ReadyPlanet.com
dot dot dot
dot
สำหรับสมาชิก
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
dot
dot
bulletหลักโหรโดนใจ
bulletหลักโหร-ศิวเมษ
bulletโหรา-ประวัติศาสตร์
bulletโหรา-ไอที
bulletโหรา-โปรแกรม
bulletDemo/Freeware
bulletโปรแกรม Virgo07
bulletDelphi กับ Swiss Ephemeris
bulletผูกดวงออนไลน์กับ Astrotheme.com
bulletพิกัดภูมิศาสตร์ ประเทศไทย
bulletwebboard ผลัดกันเขียนเวียนกันอ่าน
dot
dot
bulletกำพล ภาระโภชน์ (Astroman) - ยูเรเนียน
bulletโรงเรียนโหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน
bulletอดิเทพ ศรีรัตนไพฑูรย์ - ยูเรเนียน
bulletอาคม ชูจันทร์ - ยูเรเนียน, ลายมือ
bulletชาญชัย เดชะเสฏฐดี (ผู้ร่วมเขียนบทความ)
bulletอาจารย์ ธนกร ตันติถาวร - ยูเรเนียน
dot
dot
bulletประวัติ
bulletการติดต่อ
bulletภาพยนตร์ประวัติศาสตร์
bulletRojnChin's Channel (YouTube)
bulletRojnChin's Blog
bulletร้านค้าออนไลน์
dot
dot
bulletโรงเรียน โหราศาสตร์ ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน
bulletAstro.com
bulletพยากรณ์ดอทคอม
bulletมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยฯ
bulletโหราศาสตร์แนวอาจารย์จรัญ พิกุล
bulletโหรายูเรเนียนดอทคอม
bulletบ้านฮวงจุ้ย
bulletวารสารโหราเวสม์
bulletUranianSoft.com
bulletดูดวงกับ GooSiam.com
bulletMyHora.com: ดูดวงยูเรเนียนออนไลน์
bulletAstro-Seek.com: Full Moons & New Moons
bulletAstro-Seek.com: Aspect Search Engine
bulletLatitude&Longitude เมืองต่างๆ ทั่วโลก
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC
bulletรวม Link เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
bulletแผนผังเว็บไซต์ (Site Map)






ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์


CURRENT MOON


dot
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์ และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 8: สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส
วันที่ 01/03/2011   20:41:56


(เชิญฟังเพลงประกอบบทความ - ปาริชาติ โดย สุนทราภรณ์)

 

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร             ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร         ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ       พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา    เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่     เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง    เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
 
“พระอภัยมณีตอน ศึกนางละเวงวัณฬา” โดย   สุนทรภู่
 
1. บทนำ
 
ความรักระหว่างหญิงกับชายที่เกิดด้วยบุพเพสันนิวาสนั้น เป็นความรักในอุดมคติที่ดีที่สุดและพึงปราถนาที่สุดตามความเชื่อของไทยเรามาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน บทความชุดนี้ในตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงคำจำกัดความของ “บุพเพสันนิวาส” จากแหล่งอ้างอิงต่างๆและได้สรุปความหมายที่จะใช้ในบทความชุดนี้ซึ่งสรุปไว้ 4 ประการคือ
 
· การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อน
· เมื่อมาพบกันในชาตินี้ก็บังเกิดความรักต่อกันขึ้นมาทันที
· ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองย่อมต้องเต็มไปด้วยความรักและเปี่ยมสุข
· พบได้ยาก ถ้าได้พบนับว่าเป็นวาสนา
 
เนื้อหาในตอนนี้ จึงเป็นการศึกษาพิจารณาว่าโครงสร้างทางโหราศาสตร์โครงสร้างใดที่อาจเป็นเครื่องหมายชี้บอกว่า หญิงชายคู่นั้นมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อนได้บ้าง ซึ่งหลักวิชาโหราศาสตร์ที่กล่าวถึงโครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” นั้นมีลักษณะทำนองเดียวกันกับ “สัญญาณคู่แท้” ในบทความชุดนี้ตอนที่ 6 กล่าวคือ “บุพเพสันนิวาส” เป็นเรื่องของความรักในอุดมคติที่พึงปรารถนาที่สุดเหมือนกับ “คู่แท้” โดยเป็นเรื่องที่เป็นทั้งนามธรรม (Abstract) และเป็นเรื่องในอุดมคติ (Idealism) อย่างสุดโต่งเหมือนกันต่างกันเพียงมีที่มาจากปรัชญาความเชื่อและอุดมคติที่แตกต่างกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก (ไทย) เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่การเก็บสถิติ และทดสอบความถูกต้องแทบจะทำไม่ได้เลย ผู้สนใจคงต้องทดลองนำไปใช้ดูว่าในทางปฏิบัติได้ผลอย่างไร
 
2. “บุพเพสันนิวาส” กับ “คู่แท้”
 
จากเนื้อหาในรายละเอียดที่ได้กล่าวไว้ในบทความชุดนี้ตอนที่ 2 สามารถนำมาสรุปเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง “บุพเพสันนิวาส” กับ “คู่แท้” ได้ดังนี้
 
1) “บุพเพสันนิวาส” เป็นความรักในอุดมคติระหว่างหญิงกับชายตามปรัชญาของไทยเรา ที่ถือกันว่าดีที่สุดและพึงปรารถนาที่สุด ในขณะที่ “คู่แท้” เป็นความรักในอุดมคติระหว่างชายกับหญิงตามความเชื่อและปรัชญาในอารยะธรรมตะวันตก ที่ถือว่าดีที่สุดและพึงปรารถนาที่สุดเช่นกัน
 
2)  เงื่อนไขหลักตามปรัชญาตะวันตกที่รองรับหลักการในเรื่อง .”คู่แท้” คือคำสอนของนักปราชญ์ชาวกรีก “เพลโต้” ซึ่งสรุปได้ว่าหญิงชายที่เป็นคู่แท้ของกันและกันนั้น แต่ละคนจะมีคุณสมบัติครึ่งหนึ่งที่จะเต็มเต็มได้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติอีกครึ่งหนึ่งของอีกฝ่าย ถ้าทั้งสองคนได้มาครองชีวิตคู่ร่วมกัน ก็เท่ากับว่าสองครึ่งของทั้งหมดได้มารวมกันให้เป็นหนึ่งเดียวที่เติมเต็ม ปรัชญาตะวันตกถือว่านี่เป็นสุดยอดของความสุขความสมบูรณ์ที่มนุษย์ปุถุชนจะบรรลุถึงได้ บางความเชื่อบางสำนักให้ความเห็นว่า “ความสุขสมบูรณ์ ความเติมเต็ม” ที่ได้รับนั้นอาจเทียบได้ถึงขนาดกับการบรรลุโมกษะ นิพพาน หรือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า  (Sumum Bonum)
 
3) เงือนไขหลักตามความเชื่อของไทยเราที่รองรับหลักการในเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่กล่าวก่อนหน้านี้คือ
· การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อน
· เมื่อมาพบกันในชาตินี้ก็บังเกิดความรักต่อกันขึ้นมาทันที
· ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองย่อมต้องเต็มไปด้วยความรักและเปี่ยมสุข
· พบได้ยาก ถ้าได้พบนับว่าเป็นวาสนา
 
เงื่อนไขสองข้อสุดท้าย เป็นเงื่อนไขสืบเนื่องมาจากสองเงื่อนไขแรกในทางตรรกะเท่านั้น เพราะเมื่อคนที่รักกันได้อยู่ด้วยกัน ชีวิตคู่ของทั้งสองคนย่อมต้องเต็มไปด้วยความรักและเปี่ยมสุขแน่นอน ส่วนความรักและการครองชีวิตคู่ที่เกิดด้วยบุพเพสันนิวาส ซึ่งเป็น “รักในอุดมคติ” นั้นย่อมไม่สามารถพบได้ง่ายๆแน่นอน การได้พบย่อมนับว่าเป็นวาสนา ดังนั้นในทางตรรกะวิทยา จึงมีเพียงโครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่รองรับเงื่อนไขสองข้อแรกได้เท่านั้นที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส”
 
3. เงื่อนไขหลัก “บุพเพสันนิวาส” ข้อที่ 1 “การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อน”
 
ก่อนที่จะไปพิจารณาโครงสร้างทางโหราศาสตร์ ที่อาจเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” รองรับเงื่อนไขหลักข้อที่หนึ่งนั้น ผู้เขียนจะนำเนื้อหาที่หามาได้จากตำรับตำราและบทความต่างๆที่น่าสนใจ ที่กล่าวถึง “บุพเพสันนิวาส” และประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งที่สำคัญคือ “การเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติ” มาลงไว้สำหรับการพิจารณาในขั้นต่อไปดังนี้
 
(1) ชาดกในพระพุทธศาสนา
 
 
 
พระนางพิมพายโสธราพระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จออกผนวชและตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระนางพิมพาและพระโพธิสัตว์ได้ทรงเกิดมาเป็นคู่รักและหรือเป็นคู่ครองกันมานับอเนกอนันต์ชาติ บางชาติก็เกิดมาเป็นมนุษย์บางชาติก็เกิดมาเป็นเดรัจฉาน ผ่านความสุขและทุกข์ภัยของสังสารวัฏฏ์มาด้วยกันมากมายนับชาติไม่ถ้วน มีพบมีพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อใดที่ได้เกิดมาร่วมกัน ก็ส่งเสริมกันในการสร้างสมบุญบารมีโดยไม่ย่อท้อด้วยจิตที่เสมอกัน มีความผูกพัน ไม่โกรธไม่เคือง ไม่มีแม้เพียงสายตาที่ทอดดูกันด้วยความไม่พอใจ ความเสียสละของพระนางนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้พระโพธิสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมายากดีมีจน จะสุขหรือทุกข์ พระนางก็ไม่เคยทอดทิ้งพระโพธิสัตว์ไปไหน แม้พระโพธิสัตว์จะบริจาคทรัพย์สมบัติเป็นทานจนไม่มีส่วนเหลือ (พระเวสสันดรชาดก) พระนางก็ยินดีในทานนั้น แม้บุตรและธิดารวมทั้งตัวพระนางเองจะถูกบริจาคเป็นทาน พระนางก็ไม่เคยโกรธ ทั้งสองได้เป็นคู่ครองกันมาจนถึงชาติอันเป็นที่สุด ซึ่งพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพระนางพิมพาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัวอย่างชาติภพที่พระนางพิมพาได้ทรงเกิดมาเป็นคู่รักและหรือคู่ครองกับพระโพธิสัตว์เช่น
 
