเร็วลมให้สูงขึ้นไปอีกและเพิ่มความหนาวขึ้นอีกด้วย

ดาวเนปจูน  ดาวเนปจูนเมื่ออยู่ในตำแหน่งใต้โลก (Nadir) ลงไปจากจุดสังเกตใดๆ ก็ดี หรือมีสนทรรศน์ลบกับตำแหน่งนี้ก็ดี แสดงว่าอากาศจะเปียกแฉะผิดธรรมดาและมีลมฝ่ายใต้ หรือไม่ก็มีกระแสอากาศลอยขึ้นสูง ความชื้นเกินส่วนมีฝนตกหนักเป็นพักๆ ถ้าเป็นฤดูหนาวหิมะจะตกแล้วก็ละลายสลับกันไปทำให้เกิดอันตรายจากน้ำท่วม  ข้อนี้มักจะเป็นจริงเสมอในระยะเวลา ๑๔ ปีที่ดาวเนปจูนอยู่ในระหว่างลองกิจูดฟ้า ๒๑๐ ถึง ๒๔๐ (เทียบราศีสากลตรงกับราศีพิจิก)

การรบกวนในบรรยากาศอันเป็นผลของดาวเนปจูนนั้น  มักเริ่มต้นด้วยมีฟ้าหลัว หรือหมอกในระยะต่ำปกคลุมอยู่เหนือบริเวณเล็กๆ ก่อน แล้วฝนจึงกระหน่ำลงมาเป็นแห่งๆ  เส้นทางเคลื่อนที่ในกรณีนี้จะเป็นแนวแคบไม่แผ่ขยายกว้างขวาง  เมื่อดาวอังคารและดาวพุธเข้ามามีอิทธิพลร่วมกับเนปจูนจะเกิดลมปั่นป่วนกระทันหัน  แต่จะเป็นในระยะเวลาสั้นๆ  แต่กระนั้นก็จะเป็นภัยต่อบรรดาเรือใบเล็กๆ  และจะทำให้สายการบินต้องเปลี่ยนกำหนดเวลาบินกันปุบปับ

ดาวพลูโต  ดาวพลูโตเพิ่งจะได้ค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ คือ ๓๕ ปีมานี้เอง ฉะนั้นข้อสังเกตเกี่ยวกับดาวดวงนี้จึงยังมีอยู่น้อยมาก และจะถือเอาอะไรเป็นมั่นเหมาะยังไม่ได้  แต่เท่าที่คณะของนายแมคคอร์แมคได้สังเกตมาเป็นเวลา ๑๖ ปีนั้น  มีเค้าแสดงว่าผลของดาวพลูโตคล้ายคลึงกับผลของดาวอังคาร ชั่วแต่มีความแรงมากกว่าเท่านั้น  ระยะเวลาที่ควรคอยสังเกตเป็นพิเศษก็คือตอนที่ดาวพลูโตอยู่กับที่ หรือถูกดวงอาทิตย์กุมหรือเล็งหรือสนทรรศน์ ๙๐ องศาด้วย

ดวงจันทร์  ดวงจันทร์ไม่ใช่แต่ทำหน้าที่เป็นตัวบอกจังหวะที่จะเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังควบคุมคาบการเปลี่ยนแปลงของอากาศทุกๆ ระยะ ๓ ๑/๒  ๗ และ ๑๔ วันด้วย (ถ้าจะพูดให้ถูกจริงๆ ต้องเป็น ๓.๔๑  ๖.๘๓ และ ๑๓.๖๖ วัน) เดกลิเนชันของดวงจันทร์เป็นตัวประกอบอย่างหนึ่งสำหรับจับเส้นทางเดินของบริเวณความดันต่ำและบริเวณความดันสูง  นายแมคคอร์แมคกล่าวว่าจากการสังเกตและการทดสอบอย่างถี่ถ้วนเป็นเวลา ๒๓ ปี เขาเชื่อแน่ว่าดวงจันทร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกจังหวะการเคลื่อนตัวไปทางาตะวันออกของการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ  นอกจากนั้นสนทรรศน์ของดวงจันทร์หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในความดันอากาศ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่อื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น ณ จุดสังเกตการณ์