· ชาติสุดท้ายก่อนที่พระโพธิสัตว์จะเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระเวสสันดร พระนางพิมพาเกิดเป็นนางมัทรี
· พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมาณพหนุ่มรูปงามนามว่า อทุฏฐมาณพ พระนางพิมพา เกิดเป็นบุตรีของชาวชนบทปลายแดนนามว่าจันทมาลากุมารี
· พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงส์ทอง พระนางพิมพาก็ได้เกิดเป็นนางหงส์ซึ่งเป็นภรรยาของพญาหงส์ทองนั้น เฝ้าผูกพันรักใคร่กันอยู่พร้อมกับหมู่หงส์ที่เป็นบริวารในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง
· พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระบรมกษัตริย์ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครกุมภวดี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าวังคราช พระนางพิมพาถือกำเนิดเป็นนางกินรีอยู่ที่สุวรรณคูหาถ้ำทองอันประเสริฐ ณ หิมวันตประเทศ
· พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาวานร อาศัยอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง พระนางพิมพาเกิดเป็นมกฏนารี และได้สมัครสังวาสเป็นสามีภรรยากันกับพญาวานรนั้น
· พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาปลาดุก พระนางพิมพาเกิดเป็นปลาดุกตัวเมีย ได้สมัครรักใคร่ผูกพันเป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ในท้องนทีแห่งหนึ่งเป็นสุขอยู่ตามประสาสัตว์เดียรฉาน
· พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเกิดในตระกูลทุคตะเข็ญใจ มีนามว่า อติทุกขมาณพ พระนางพิมพานี้ ก็ได้เกิดเป็นนางกุมารี ผูกสมัครรักใคร่เป็นสามีภรรยากัน อาศัยอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งตามประสายาก
 
ความรักระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระนางพิมพาที่ได้เกิดมาเป็นคู่รัก และหรือเป็นคู่ครองกันมานับได้เป็นเอนกอนันต์ชาติจนถึงการเกิดชาติสุดท้ายของคนรักทั้งสองนั้น ถือได้ว่าเป็นความรักที่เกิดขึ้นด้วย “บุพเพสันนิวาส” โดยแท้
 
 (2) กามนิต กับ วาสิฏฐี
 
 
  กลิ่นล่องลมมา หอมปาริชาติสวรรค์
กลิ่นเจ้าเท่านั้น สัมพันธ์ชาติที่ผ่าน
ดอกเจ้าก็งาม สมนามเขากล่าวขาน
สีแดงงามตระการ พิศเพียงแก้วประพาฬ ดอกไม้วิมานสุขาวดี
กลิ่นเจ้าล่องลม พริ้วพรมมาแห่งนี้
กลิ่นเจ้ายวนยี ฤดีให้ป่วนปั่น
กลิ่นเจ้าดลใจ โน้มในฤทัยฝัน
ภพชาติแต่เบื้องบรรพ์ นึกได้โดยฉับพลัน กลิ่นทิพย์ผูกพันสวรรค์ดลใจ
 

 

เมื่อกามนิตได้พบกับวาสิฏฐีที่แม่คงคาในสวรรค์ ตามที่ทั้งสองได้ให้ปฏิญญาต่อกันไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น ทั้งสองได้ไปถึงลานปาริชาติบนสวรรค์และได้สูดกลิ่นหอมของดอกปาริชาติที่มีสีแดงดังแสงชาด จึงค่อยๆระลึกถึงชาติก่อนๆ แจ่มแจ้งขึ้นเป็นลำดับย้อนหลังล่วงไปในอดีตชาติอันไกลแสนไกล เช่น
 
ได้เห็นตัวเองบางชาติอยู่ในปราสาท บางชาติก็อยู่ในกระท่อม ไม่ว่าจะเกิดเป็นกฎุมพีหรือเข็ญใจ ก็เห็นความรักที่ทั้งสองได้มีต่อกันมาอย่างมั่นคงเสมอมาตลอด ในชาติหนึ่งทั้งสองมีความรัก และความสุขอันเต็มเปี่ยมตลอดกาล แต่อีกชาติหนึ่งต้องตายจากกันไปตามกรรมที่ทำไว้ แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นชาติใด จะได้รับสุขหรือตกทุกข์ความรักของทั้งสองคงมีน้ำหนักเท่ากันเป็นอย่างเดียวทุกๆชาติ
 
ในครั้งมหาภารตะยุทธ กามนิตเกิดเป็นวีระบุรุษคนหนึ่ง ได้ตัดใจจากนางอันเป็นที่รักขึ้นช้างศึกยกทัพไปสู่หัสตินาปุระเพื่อช่วยกษัตริย์ปาณฑพผู้สหายรบกับพวกเการพ ขณะกามนิตเข้าสู่สงครามอยู่ข้างพระอรชุน และพระกฤษณะ ณ ทุ่งกุรุ ได้ต่อสู้ศัตรูจนตัวตายลงในสมรภูมิวันที่สิบ แห่งมหาสงครามครั้งนั้น ฝ่ายนางผู้ชายาเมื่อทราบว่ากามนิตถึงแก่ความตาย ก็เข้าสู่กองเพลิงพร้อมกับนางบริวาร โดยนางเป็นผู้จุดกองเพลิงด้วยตนเอง
 
ในอีกชาติหนึ่งไกลโพ้นไปในอดีต กามนิตเกิดเป็นนักดนตรีเร่ร่อนเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนต่างๆ กามนิตเดินทางถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเวลาเย็น ชาวบ้านกำลังต้อนสัตว์เลี้ยงกลับ ที่ข้างหน้าฝูงสัตว์หมู่หนึ่งมีสาวน้อยร่างระหงเดินตามโคเชื่องตัวหนึ่ง เสียงกระดิ่งที่คอโคตัวนั้นดังเป็นจังหวะให้โคตัวอื่นเดินตามมา ช้าๆนานๆโคเชื่องตัวนั้นก็แลบลิ้นเลียมือนายสาวของมัน กามนิตชายพเนจรปราศรัยกับสาวน้อยตามธรรมเนียม สาวน้อยต้อนรับด้วยอาการยิ้มแย้ม ทั้งสองก็สบตากันมีลักษณอาการไม่ผิดจากที่เคยพบกันในสวนกรุงโกสัมพีเมื่อในชาติหลังเลย
 
พ้นชาตินั้นก็เห็นชาติที่ถัดขึ้นไป คราวนี้ไม่ใช่เกิดอยู่ในแดนแม่น้ำทั้งห้าหรือในลุ่มแม่น้ำคงคา แต่เป็นแดนอื่นอันมีประชาชนและขนบธรรมเนียมทรามกว่าที่แล้ว เป็นภาพทุ่งกว้าง มีคนขี่ม้า กองเกวียนและคนเดินมาเป็นแถวไม่ขาดสาย ภูมิประเทศขาวสล้างด้วยหิมะในอากาศมีละอองเป็นปุยขาวอยู่ทั่วไป ภูเขาสูงตระหง่านและถมึนทึน ในเกวียนเทียมโคเล่มหนึ่ง มีผ้าคลุมเป็นหลังคาคล้ายกระโจม สาวน้อยคนหนึ่งผลุนผลันชะโงกหน้าออกมานอกเกวียน เร็วจนหนังแกะที่คลุมร่างกายไว้ตกเลื่อนลงมาเห็นผมสยายยาวลงมากระทั่งอุระ มีอาการวิตกจ้องมองและยกมือชี้ไปทางที่คนอื่นก็มองและชี้นิ้วเช่นเดียวกัน เห็นเป็นพวกคนขี่ม้าวิ่งห้อกระบวนหนึ่งตรงมายังที่ตนอยู่ แต่สาวน้อยมองไปที่ชายหนุ่มคนหนึ่งขี่โคดำอยู่ในพวกเดียวกันมีอาการยิ้มเป็นเชิงไว้ใจชายหนุ่มคนนั้น อาการมองแห่งสาวน้อยทำให้ชายหนุ่มนั้นมีน้ำใจและเหิมกำลังยิ่งขึ้นแกว่งขวานที่ถือเป็นอาวุธ ร้องเสียงดังแล้วเข้ากับพวกช่วยกันต้านทานศัตรูที่ขี่ม้ายกเข้ามาตีปล้น ได้ต่อสู้จนถูกลูกธนูเหล็กของพวกศัตรูถึงแก่ความตาย
 
อาศัยกลิ่นปาริชาติทำให้ระลึกชาติเหนือๆขึ้นไปได้ในอดีตภพนานไกล คราวนี้เห็นตนทั้งสองเกิดเป็นกวางสองตัวผัวเมีย อยู่ในป่ากว้างใหญ่แห่งหนึ่ง อันความรักของทั้งสองในชาตินั้นแสดงออกได้เพียงทางนัยน์ตาเท่านั้น จะแสดงกันด้วยวาจาหาได้ไม่ แต่กระนั้นความรักที่เคยมีอยู่ในชาติหลังมั่นคงเพียงใด ก็ย่อมมีอยู่ในชาตินั้นมั่นคงปานๆกัน กวางทั้งสองแสวงหาหญ้ากินเป็นอาหารด้วยกัน ลุยข้ามลำธารอันใสเย็นที่ในป่าด้วยกัน เวลาพักนอนอยู่บนหญ้าอ่อนที่ขึ้นสูงระหงด้วยกัน ก็มีความสุขร่าเริงหรือตกใจหวาดหวั่นต่อภัยอันตราย เมื่อได้ยินเสียงแกรกกรากก็ด้วยกัน เป็นดั่งนี้มาช้านานหลายปี จนวันหนึ่งถึงคราวจะต้องพรากจากกันไป นางกวางเข้าไปติดข่ายนายพราน กวางผัวพยายามเอาเท้าเขี่ยเพื่อให้ข่ายหลุด พยายามแล้วพยายามเล่าไม่สำเร็จผล จนนายพรานมา กวางผัวก็มิได้หวาดกลัว เข้าเผชิญหน้าก้มศรีษะลงจะขวิด แต่ในไม่ช้าก็ต้องหอกของนายพรานถึงแก่ความตายไปทั้งคู่
 
ถัดขึ้นไปอีก ทั้งสองเกิดเป็นนกอินทรีผัวเมียมีรังอยู่บนยอดเขาอันสูงตระหง่านแสนกันดารยากที่ใครๆจะขึ้นถึง เมื่อมองลงจากที่นั้นจะเห็นเป็นเหวลึกลงมา นกทั้งสองได้ร่อนเร่ไปในอากาศด้วยความบันเทิงใจ จนจวบกาลอายุขัย
 
ความรักระหว่างกามนิตกับวาสิฏฐีที่ได้เป็นคู่รัก และหรือเป็นคู่ครองกันมานับได้เป็นเอนกอนันต์ชาตินั้น ถือได้ว่าเป็นความรักที่เกิดขึ้นด้วย “บุพเพสันนิวาส” โดยแท้เช่นกัน
 
 (3) พยากรณ์สาร (สมาคมโหรแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2519)
 
บทความเรื่อง “ความตาย” โดย พันตรีจำรัส พริ้งทองฟู หน้า 71 ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “ตายแล้วไปไหน?” ไว้ดังนี้
 
ทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์กันมาแล้วว่า   ร่างกายของมนุษย์ทุกคนประกอบด้วยสสารดังนี้ ออกซีเจนร้อยละ 65 คาร์บอนร้อยละ 18 ไฮโดรเจนร้อยละ 10 ไนโตรเจนร้อยละ 3      แคลเซี่ยมร้อยละ 2 ฟอสฟอรัสร้อยละ 1 นอกจากนั้นก็มีสสารอื่นๆอีกเล็กน้อยเช่น โปตัสเซี่ยม โซเดี่ยม คลอรีน แม็กนีเซี่ยม เหล็ก ไอโอไดน์ ฟลูโอรีน และซิลิคอน อีกร้อยละ 1 แต่มนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยชะตากรรมต่างกัน ก็เป็นเพราะกรรมเก่าและกรรมใหม่ที่สิงสถิตอยู่ในวิญญาณ ดังนั้นเมื่อตายไปแล้วร่างกายก็สลายตัวไปทางเคมีแต่วิญญาณซึ่งลอยออกจากร่างก็ไปสิงสถิตอยู่ในภพต่างๆกัน ซึ่งทางโหราศาสตร์ (ภาระตะ-ผู้เขียน) ท่านจำแนกออกเป็น 4 ภพ หรือ 4 โลก คือ
 
1. เทว-โลก       (Deva-Loka)
2. วิญญาณ-โลก (Pitru-Loka)
3. สัตว์-โลก       (Triyag-Loka)
4. นรก-โลก (Naraka-Loka)
 
การที่จะพิจารณาดวงชะตาว่า เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะไปสิงสถิตอยู่โลกใดนั้น ท่านให้พิจารณาจากภพที่ 6 หรือภพที่ 8 จากดวงชะตาว่ามีดาวเคราะห์ใดสถิตอยู่ในตรียางค์ใดในดวงชะตาดังนี้
 
ดาวพฤหัสบดี                              เทวโลก
ดาวจันทร์หรือดาวศุกร์                   วิญญาณโลก
ดาวอาทิตย์หรือดาวอังคาร              สัตว์โลก
ดาวเสาร์หรือดาวพุธ                      นรก
 
บุคคลที่ตายไปแล้วไปสู่นิพพานจะมีดาวพฤหัสสถิตอยู่ในภพที่ 1, 4, 7 หรือภพที่ 10 จากลัคนา
 
 (4) คัมภีร์ภวรรถรัตนากร
 
สูตรที่ 9 ราชาโยค โศลกที่ 15 :           พฤหัสบดีในเรือนที่ 3, ที่ 8 และที่ 9 จะให้ชื่อเสียงและความเจริญไพบูลย์ ถ้าพฤหัสบดีอยู่ในเรือนที่ 12 เมื่อตายแล้ววิญญาณจะไปสู่สวรรค์
 
(5) คัมภีร์ศุกรเกราล่ารหัสย
 
บทที่ 12 วัยยะภวะหรือเรือนที่ 12
 
โศลกที่ 3 สวรรค์หรือนรก:      เจ้าเรือนที่ 12 เป็นอุจ เมื่อเจ้าชะตาตาย วิญญาณจะไปสู่สวรรค์ ถ้าเป็นนิจไปสู่นรก ถ้าอยู่ในเรือนเป็นกลางตายแล้ววิญญาณไปเกิดใหม่
 
โศลกที่ 4 สวรรค์หรือนรก:      ถ้าเจ้าเรือนที่ 12 อยู่ในระหว่างขนาบของศุภเคราะห์ วิญญาณไปสวรรค์ อยู่ในระหว่างบาปเคราะห์จะไปนรก
 
โศลกที่ 5 สวรรค์หรือนรก:      ดาวเคราะห์ที่เป็นเกณฑ์แก่เรือนหรืออยู่ในเรือนที่ 12 ถ้าเป็นศุภเคราะห์วิญญาณจะไปสวรรค์ ถ้าเป็นบาปเคราะห์จะไปนรก ถ้ามีทั้งบาปเคราะห์และศุภเคราะห์จะไปเกิดใหม่
 
(6)    คัมภีร์พฤหัสปะราสะระโหราศาสตรา
 
บทที่ 25 เรือนที่ 12 วินาศนะ
 
โศลกที่ 9 :    ราหูสถิตในภพที่ 12 ร่วมกับ อังคาร เสาร์ และอาทิตย์ ภายหลังความตายวิญญาณของเจ้าชะตาจะไปสู่นรกภูมิ เช่นเดียวกันถ้าเจ้าเรือนภพที่ 12 กุมกับอาทิตย์ วิญญาณของเจ้าชะตาจะไปสู่นรกภูมิ
 
โศลกที่ 10     ถ้ามีดาวศุภเคราะห์สถิตในภพที่ 12 ในขณะที่ดาวเจ้าเรือนภพที่ 12 เป็นอุจ หรือ เป็นดาวชนะเคราะห์ยุทธ หรือได้รับแสงจากดาวศุภเคราะห์ เจ้าชะตาจะบรรลุโมกษะนิพพาน
 
 
 (7)   คัมภีร์พฤหัสชาดก
 
บทที่ 25 ความตาย
 
โศลกที่ 14     ด้าวเคราะห์เจ้าตรียางค์ที่อาทิตย์หรือจันทร์สถิตอยู่ (พิจารณาจากดาวเคราะห์ที่เข้มแข็งกว่า) เป็นดาวพฤหัส วิญญาณของเจ้าชะตาจุติมาจากสวรรค์ ถ้าเป็นจันทร์หรือศุกร์ วิญญาณของเจ้าชะตาจุติมาจากโลกวิญญาณ ถ้าเป็นอาทิตย์หรืออังคาร วิญญาณของเจ้าชะตาจุติมาจากโลกของสัตว์ และถ้าเป็นเสาร์หรือพุธวิญญาณของเจ้าชะตามาจากนรก
 
ถ้าดาวเคราะห์เจ้าตรียางค์ ที่อาทิตย์หรือจันทร์สถิตอยู่ (พิจารณาจากดาวเคราะห์ที่เข้มแข็งกว่า) เป็นอุจ เจ้าชะตาจะมีคุณลักษณะดีเยี่ยมในชาตินี้ ถ้าอยู่ในระศีระหว่างอุจกับนิจ เจ้าชะตาจะมีคุณลักษณะปานกลาง และถ้าเป็นนิจ เจ้าชะตาจะมีคุณลักษณะต้อยต่ำ
 
โศลกที่ 15     ถ้าเรือนที่ 6 และ 8 ว่างเปล่า เมื่อตายแล้ววิญญาณของเจ้าชะตาจะไปสู่ภพภูมิที่ดาวเคราะห์เจ้าตรียางค์ของเรือนที่ 6 หรือ 8 (พิจารณาจากดาวเคราะห์ที่เข้มแข็งกว่า) ชี้บอก ได้แก่ (ก), หรือวิญญาณจะไปสู่ภพภูมิที่หมายถึงดาวที่ครองเรือนที่ 6, 7 หรือ 8 (ข), และเช่นกัน ถ้าดาวพฤหัสครองเรือนที่ 6 หรือเรือนเกนทระ (1-4-7-10) เรือนใดเรือนหนึ่ง หรือเรือนที่ 8 และในขณะเดียวกันได้ตำแหน่งอุจ หรือลัคนาสถิตราศีมีนมีดาวพฤหัสกุมลัคนาและอยู่ในนวางค์ของดาวศุภเคราะห์ ในขณะที่ดาวเคราะห์อื่นๆไม่มีกำลัง เจ้าชะตาจะบรรลุความหลุดพ้นหลังจากสิ้นชีวิต (ค)
 
หมายเหตุ
 
หนึ่ง    ภพภูมิต่างๆของดาวเคราะห์ให้ดูโศลกก่อนหน้านี้
 
สอง    ถ้ามีดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปครองภพที่ 6, 7 และ 8 วิญญาณจะไปสู่ภพที่ดาวเคราะห์เจ้าการเข้มแข็งที่สุด
 
สาม    การเกิดในภพหน้าสามารถพิจารณาได้จากดวงชะตาขณะสิ้นชีวิตได้เช่นเดียวกับดวงชะตาขณะเกิด
 