ในตอนท้ายของการบรรยาย นายแมคคอร์แมคกล่าวสรุปว่า ภายหลังที่สถาบันของเขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าและทดสอบอย่างละเอียดละออในทางอุตุนิยมวิทยาดวงดาวมาแล้วเป็นเวลา ๕๐ ปี เขาและคณะเชื่อมั่นว่าการที่จะทอดทิ้งการวิจัยในเรื่องความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์กับการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศนั้น  ก็เท่ากับเป็นการทำลายความหวังที่จะได้พบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่กำหนดความเป็นไปของกาลอากาศเสียโดยสิ้นเชิง

--------------------

เรื่องที่นายแมคคอร์แมคบรรยายมีใจความสำคัญดังที่ท่านได้อ่านมาแล้ว แต่ความหมายสำคัญสำหรับผู้ที่รักวิชาโหราศาสตร์ก็คือการที่ทางการสหรัฐอเมริกาได้ท่าทีแสดงว่า ชักจะมีความเลื่อมใสนวิธีการของโหราศาสตร์ขึ้นบ้างแล้ว  อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าดวงดาวมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในบรรยากาศ  ส่วนเรื่องที่ว่าดวงดาวจะมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของบุคคลแต่ละคนหรือไม่เพียงใดนั้น  คิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องให้กาลเวลาเป็นผู้ตัดสิน

(เชิงอรรถ ของตอนที่ ๒)

ศัพท์วิทยาศาสตร์ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้คำแปล "Pressure" ว่า "ความดัน"  ฉะนั้น "Air Pressure" ก็คือ "ความดันอากาศ" แต่คำนี้กรมอุตุนิยมวิทยาใช้ว่า "ความกดอากาศ" ซึ่งหมายถึงสิ่งเดียวกัน

 

 