 (8)    คัมภีร์โหราสะระ
 
ชีวิตหลังความตาย
 
ถ้าลัคนาอยู่ในเรือนของพฤหัสหรืออยู่ในวรรคของพฤหัส วิญญาณจะได้ไปอยู่ในสรวงสวรรค์ ถ้าอยู่ในเรือนของศุกร์ หรือจันทร์ วิญญาณจะได้ไปอยู่ในโลกของวิญญาณ ถ้าอยู่ในเรือนของอังคาร หรือลัคนาสถิตในราศีสิงห์ จะกลับมาเกิดในโลกมนุษย์ ถ้าเป็นเกตุวิญาณจะไปสู่นรก ถ้าลัคนาสถิตในราศีของพุธ จะเกิดเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ถ้าเป็นราศีของเสาร์หรือราหู หรือลัคนาอยู่ในราศีของเสาร์ เจ้าชะตาจะเกิดเป็นปีศาจร้าย
 
ถ้าเป็นราศีที่ไม่มีดาวเคราะห์สถิตอยู่เลย หรือไม่ได้รับแสงจากดาวเคราะห์ใดๆ .ให้พิจารณาจากดาวเจ้าเรือน (และผลจากธรรมชาติของดาวเคราะห์นั้น)
 
ถ้าพฤหัสอยู่ที่ปลายลัคนา หรือ ถ้าอาทิตย์กุมลัคนาในเรือนของพฤหัส เจ้าชะตาจะบรรลุโมกษะนิพพาน
 
(9)    ตำราโหราศาสตร์ไทยโดยทั่วไป
 
ตำราโหราศาสตร์ไทยโดยทั่วไปถ้าพูดถึงดาวเจ้าเรือนภพที่ 7 สถิตในภพที่ 7 คือได้ตำแหน่งเกษตรนั้น (ตัวอย่างเช่น ลัคนาสถิตราศีเมษ มีดาวศุกร์สถิตในราศีตุล ซึ่งเป็นเรือนเกษตรของศุกร์เอง และเป็นภพที่ 7 จากลัคนา) มักจะกล่าวไปในทางเดียวกันว่า จะได้คู่ครองดี ได้คู่ครองที่มีบุพเพสันนิวาสต่อกันมาแต่ชาติปางก่อน ผู้เขียนยังไม่เคยอ่านพบโครงสร้างอื่นในพื้นดวงชะตาในตำราโหราศาสตร์ไทยที่บอกว่า จะได้คู่ครองที่มีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อนอีกนอกจากโครงสร้างนี้
 
ส่วนตำราโหราศาสตร์ไทย ที่พูดถึงการเปรียบเทียบสมพงศ์ดวงชะตาระหว่างหญิงกับชายและกล่าวถึง “บุพเพสันนิวาส” ด้วยนั้น เท่าที่เคยอ่านพบมา (ดังที่เคยกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว) มีเพียงตำราของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตรเท่านั้น โดยท่านกล่าวไว้ในทำนองว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ อังคาร/ศุกร์ ในการเปรียบเทียบสมพงศ์ดวงชะตาระหว่างหญิงกับชายนั้น เป็นเครื่องหมายชี้บอกว่า หญิงชายคู่นั้นมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อน
 
 (10) ตำราโหราศาสตร์ตะวันตก (คลาสสิค) โดยทั่วไป
 
เท่าที่ศึกษาดูพบว่าโดยทั่วไปจะพิจารณาว่า ราหู และเกตุ เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้บอกเรื่องราวในอดีตชาติในการพิจารณาพื้นดวงชะตา และใช้บอกการเป็นคู่เวรคู่กรรม (Fated Relation, Karmic Relation) คือการเคยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาก่อนในอดีต จากสัมพันธภาพระหว่างราหูในดวงชะตาหนึ่ง กับปัจจัยอื่นๆในดวงชะตาที่นำมาเปรียบเทียบกันซึ่งเป็นโครงสร้างโหราศาสตร์โครงสร้างหนึ่งที่จัดเป็นสัญญาณคู่แท้ในตอนที่ 6 และขอนำมาลงซ้ำอีกดังนี้
 
อาทิตย์ หรือ จันทร์ หรือ ศุกร์ หรือ เมอริเดียน หรือลัคนา = ราหู(ควรจะครบวงจร)
เชื่อกันว่าโครงสร้างดังกล่าวทำให้คนทั้งสองมีความรู้สึกว่า "เคยทำแบบนี้มาแล้ว" รู้สึกว่าเคยมีสัมพันธ์กันเช่นนี้มาก่อนเคยอยู่ร่วมกันในสถานที่เช่นนี้รู้สึกคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมสถานที่และผู้คนรอบข้างเขาซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะรวมความรู้สึกที่ว่า “เคยรู้จักกันมาแล้ว” อีกด้วย
 
ผู้เขียนมีความเห็นว่าความรู้สึกตามวรรคก่อนก็คือ สัญญาณรางๆที่บอกให้รู้ว่าเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อนในอดีตชาตินั่นเอง ในตำราโดยทั่วไปไม่ได้จำกัดความสัมพันธ์ด้านซ้ายมือไว้แค่ 5 ปัจจัยที่เขียนไว้เท่านั้น แต่หมายถึงทุกปัจจัยทางโหราศาสตร์ซึ่งรวมถึงตัวราหูเองด้วย และแน่นอนถ้าเป็นจุดเจ้าชะตาและครบวงจรด้วยก็น่าจะชี้ชัดเจนมากขึ้นอีกถึงการเคยมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในอดีตชาติมาแล้ว
 
เนปจูนก็ได้รับการพิจารณาว่ามีส่วน ในการชี้ถึงความสัมพันธ์ในอดีตชาติด้วยเช่นกัน โดยจะทำให้ทั้งคู่มีความรู้สึกว่า เคยพบกันมาก่อนในความฝัน รู้สึกว่าจำใบหน้าและท่าทางในฝันของเธอหรือเขาได้ รู้ใจซึ่งกันและกัน (เช่น พอคิดถึงเขา เขาก็โทรมาพอดี) และอาจรู้สึกถึงกันได้ด้วยประสาทสัมผัสที่ 6 อีกด้วย ทำนองเดียวกับราหู ผู้เขียนเห็นว่าความรู้สึกนี้ก็คือ สัญญาณรางๆเช่นกันที่บอกให้รู้ว่าเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อนในอดีตชาติ โครงสร้างนี้คือ
จุดเจ้าชะตา หรือ พุธ หรือ ศุกร์ หรือ อังคาร = เนปจูน(ควรจะครบวงจร)
 
(11) หนังสืออนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์จรัญ พิกุล
 
หน้า 78
 
“ท่านจะบอกเคล็ดลับในการพยากรณ์ตลอดเวลา เช่นเรื่องคู่รักคู่ครองควรจะดูดาวอะไรเป็นหลัก ให้จับดาวอังคารกับดาวศุกร์ หากชายเป็นศุกร์ ผู้หญิงให้ดูดาวอังคาร กลับกันถ้าชายเป็นดาวอังคาร หญิงต้องเป็นดาวศุกร์ ถ้าดาวคู่กรณีกุมกันได้องศาสนิทแล้ว ชายหญิงคู่นี้หากได้พบกันครั้งแรกก็จะเกิดความรักใคร่กันทันที และจะได้เสียกันในโอกาสต่อไป หากดูว่าชายหญิงใดเป็นคู่แท้คู่สมพงษ์ ให้ดูดาวศุกร์กับดาวพลูโต ถ้าดาวศุกร์ฝ่ายหนึ่งกุมดาวพลูโตฝ่ายหนึ่ง จะกลายเป็นคู่รักใคร่แยกกันไม่ออก จะอยู่กันจนตายไปข้างหนึ่ง ซึ่งหมายถึงชะตาต้องกันชนิดที่ต้องมาใช้หนี้กรรมร่วมกันในชาตินี้”
 
ข้อความในวรรคข้างต้นกล่าวถึงโครงสร้าง 2 โครงสร้างในการสมพงศ์ดวงชะตาคือ อังคาร/ศุกร์ และศุกร์/พลูโต ความหมายของ อังคาร/ศุกร์ นั้นใกล้เคียงกับคำสอนของท่านอื่นๆที่เคยกล่าวไว้ในบทความชุดนี้ ส่วนโครงสร้าง ศุกร์/พลูโต นั้นผู้เขียนตีความว่าเป็นเครื่องหมายชี้บอกการเป็นคู่เวรคู่กรรม (Fated Relation, Karmic Relation)ที่เคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันมาในอดีตชาติที่จะต้องมาชดใช้กันต่อในชาตินี้
 
 (12) โครงสร้างจากตำราหรือบทความอื่นๆที่ให้นัยหมายถึงการเคยมีความสัมพันธ์ในอดีตชาติต่อกันมาก่อน
 
ก. จากบทความชุดนี้ ตอนที่ 6 โครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รังสี อาทิตย์/จันทร์ ซึ่งเป็นสัญญาณชี้บอกที่แม่นยำเฉียบขาดยิ่งว่า หญิงชายคู่นั้นมีกรรมเก่าที่รุนแรงต่อกัน ชนิดที่ว่าจะต้องมาชดใช้กันในชาตินี้ด้วยการเป็นสามีภรรยา และมีโอกาสหลีกเลี่ยงได้น้อยมาก ดังนั้นการมีกรรมเก่าที่รุนแรงต่อกันได้ย่อมหมายความว่าเคยมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกันมาแล้วในอดีตชาตินั่นเอง
 
ข. การมีจุดเจ้าชะตาสัมพันธ์ถึงกันมากๆ (บทความชุดนี้ ตอนที่ 4) โดยเฉพาะเมอริเดียนกับลัคนาด้วย   ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะมีความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งต่อกันในชาตินี้มีสูง ย่อมมาจากการที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาในอดีตทำนองเดียวกับข้อ ก ที่อาจเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใดๆก็ได้
 