บทความสมทบ

การใช้ระยะวังกะ ในโหราศาสตร์นิรายะนะ (โหราศาสตร์ตะวันออก) วันที่ 23/11/2015   09:31:52 article
ดวงธิปู (ดวงสู้ตาย) วันที่ 11/04/2014   09:43:36 article
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 10 – แต่งงานอยู่กินกันแล้ว จะทุกข์ สุข ดี ร้าย ประการใด ??? วันที่ 11/04/2014   09:43:22 article
เส้นสมรส โดย อาจารย์ อาคม ชูจันทร์ วันที่ 18/03/2013   11:39:49 article
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตาตอนที่ 9: มังคลิกาโยค (Kujadosha) : โครงสร้างร้ายในการสมพงศ์ดวงชะตา วันที่ 18/03/2013   11:39:36 article
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 5: ดารานางเอก กับ โครงสร้างความงามในดวงชะตา (สืบเนื่องจากตอนที่ 2) วันที่ 10/11/2012   11:02:02
หลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ที่ใช้ในการตั้งชื่อบุคคล วันที่ 04/12/2011   08:33:19 article
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 4 “ดวงชะตา ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ คลีโอพัตรา – ความงามที่พลิกแผ่นดิน" วันที่ 01/03/2011   20:39:13
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 3: โครงสร้างชี้บอกความงามของสตรีในระบบนิรายะนะ วันที่ 27/03/2011   19:44:41
บทวิเคราะห์เรื่อง “ท่าน อ.มานิตย์ ธีรเวชชโรกุล กับความเป็นนักค้นคว้า โหราศาสาตร์ยุคไอที” วันที่ 01/03/2011   20:40:59
บทวิเคราะห์ เรื่องการเสียชีวิตของท่าน อ.มานิตย์ ธีรเวชชโรกุล วันที่ 01/03/2011   20:41:30
ยุบสภา (ปีพ.ศ.2529) วันที่ 13/03/2009   22:01:33 article
องคลาภกับการวิเคราะห์อุบัติเหตุระเบิดที่โรงงานผลิตจรวด กรมสรรพาวุธทหารบก บางซื่อ วันที่ 27/02/2009   22:21:53 article
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์ และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 8: สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส วันที่ 01/03/2011   20:41:56
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์ และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 7: ปีที่แต่งงาน การสมพงศ์ดวงชะตา แต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานเลย และดวงพระยาเทครัว วันที่ 01/03/2011   20:42:21
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์ และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 6: สัญญาณคู่แท้ (Soulmate Indicators/Signals) วันที่ 01/03/2011   20:42:44
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 2: โครงสร้างเพ็ญศุกร์กับความงามของสตรี วันที่ 29/06/2012   22:38:33
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ (หลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ที่ใช้ในการชี้บอกความงามของสตรี) ตอนที่ 1 วันที่ 01/03/2011   20:43:33
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 5: วิธีการพื้นฐานในการสมพงศ์ดวงชะตา (ดวงซ้อนดวง) วันที่ 01/03/2011   20:44:01
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับ วิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 4: ใครผูกพันกับใครในจักรวาล วันที่ 01/03/2011   20:46:23
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโ หราศาสตร์ และ การสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 3: จักราศีสมพงศ์ วันที่ 01/03/2011   20:46:51
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชา โหราศาสตร์ และการสมพงษ์ดวงชะตา (ตอนที่ 2 บุพเพสันนิวาส กับ คู่แท้) วันที่ 01/03/2011   20:47:43
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชา โหราศาสตร์ และ การสมพงษ์ ดวงชะตา (ตอนที่ 1) วันที่ 01/03/2011   20:48:07
การวิเคราะห์และประเมินความแรงของ ดาวพฤหัส ในดวงชะตาเชิงปริมาณ วันที่ 01/03/2011   20:48:35
ความสำคัญ ของ ดาวพฤหัส ใน ดวงชะตา ในทัศนะของ โหราศาสตร์ตะวันตก และ โหราศาสตร์ตะวันออก วันที่ 01/03/2011   20:49:00
กฎของ การครบวงจร ใน การพยากรณ์ ดาวพระเคราะห์ จร วันที่ 01/03/2011   20:49:25
พฤหัส ดี และ เสาร์ ร้าย จริงๆ หรือ วันที่ 27/07/2009   08:56:20 article
บทเรียน ที่ต้องเรียน จาก สึนามิ (Tsunami) วันที่ 01/03/2011   20:50:01
ปฏิทินโหร โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:30:28 article
ปัญหาเรื่องอยนางศ โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:21:50 article
อยนางศ โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:26:07 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| โหรา-ประวัติศาสตร์ | โหรา-ไอที | หลักโหรโดนใจ | บทความสมทบ | โหรา-โปรแกรม | ผู้จัดทำ/ผู้สนับสนุน | Site Map |

Custom Search


ติดต่อนายโรจน์ E-mail: webmaster@rojn-info.com
หรือ Mobile: 08-1697-3098
(อาจไม่สะดวกรับสายในบางเวลา)
ยังไม่เปิดสอนและไม่รับพยากรณ์เป็นส่วนตัว
กรุณาอย่าใช้โทรศัพท์หรือส่งอีเมล์มาขอดูดวง เพราะไม่มีเวลาตอบ



มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ โหราศาสตร์แนว อ.จรัญ พิกุล - AstroClassical.com HoraUranian.com ดูดวง
โหราศาสตร์กับเครื่องประดับ บ้านฮวงจุ้ย (fengshuihut.com) ตลาดวิชาฮวงจุ้ยและดวงจีน ผูกดวง/ยูเรเนียนออนไลน์ (MyHora.com)

รวมลิงค์ : เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
eXTReMe Tracker