ค. โครงสร้าง จันทร์ในดวงหญิงและชายกุมกันสนิทองศา
โครงสร้างนี้น่าสนใจ เพราะมีตำราทั้งทางตะวันตกและของไทยเรากล่าวในทำนองเดียวกันว่ามีความสำคัญมากในการเปรียบเทียบสมพงศ์ดวงชะตา ตัวอย่างเช่น
Intimate Relationships Edited by Joan McEvers หน้า 199 กล่าวไว้ว่า โครงสร้างนี้เป็นเครื่องหมายชี้บอกว่า มีอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงระหว่างคนทั้งสอง หรือไม่ก็เป็นความผูกพันทางชะตากรรม (karmic bond,พันธะจากอดีตชาติ) โครงสร้างนี้จะช่วยให้ทั้งสองคนมีความเข้าใจที่ดียิ่งระหว่างกัน โครงสร้างนี้อาจเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองคนเคยมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต่อกันมาในอดีตชาติก็ได้ ความรู้สึกลึกๆของทั้งสองคนที่มีร่วมกันว่าทั้งสองมีชะตากรรมร่วมกันจะช่วยดึงดูดและผูกพันทั้งสองคนไว้ด้วยกัน ทั้งสองอาจมีปัญหาบางประการที่ผูกพันมาจากอดีตชาติที่จะต้องมาร่วมกันแก้ไขในชาตินี้ หรือทั้งสองอาจต้องมาร่วมกัน ทำให้เป้าหมายภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่ติดค้างกันอยู่ในอดีตชาติให้สำเร็จลุล่วงในชาตินี้
 
ตำราโหราศาสตร์-สมพงศ์ โดยอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ในหัวข้อจันทร์สมพงศ์
หน้า 66 กล่าวว่า ถ้า จันทร์ (๒) ในชาตาชาย ชาตาหญิง อยู่ร่วมราศีกัน ร่วม
นักกษัตร์ (ฤกษ์) ร่วมนวางค์ ท่านว่าอยู่ด้วยกันประเสริฐนักแล
 
ตำราสมพงศ์และฤกษ์ โดยอาจารย์จำรัส ศิริกล่าวไว้ว่า ถ้าจันทร์ชายและหญิงอยู่ร่วมราศีเดียวกันดี ถ้าเสวยฤกษ์เดียวกันดีนักแล (ในข้อนี้จริงตามที่ผมได้เรียนแล้วข้อ 18 แต่กระซิบว่า พบมาแล้วดีนักที่เขาถึงความสำเร็จพร้อมกันทุกคราว-อาจารย์จำรัส ศิริ)
 
นอกจากนี้ในคัมภีร์อินเดียโบราณเกือบทุกคัมภีร์กล่าวตรงกันหมดว่า ในการสมพงศ์ดวงชะตานั้น การกุมกันระหว่าง จันทร์ชายและจันทร์หญิง ในราศี ฤกษ์ และนวางค์ เดียวกันนั้น เป็นเครื่องหมายที่เป็นมงคลยิ่งสำหรับคู่บ่าวสาวในการครองชีวิตคู่ร่วมกัน
 
ง. อาทิตย์กำเนิดในดวงชะตาหญิงและชายทำมุม 60 องศากันสนิท Linda Goodmanกล่าวไว้ในหนังสือ Love Signว่า โครงสร้างนี้เป็นเครื่องหมายชี้บอกว่า หญิงชายคู่นี้มีกรรมเก่าผูกพันกันมาจากอดีตชาติไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือไม่ก็ตาม และจะต้องมาชดใช้กันในชาตินี้
 
จากเนื้อหาที่หามาได้จากตำรับตำรา และบทความต่างๆที่น่าสนใจที่กล่าวถึงข้างต้น มีข้อพิจารณาสรุปได้ดังนี้คือ
 
3.1 ศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ซึ่งเป็นศาสนาหลักของอินเดียในปัจจุบันและเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาศาสนาหลักในโลกปัจจุบัน เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติ ความเชื่อนี้ ยังแสดงออกให้เห็นในคัมภีร์โหราศาสตร์โบราณฉบับต่างๆของอินเดียหลายฉบับที่เขียนโดยมหาฤๅษีและนักปราชญ์ในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น และในวรรณคดีเรื่องกามนิตกับวาสิฏฐีซึ่งเขียนขึ้นโดยวางเค้าโครงเรื่องตามอารยะธรรมอินเดียโบราณสมัยพุทธกาล
 
3.2 ในส่วนของศาสนาพุทธนั้น ถ้าว่ากันตามตัวหนังสือแล้วมีการกล่าวถึงเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติไว้ ทั้งในพระไตรปิฎกของนิกายหินยาน และมหายาน ซึ่งเป็นเรื่องราวในสมัยที่พระพุทธองค์เมื่อครั้งยังไม่บรรลุนิพพานเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์มีบุพเพสันนิวาสกับพระนางพิมพายโสธรา มานับอเนกอนันต์ชาติจนกระทั่งชาติสุดท้ายของการเกิด ที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพายโสธราก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
 
3.3 น่าแปลกมากที่คัมภีร์โหราศาสตร์ของของอินเดียโบราณ จะพูดถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติไว้เป็นหัวข้อหลักข้อหนึ่งเสมอ แต่ในเรื่องการสมพงศ์ดวงชะตา ผู้เขียนกลับไม่เคยพบว่ามีตำราหรือคัมภีร์ฉบับใด ที่มีการกล่าวถึงเรื่องการเกิดข้ามภพข้ามชาติและเรื่องในทำนอง “บุพเพสันนิวาส” ในการเปรียบเทียบสมพงศ์ดวงชะตา
 
3.4 ในทางตรงกันข้าม ตำราโหราศาสตร์ตะวันตกกลับมีกล่าวถึงเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติ (Reincarnation) และนำมาใช้ในการพิจารณาสมพงศ์ดวงชะตาด้วยโดยเรียกว่า สัมพันธ์ภาพที่เกิดจากความสัมพันธ์ในอดีตชาติ (Fated Relation, Karmic Relation).ทั้งๆที่ความเชื่อในคริสต์ศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักของฝรั่ง ปฏิเสธเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติ โดยสอนว่าเมื่อคนเราตายไปนั้น ดวงวิญญาณจะไปรอการตัดสินของพระเจ้าในวันสิ้นโลก โดยคนที่ทำความดีจะได้ไปอยู่ร่วมกับพระเจ้าอย่างเป็นสุขชั่วนิรันดรบนสวรรค์ ส่วนคนชั่วจะต้องไปรับโทษทุกข์ในขุมนรกชั่วกัปชั่วกัลป์
 
3.5 เงื่อนไขทางโหราศาสตร์เท่าที่กล่าวถึงในหัวข้อนี้ทั้งหมด เพียงชี้ว่าทั้งสองคนอาจเคยมีความสัมพันธ์ต่อกันมาแล้วในอดีตชาติเท่านั้น (ยกเว้นโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์) แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นสัมพันธภาพในรูปแบบใด สามี ภรรยา บิดา มารดา พี่น้อง มิตร หรือศัตรู ฯลฯ และไม่ได้บอกด้วยว่าเป็นสัมพันธภาพที่ดีหรือร้ายอย่างไรอีกด้วย
 
3.6 อย่างไรก็ตามการมีโครงสร้างการสมพงศ์ดวงชะตา ที่ชี้บอกถึงการเคยมีสัมพันธ์กันมาก่อนในอดีตชาติย่อมช่วยเพิ่มโอกาสในการที่จะ “เคยมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อน” ระหว่างหญิงชายคู่นั้นให้มากขึ้น
 
3.7 โครงสร้างต่างๆทางโหราศาสตร์ที่อาจชี้บอกว่า หญิงชายคู่นั้นได้เคยมีความสัมพันธ์กันมาแล้วในอดีตชาติ เท่าที่ได้ศึกษาในบทความชุดนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
 
ก. อังคาร/ศุกร์
 
ข. อาทิตย์ หรือ จันทร์ หรือ ศุกร์ หรือ เมอริเดียน หรือลัคนา = ราหู(ควรจะครบวงจร)
 
ค. จุดเจ้าชะตา หรือ พุธ หรือ ศุกร์ หรือ อังคาร = เนปจูน(ควรจะครบวงจร)
 
ง. ศุกร์/พลูโต
 
จ. (1)   อาทิตย์ หรือ จันทร์ = ศูนย์รังสี อาทิตย์/จันทร์
    (2)  ศูนย์รังสีของ(ศูนย์รังสี อาทิตย์/จันทร์) ของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง = อาทิตย์หรือ จันทร์ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
 
ฉ. จุดเจ้าชะตาระหว่างดวงชะตาทั้งสองสัมพันธ์ถึงกันหลายจุด
 
ช. จันทร์ในดวงชะตาหญิงและชายกุมกันสนิทองศา
 
ซ. อาทิตย์กำเนิดในดวงชะตาหญิงและชายทำมุม 60 องศาต่อกันสนิทองศา
 
4. เงื่อนไขหลัก “บุพเพสันนิวาส” ข้อที่ 2 “เมื่อมาพบกันในชาตินี้ก็บังเกิดความรักต่อกันขึ้นมาทันที
 
4.1 ความรักที่เกิดจากบุพเพสันนิวาส?
 
(1)       การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อนนั้น ควรเป็นการอยู่ร่วมกันด้วยความรักที่เกิดจากบุพเพสันนิวาสด้วย ตัวอย่างจากชาดกในพระพุทธศาสนาและวรรณคดีเรื่องกามนิตกับวาสิฏฐีจะเห็นได้ว่า ในบางภพบางชาติทั้งสองคนก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่กลับต้องไปแต่งงานใช้ชีวิตคู่กับคนอื่น เช่นวาสิฏฐีต้องไปแต่งงานเป็นภรรยาของสาตาเคียรเป็นต้น ..หรือในบางภพชาติก็ต้องตายจากพลัดพรากกันไปเสียก่อน ตามผลบุญผลกรรมที่ตามติดมาในภพชาตินั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปในบทความชุดนี้ก่อนหน้านี้ที่ว่า ส่วนใหญ่ของคู่สมรสนั้น เป็นการแต่งงานโดยพิจารณาจากความเหมาะสมของสถานะในสังคมเป็นสำคัญ มิใช่เกิดจาก “บุพเพสันนิวาส” แต่อย่างใด ดังนั้นผู้เขียนจึงปรับปรุงเนื้อหาของเงื่อนไขในข้อหนึ่งเพิ่มเติมเป็น “การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อน ด้วยความรักที่เกิดจากบุพเพสันนิวาส” การเคยอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อนในกรณีอื่นๆเช่นด้วยความเหมาะสม ด้วยการมีกรรมผูกพันกันมา รวมถึงการเป็น "คู่เวร คู่กรรม” ที่ตามมาจองล้างจองผลาญกัน ฯลฯ เป็นเพียงลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า “การมีพันธะผูกพันกันมาแต่อดีตชาติ” (Fated Relation, Karmic Relation) ถ้าใช้ภาษาคณิตศาสตร์ก็คือ “บุพเพสันนิวาส” เป็นเพียง ซับเซ็ท (subset) เล็กๆหนึ่งของ “การมีพันธะผูกพันกันมาแต่อดีตชาติ” เท่านั้น
 
(2)        ความรักที่เกิดด้วยบุพเพสันนิวาสเป็นเช่นไร ก็คงต้องเป็นเช่นความรักที่มีต่อกันระหว่างพระโพธิสัตว์กับพระนางพิมพายโสธรา และกามนิตกับวาสิฏฐี ในทุกภพทุกชาติของการเกิด ที่ยากต่อการเขียนบรรยายออกมาเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน การยกตัวอย่างจากเนื้อหาในเรื่อง “กามนิตกับวาสิฏฐี” น่าจะอธิบายได้ดีกว่าเช่น
 
“ได้เห็นตัวเองบางชาติอยู่ในปราสาท บางชาติก็อยู่ในกระท่อม ไม่ว่าจะเกิดเป็นกฎุมพีหรือเข็ญใจ ก็เห็นความรักที่ทั้งสองได้มีต่อกันมาอย่างมั่นคงเสมอมาตลอด ในชาติหนึ่งทั้งสองมีความรัก และความสุขอันเต็มเปี่ยมตลอดกาล แต่อีกชาติหนึ่งต้องตายจากกันไปตามกรรมที่ทำไว้ แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นชาติใด จะได้รับสุขหรือตกทุกข์ความรักของทั้งสองคงมีน้ำหนักเท่ากันเป็นอย่างเดียวทุกๆชาติ”
 
“ในอีกชาติหนึ่งไกลโพ้นไปในอดีต กามนิตเกิดเป็นนักดนตรีเร่ร่อนเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนต่างๆ กามนิตเดินทางถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเวลาเย็น ชาวบ้านกำลังต้อนสัตว์เลี้ยงกลับ ที่ข้างหน้าฝูงสัตว์หมู่หนึ่งมีสาวน้อยร่างระหงเดินตามโคเชื่องตัวหนึ่ง เสียงกระดิ่งที่คอโคตัวนั้นดังเป็นจังหวะให้โคตัวอื่นเดินตามมา ช้าๆนานๆโคเชื่องตัวนั้นก็แลบลิ้นเลียมือนายสาวของมัน กามนิตชายพเนจรปราศรัยกับสาวน้อยตามธรรมเนียม สาวน้อยต้อนรับด้วยอาการยิ้มแย้ม ทั้งสองก็สบตากันมีลักษณะอาการไม่ผิดจากที่เคยพบกันในสวนกรุงโกสัมพีเมื่อในชาติหลังเลย”
 
(3)        “เมื่อมาพบกันในชาตินี้ก็บังเกิดความรักต่อกันขึ้นมาทันที” ที่ว่าทันทีนั้นอย่างไร ผู้เขียนคิดว่าความเห็นของนักประพันธ์ชาวอียิปต์ “คาลิล ยิบราล” ที่ให้คำจำกัดความของความรักไว้น่าจะสมคล้อยกับความรักที่เป็นเงื่อนไขของ “บุพเพสันนิวาส” ข้อที่สองนี้ได้ดีที่สุดความเห็นหนึ่งได้แก่ “ที่คิดกันว่าความรักเกิดจากมิตรสัมพันธ์ยืนยาวและการเว้าวอนยืดเยื้อนั้นเข้าใจผิด ความรักถือกำเนิดจากความผูกพันทางวิญญาณ และถ้าแม้นความสัมพันธ์นั้นไม่ถูกรังสฤษฏ์ขึ้นในบัดดลใจแล้ว ก็ไม่อาจจะรังสฤษฏ์ขึ้นได้แม้นับเป็นปีหรือชั่วอายุคน”
 
คำจำกัดความและความเข้าใจที่ปรับปรุงเพิ่มเติมในหัวข้อย่อยนี้ จะใช้เป็นเงื่อนไขหลักในการพิจารณาโครงสร้างทางโหราศาสตร์ ที่จะมาตอบสนองเงื่อนไขหลักข้อที่สองของ “บุพเพสันนิวาส” ในบทความชุดนี้ต่อไป
 
4.2       โครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่น่าสนใจที่รองรับเงื่อนไขหลักข้อที่สองของ “บุพเพสันนิวาส”
 
(1)          โครงสร้างที่น่าสนใจที่สุดเป็นอันดับแรกย่อมต้องเป็นโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ ที่ได้กล่าวถึงมาโดยตลอดในบทความชุดนี้ ซึ่งตอบสนองเงื่อนไขข้อที่ สอง ของ “บุพเพสันนิวาส” ได้ดีที่สุดด้วยคือ
 
ก.         ทั้งโหราศาสตร์ตะวันออก และตะวันตก มีความเห็นตรงกันว่า โครงสร้างนี้ทำให้เกิด “รักแรกพบ” ระหว่างหญิงกับชาย ซึ่งเป็นการตอบรับเงื่อนไขข้อที่สอง ของ “บุพเพสันนิวาส” โดยตรง
 
ข.        ความเชื่อที่ว่า เป็นโครงสร้างที่ทำให้ความรักระหว่างหญิงกับชายคู่นั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับที่กลางวันและกลางคืนจะต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องหมุนเวียนกันไปชั่วนิรันดร เป็นการตอบรับเงื่อนไขข้อที่สองของ “บุพเพสันนิวาส” อีกสำทับหนึ่ง
 
ค.         ความเชื่อที่ว่า ถ้าหญิงชายทั้งสองได้หลับนอนเป็นสามีภรรยากันแล้ว จะไม่มีทางแยกชีวิตของทั้งสองออกจากกันได้อีก นอกจากความตายจะมาพราก เป็นการยืนยันความมั่นคงและจริงจังของความรักที่เกิดจากโครงสร้างนี้ว่าเป็นที่สุดของความรักระหว่างหญิงกับชาย ที่จะเกิดขึ้นได้ และเหมาะสมที่จะเป็นความรักที่เกิดจาก “บุพเพสันนิวาส” อันเป็นความรักที่ดีและมีคุณค่ามากที่สุดในอุดมคติ
 
คำกล่าวในข้อ ค.นั้นเป็นคำสอนของอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ซึ่งเมื่อผู้เขียนมาคิดใคร่ครวญดูในขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ และนำไปประกอบกับที่ท่านเขียนไว้ในตำราของท่านในทำนองว่า โครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ เป็นเครื่องหมายชี้บอกว่า หญิงชายคู่นั้นมีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อน ทำให้ผู้เขียนคิดว่าที่ท่านเขียนประโยคดังกล่าวไว้นั้น น่าจะหมายถึงกรณีที่มีโครงสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสมพงศ์ดวงชะตา และขณะเดียวกันทั้งสองคนก็ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซื้งเกิดขึ้นในชีวิตจริงแล้วด้วย จึงจะถือว่า “มีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อน” เพราะลำพังเพียงมีโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ ระหว่างกัน แต่ในชีวิตจริงไม่เคยได้มีโอกาสพบเจอกันเลย หรือพบเจอกันในสถานที่ เวลา และโอกาสที่ไม่เหมาะสม เช่นพบกันเมื่อฝ่ายหญิงอายุ 80 กว่า ขณะที่ฝ่ายชายเพิ่งจะอายุ 12 ขวบเป็นต้น ก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกับการไม่ได้เคยพบกันเลยนั่นเอง และแน่นอนย่อมไม่อาจบอกได้ว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” แต่อย่างใดอีกด้วย
 
(2)          ศุกร์ = จุดเจ้าชะตา (ต้องเป็นการถึงกันในลักษณะของการครบวงจร คือจุดเจ้าชะตาของทั้งสองฝ่ายให้แสงถึงศุกร์ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยกันทั้งคู่ เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการรักเขาข้างเดียว!)
 
(3)          จากลิลิตทักษาพยากรณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
ตนุศรีหญิงอยู่ต้อง               ตามแผน
ผูกลัคน์ชายชายแขวน           รักแล้ว
ชายฉะนี้สตรีแทน                แขวนรัก ชายนา
สองเสมอกันแล้ว                 บ่แคล้วบ่คล้อยคลากัน
 
กลอนบทนี้ผู้เขียนตีความว่า ถ้าเจ้าเรือนลัคนาของหญิงไปกุมลัคนาชาย ชายจะหลงรักหญิง และกลับกันเจ้าเรือนลัคนาชายไปกุมลัคนาหญิง หญิงจะหลงรักชาย ถ้าได้ครบวงจร ทั้งสองฝ่ายก็จะเกิดความรักความผูกพันซึ่งกันและกัน และจะครองชีวิตคู่อยู่ด้วยกันจนกว่าความตายจะมาพราก
 
ปัตนิชายเกี่ยวลัคน์               นางหมาย
หญิงผูกชายหมายชม            ชื่นไว้
ของนางร่วมลัคน์พนาย         ชายเสน่ห นางนา
ต่างผูกร่วมกันไซร้            สืบขู้คุณงาม
 
กลอนบทนี้ผู้เขียนตีความว่า ถ้าเจ้าเรือนปัตนิ (เรือนที่ 7) ของชายไปกุมลัคนาฝ่ายหญิง หญิงเป็นฝ่ายรักชาย ถ้ากลับกันชายเป็นฝ่ายรักหญิง ถ้าได้ครบวงจร หญิงชายทั้งสองจะครองคู่กันอย่างมีความสุขจนกว่าความตายจะมาพราก
 
(4)          หลักพื้นฐานของโหราศาสตร์ที่ว่า ถ้าดาวศุกร์ในดวงชะตากำเนิด สัมพันธ์ถึงปัจจัยใด เจ้าชะตาจะรักชอบสิ่งที่มีความหมายตรงกับปัจจัยนั้น เช่นศุกร์อยู่ในราศีเมษ ชอบการบุกเบิก การผจญภัย มีผลสืบเนื่องให้ชอบคนที่มีคุณลักษณะดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นคนทีมีลัคนาหรือจุดเจ้าชะตาอยู่ในราศีเมษ หรือคนที่มีดาวอังคารเข้มแข็งในดวงชะตา ฯลฯ ดังนั้นถ้าครบวงจร ก็สามารถพิจารณาได้ว่า จะเกิดความรักขึ้นระหว่างหญิงชายทั้งสองนั้นได้เช่นกัน
 
(5)          ในพื้นดวงของทั้งสองฝ่าย ควรจะมีโครงสร้างที่แสดงถึงความมีโชคด้านความรักและคู่ครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีดาวเกษตรครองอยู่ในภพที่ 7 และไม่ได้รับการเบียฬบ่อนจากบาปเคราะห์ ฯลฯ
 
5. สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส
 
5.1 ข้อสังเกต
 
1.          บทความในตอนนี้พูดถึงโครงสร้างที่อาจเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” โดยพิจารณาโครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่รองรับเงื่อนไขสองข้อของ “บุพเพสันนิวาส”
 
2.          บทความนี้ ไม่ได้พูดถึงโครงสร้างร้ายที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากมายในดวงชะตากำเนิด ซึ่งจะมาขัดขวางและทำลายผลของ “บุพเพสันนิวาส” ผลของโครงสร้างร้ายเมื่อคิดตามหลักของเหตุและผล ย่อมทำให้เกิดผลได้ 3 ประการคือ หนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์นั้นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง ตัวอย่างเช่นเรื่องราวระหว่างกามนิตกับวาสิฏฐี หรือโรเมโอกับจูเลียต ที่จบลงด้วยความทุกข์จากการพลัดพราก ผิดหวัง และการตายจากกัน ฯลฯ สอง ทำให้ไม่ได้พบกันในสถานที่ เวลา และโอกาสที่เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นความรักและการแต่งงานต่อไปได้ และ สาม อาจทำให้ความรักความผูกพันที่เกิดขึ้น เจือจางลงและหรือเกิดทุกโทษที่บิดเบือนไปได้
 
3.          เนื่องจากเรากำลังพิจารณาเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งเป็นความเชื่อในอุดมคติของไทยเรา และเป็นความรักในอุดมคติที่เป็นนามธรรมล้วนๆอีกด้วย และเกี่ยวเนื่องไปถึง ความเชื่อในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดข้ามภพข้ามชาติที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ในโลกปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงต้องนำตำรับตำราและทฤษฎีในโหราศาสตร์ตะวันออก มาใช้ร่วมด้วยกับเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างที่มีทางโหราศาสตร์ตะวันตก เพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีในทางโหราศาสตร์มาศึกษาทำความเข้าใจ และสามารถกำหนด (อย่างน้อยในทางทฤษฎี) ได้ว่าโครงสร้างใดบ้างทางโหราศาสตร์ที่อาจประกอบกันเข้าเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” ได้ .ในส่วนของความแตกต่างบางประการเช่นในเรื่องของ จักราศีนิรายะนะและจักราศีสายะนะ กฎเกณฑ์การให้แสงถึงที่แตกต่างกันระหว่างสองระบบนั้น คงต้องใช้วิธีประยุกต์เข้าด้วยกันตามที่เห็นว่าเหมาะสม หรือไม่ก็ใช้หลักเกณฑ์ทางนิรายะนะหรือสายะนะให้สอดคล้องกับโครงสร้างที่กำลังพิจารณาว่ามาจากคำสอนในระบบใดก็อาจทำได้
 
5.2 โครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่อาจเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส”
 
โครงสร้างทางโหราศาสตร์ในข้อ 3.7 แปดโครงสร้างเป็นโครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่รองรับเงื่อนไขข้อที่ 1 (บางส่วน) ของ “บุพเพสันนิวาส” คือเงื่อนไขที่ว่า “การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อน ด้วยความรักที่เกิดจากบุพเพสันนิวาส” ที่ว่ารองรับบางส่วนหมายถึง เป็นโครงสร้างที่ชี้บอกว่าทั้งสองเคยมีความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งกันมาแล้วในอดีตชาติ แต่ไม่ทราบว่าเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใด และดีไม่ดีอย่างไร ส่วนโครงสร้างแรกคือ อังคาร/ศุกร์ นั้นเป็นข้อยกเว้นที่อาจเป็นการตอบเงื่อนไขข้อที่ 1 อย่างสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซื้งขึ้นจริงแล้วในชาตินี้เท่านั้น
 
โครงสร้างทางโหราศาสตร์ในข้อ 4.2 ข้อ 1 ถึง 4 เป็นโครงสร้างที่รองรับเงื่อนไขข้อที่ 2 ที่ว่า “เมื่อมาพบกันในชาตินี้ก็บังเกิดความรักต่อกันขึ้นมาทันที”
 
ดังนั้นการจัดหมวดหมู่ทางสถิติ (Permutation and Combination) ซึ่งกรณีนี้เป็น Combination ระหว่างโครงสร้างในข้อ 3.7 กับโครงสร้างในข้อ 4.2 รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เกิดจาก Combination ที่ได้ ย่อมถือได้ว่าเป็นโครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่อาจเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” เพราะรองรับเงื่อนไขทั้งสองข้อของ “บุพเพสันนิวาส” ได้บางส่วน มากบ้างน้อยบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
 
โครงสร้างที่หนึ่ง         ก. อังคารชาย/ศุกร์หญิง                       ข. ราหูชาย = จันทร์หญิง, ราหูญิง = จันทร์ชาย
โครงสร้างที่สอง          ก. อังคารชาย/ศุกร์หญิง                       ข.      เนปจูนชาย = จันทร์หญิง, เนปจูนหญิง = จันทร์ชาย
โครงสร้างที่สาม          ก. อังคารชาย/ศุกร์หญิง                       ข. ศุกร์ชาย/พลูโตหญิง (ครบวงจร)
โครงสร้างที่สี่              ก. อาทิตย์ชาย = ศุกร์หญิง, ศุกร์ชาย = จันทร์หญิง ข. จันทร์หญิงกุมสนิทองศากับจันทร์ชาย
โครงสร้างที่ห้า                        ก. อาทิตย์ชาย = ศุกร์หญิง, ศุกร์ชาย = จันทร์หญิง ข. อาทิตย์ชายทำมุม 60 องศาสนิทกับอาทิตย์หญิง
โครงสร้างที่หก           ก. ศุกร์ชาย/อังคารหญิง           ข. เมอริเดียนชาย = อาทิตย์หญิง, ราหูชาย = จันทร์หญิง, อาทิตย์ชาย = ราหูหญิง, ลัคนาหญิง = ราหูชาย
 
6. สรุป
 
6.1 เนื้อหาในเรื่อง “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” หาตำราและบทความอ้างอิงยากกว่าเรื่อง “สัญญาณคู่แท้” มาก เนื่องจากเรื่อง “คู่แท้” นั้นเป็นความเชื่อที่มีอยู่ในอารยะธรรมตะวันตกซึ่งได้แผ่ขยายไปทั่วโลก จึงมีตำราและบทความต่างๆที่พูดถึงเรื่องนี้มากมายนับไม่ถ้วน ในขณะที่เรื่องบุพเพสันนิวาสนั้นเป็นความเชื่อที่อยู่เฉพาะในแวดวงของไทยเรา ตำราและบทความที่กล่าวถึงเรื่องนี้จึงมีไม่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำราโหราศาสตร์ และเป็นที่น่าแปลกใจว่า แม้กระทั่งในโหราศาสตร์ภารตะเองซึ่งเป็นที่มาของโหราศาสตร์ไทย และความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดก็เป็นความเชื่อหลักในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ที่เป็นศาสนาหลักของอินเดีย แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยพบเนื้อหาเรื่องการสมพงศ์ดวงชะตาที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกับบุพเพสันนิวาสในตำราโหราศาสตร์ภารตะเลย
 
การพิจารณาจึงต้องเริ่มต้นจากคำจำกัดความของ “บุพเพสันนิวาส” ที่ใช้สำหรับอ้างถึงในบทความตอนนี้ จากนั้นก็ดูว่ามีตำราโหราศาสตร์เล่มใด และหรือหลักการใด ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ และหรือเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง และพิจารณากำหนดโครงสร้างที่รองรับเงื่อนไขตามคำจำกัดความดังกล่าวต่อไป
 
6.2 จากการพิจารณาตามขั้นตอนในท้ายข้อที่ 6.1 สามารถกำหนด (ในทางทฤษฎี) โครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่อาจเป็น “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” ได้ ดังรายละเอียดปรากฏในข้อ 5.2 ซึ่งเกิดจากการจัดหมวดหมู่ที่ทางสถิติทีเรียกว่า “Combination”ระหว่างโครงสร้างทางโหราศาสตร์ 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นโครงสร้างทางโหราศาสตร์ที่รองรับเงื่อนไขแรกของบุพเพสันนิวาส “การเคยอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติปางก่อน ด้วยความรักที่เกิดจากบุพเพสันนิวาส” ได้บางส่วน และกลุ่มที่สองรองรับเงื่อนไขข้อที่สองของบุพเพสันนิวาส “เมื่อมาพบกันในชาตินี้ก็บังเกิดความรักต่อกันขึ้นมาทันที” ได้
 
6.3 เช่นเดียวกับในบทความชุดนี้ตอนที่ 6 (สัญญาณคู่แท้) แม้ดวงชะตาจะมีโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีหลายๆโครงสร้าง แต่หากไม่มีโอกาสได้พบกันเลยโครงสร้างต่างๆเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ผู้เขียนคิดว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างดวงชะตาที่มี เมอริเดียนและลัคนาอยู่ด้วย น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งสองคนมีโอกาสได้พบกันในเวลา สถานที่ และจังหวะสถานการณ์ที่เหมาะสม เนื่องจากเมอริเดียนและลัคนาเป็นจุดที่กำหนดเรื่องราวสำคัญในชีวิตของคนเราทั้ง 12 เรื่องตามจำนวนจักราศีและเรือนชะตา และยังเป็นเอกลักษณ์ตัวตนของเจ้าชะตาแต่ละคนอีกด้วย เพราะเป็นปัจจัยที่เดินเร็วที่สุดประมาณ 1 องศาทุกๆ 4 นาที ในขณะที่ปัจจัยอื่นที่เดินเร็วที่สุดรองลงมา คือจันทร์ก็ยังมีอัตราโคจรประมาณ 1 องศาภายใน 2 ชั่วโมงซึ่งช้ากว่าเมอริเดียนและลัคนามาก
 
นอกจากนี้พื้นดวงชะตาก็น่าจะมีส่วนสำคัญว่า ทั้งสองจะได้มีโอกาสพบกันในเวลา สถานที่และจังหวะของเหตุการณ์ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะถ้าพื้นดวงชะตาไม่ได้ชี้บอกถึงความสุข สมปราถนา ในชีวิตเรื่องคู่ครอง และความรักแล้ว โอกาสที่เจ้าชะตาจะได้พบคู่ครองที่มีบุพเพสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อนก็คงน้อยมาก หรือหากได้พบก็อาจจะไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่งอยู่ดี
 
6.4 “บุพเพสันนิวาส” เป็นเรื่องของความรักในอุดมคติที่พึงปรารถนาที่สุดเช่นเดียวกับ “คู่แท้” โดยเป็นเรื่องที่เป็นทั้งนามธรรม (Abstract) และเป็นเรื่องในอุดมคติ (Idealism) อย่างสุดโต่งเหมือนกันต่างกันเพียงมีที่มาจากปรัชญาความเชื่อและอุดมคติที่แตกต่างกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก (ไทย) เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่การเก็บสถิติ และการทดสอบความถูกต้องแทบจะทำไม่ได้เลย ผู้สนใจคงต้องทดลองนำไปใช้ดูว่าในทางปฏิบัติได้ผลอย่างไร“บุพเพสันนิวาส และ คู่แท้” ไม่เพียงแต่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในโลกมากที่สุดเท่านั้น แต่ยังเป็นความฝันถึงความสุขจากความรักและคนรักในอุดมคติ ที่ไม่มีวันสูญสลายของมนุษยชาติอีกด้วย และแม้ว่าวิชาโหราศาสตร์จะทำได้แต่เพียงตั้งข้อสังเกตและกำหนด “สัญลักษณ์แห่งบุพเพสันนิวาส” ในทางทฤษฎีที่ยากต่อการพิสูจน์ แต่ก็ดูเหมือนว่า “โหราศาสตร์” ก็ยังคงเป็นศาสตร์เดียว เป็นวิชาเดียว และเป็นเครื่องมือเพียงสิ่งเดียวที่พอจะตอบคำถามในเรื่องของ “บุพเพสันนิวาส” ได้บ้าง

 
ชาญชัย เดชะเสฏฐดี
3 สิงหาคม 2551

----------

ขอ ขอบคุณ ท่านผู้เขียนบทความที่ให้ความกรุณาแก่เว็บไซต์แห่งนี้  อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางความคิดย่อมมีได้ และผมขอจำกัดความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของเว็บ เท่าที่กฎหมายและกติกาสังคมกำหนด ท่านที่ประสงค์จะร่วมเขียนบทความเช่นนี้ โปรดติดต่ webmaster@rojn-info.com




บทความสมทบ

การใช้ระยะวังกะ ในโหราศาสตร์นิรายะนะ (โหราศาสตร์ตะวันออก) วันที่ 23/11/2015   09:31:52 article
ดวงธิปู (ดวงสู้ตาย) วันที่ 11/04/2014   09:43:36 article
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 10 – แต่งงานอยู่กินกันแล้ว จะทุกข์ สุข ดี ร้าย ประการใด ??? วันที่ 11/04/2014   09:43:22 article
เส้นสมรส โดย อาจารย์ อาคม ชูจันทร์ วันที่ 18/03/2013   11:39:49 article
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตาตอนที่ 9: มังคลิกาโยค (Kujadosha) : โครงสร้างร้ายในการสมพงศ์ดวงชะตา วันที่ 18/03/2013   11:39:36 article
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 5: ดารานางเอก กับ โครงสร้างความงามในดวงชะตา (สืบเนื่องจากตอนที่ 2) วันที่ 10/11/2012   11:02:02
หลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ที่ใช้ในการตั้งชื่อบุคคล วันที่ 04/12/2011   08:33:19 article
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 4 “ดวงชะตา ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ คลีโอพัตรา – ความงามที่พลิกแผ่นดิน" วันที่ 01/03/2011   20:39:13
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 3: โครงสร้างชี้บอกความงามของสตรีในระบบนิรายะนะ วันที่ 27/03/2011   19:44:41
บทวิเคราะห์เรื่อง “ท่าน อ.มานิตย์ ธีรเวชชโรกุล กับความเป็นนักค้นคว้า โหราศาสาตร์ยุคไอที” วันที่ 01/03/2011   20:40:59
บทวิเคราะห์ เรื่องการเสียชีวิตของท่าน อ.มานิตย์ ธีรเวชชโรกุล วันที่ 01/03/2011   20:41:30
ยุบสภา (ปีพ.ศ.2529) วันที่ 13/03/2009   22:01:33 article
องคลาภกับการวิเคราะห์อุบัติเหตุระเบิดที่โรงงานผลิตจรวด กรมสรรพาวุธทหารบก บางซื่อ วันที่ 27/02/2009   22:21:53 article
พยากรณ์อากาศจากดวงดาว โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:38:49 article
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์ และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 7: ปีที่แต่งงาน การสมพงศ์ดวงชะตา แต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานเลย และดวงพระยาเทครัว วันที่ 01/03/2011   20:42:21
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์ และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 6: สัญญาณคู่แท้ (Soulmate Indicators/Signals) วันที่ 01/03/2011   20:42:44
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ ตอนที่ 2: โครงสร้างเพ็ญศุกร์กับความงามของสตรี วันที่ 29/06/2012   22:38:33
ความงามของสตรีในทัศนะโหราศาสตร์ (หลักเกณฑ์ทางโหราศาสตร์ที่ใช้ในการชี้บอกความงามของสตรี) ตอนที่ 1 วันที่ 01/03/2011   20:43:33
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 5: วิธีการพื้นฐานในการสมพงศ์ดวงชะตา (ดวงซ้อนดวง) วันที่ 01/03/2011   20:44:01
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับ วิชาโหราศาสตร์และการสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 4: ใครผูกพันกับใครในจักรวาล วันที่ 01/03/2011   20:46:23
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชาโ หราศาสตร์ และ การสมพงศ์ดวงชะตา ตอนที่ 3: จักราศีสมพงศ์ วันที่ 01/03/2011   20:46:51
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชา โหราศาสตร์ และการสมพงษ์ดวงชะตา (ตอนที่ 2 บุพเพสันนิวาส กับ คู่แท้) วันที่ 01/03/2011   20:47:43
ความรัก คู่แท้ บุพเพสันนิวาส กับวิชา โหราศาสตร์ และ การสมพงษ์ ดวงชะตา (ตอนที่ 1) วันที่ 01/03/2011   20:48:07
การวิเคราะห์และประเมินความแรงของ ดาวพฤหัส ในดวงชะตาเชิงปริมาณ วันที่ 01/03/2011   20:48:35
ความสำคัญ ของ ดาวพฤหัส ใน ดวงชะตา ในทัศนะของ โหราศาสตร์ตะวันตก และ โหราศาสตร์ตะวันออก วันที่ 01/03/2011   20:49:00
กฎของ การครบวงจร ใน การพยากรณ์ ดาวพระเคราะห์ จร วันที่ 01/03/2011   20:49:25
พฤหัส ดี และ เสาร์ ร้าย จริงๆ หรือ วันที่ 27/07/2009   08:56:20 article
บทเรียน ที่ต้องเรียน จาก สึนามิ (Tsunami) วันที่ 01/03/2011   20:50:01
ปฏิทินโหร โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:30:28 article
ปัญหาเรื่องอยนางศ โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:21:50 article
อยนางศ โดย พล.อ.ต. ม.ร.ว. สุกษม เกษมสันต์ วันที่ 28/04/2011   20:26:07 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| โหรา-ประวัติศาสตร์ | โหรา-ไอที | หลักโหรโดนใจ | บทความสมทบ | โหรา-โปรแกรม | ผู้จัดทำ/ผู้สนับสนุน | Site Map |

Custom Search


ติดต่อนายโรจน์ E-mail: webmaster@rojn-info.com
หรือ Mobile: 08-1697-3098
(อาจไม่สะดวกรับสายในบางเวลา)
ยังไม่เปิดสอนและไม่รับพยากรณ์เป็นส่วนตัว
กรุณาอย่าใช้โทรศัพท์หรือส่งอีเมล์มาขอดูดวง เพราะไม่มีเวลาตอบ



มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ โหราศาสตร์แนว อ.จรัญ พิกุล - AstroClassical.com HoraUranian.com ดูดวง
โหราศาสตร์กับเครื่องประดับ บ้านฮวงจุ้ย (fengshuihut.com) ตลาดวิชาฮวงจุ้ยและดวงจีน ผูกดวง/ยูเรเนียนออนไลน์ (MyHora.com)

รวมลิงค์ : เว็บอื่นๆ ที่น่าสนใจ
eXTReMe Tracker