สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี
1. บทนำ
โคลงพระนิพนธ์ที่ยกมาประกอบในหัวเรื่องของตอนที่ 4 นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของเนื้อหาสำคัญที่ตำราโหราศาสตร์ที่ว่าด้วยการสมพงศ์ดวงขะตา มักจะกล่าวไว้เสมอคือ โครงสร้างความสัมพันธ์โครงสร้างใดอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความรักขึ้นในระหว่างหญิงชายทั้งสองได้ ซึ่งในการเปรียบเทียบทางโหราศาสตร์นั้นมักจะเปรียบเทียบกันในฐานใดฐานหนึ่งของมิติทางโหราศาสตร์ ที่นิยมที่สุดก็เป็นการเปรียบเทียบด้วยตำแหน่งสัมพันธ์ทางองศาระหว่างปัจจัย อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Cross Aspectarian หรือที่ไทยเราเรียกว่า “ดวงซ้อนดวง” ซึ่งทำโดยการนำดวงสองดวงมาซ้อนกัน แล้วอ่านเรื่องราวต่างๆจากตำแหน่งสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางโหราศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างดวงชะตาทั้งสอง ทางไทยเราตำราโบราณก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกันโดยเป็นการใช้ตำแหน่งสัมพันธ์ทางราศีดังเช่นในบทโคลงที่อ้างถึงดังกล่าว นอกจากนี้ที่นิยมกันก็เป็นการเปรียบเทียบด้วยตำแหน่งสัมพันธ์ทางเรือนชะตา และในระยะหลังๆนี้ได้มีนักโหราศาสตร์ตะวันตกรุ่นใหม่เสนอทฤษฎีดวงร่วม (Composite Chart) ซึ่งอาจเป็นการผูกดวงขึ้นใหม่จากศูนย์รังสีระหว่างปัจจัยเดียวกันของดวงทั้งสอง, หรือผูกดวงโดยใช้วันเดือนปีเกิดและเวลาเกิดที่เป็นเวลากึ่งกลางระหว่างเวลาเกิดของเจ้าชะตาทั้งสอง แล้วใช้เป็นดวงชะตาสำหรับการพยากรณ์ความเป็นไปในกรณีที่ทั้งสองคนเข้ามามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ในปัจจุบันวิธีการนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างแพร่หลาย และมีตำราของฝรั่งที่เขียนถึงเรื่องนี้ออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า โครงสร้างที่สำคัญยิ่งและน่าจะเป็นพื้นฐานของการสมพงศ์ดวงชะตาอีกหัวข้อหนึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาจักราศีสมพงศ์แล้ว ควรจะเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ชี้บอกว่า เจ้าชะตาทั้งสองจะมีความเกี่ยวข้องผูกพันที่มีนัยสำคัญหรือประทับใจต่อกันหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างดวงชะตาทั้งสองจะดีหรือร้ายอย่างไร ถ้าทั้งสองคนไม่มีโอกาสที่จะได้มาพบปะเกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญในชีวิตนี้แล้ว สัมพันธภาพการสมพงศ์ดวงชะตาที่ดีหรือร้ายเหล่านั้นก็จะไม่มีโอกาสแสดงผลและไม่มีความหมายใดๆ ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าคำสอนของท่านอาจารย์พลตรีประยูร พลอารีย์ ซึ่งแม้จะเป็นคำสอนสั้นๆแต่ตรงประเด็นและน่าจะครอบคลุมเรื่องราวของการผูกพันกันระหว่างดวงชะตาไว้อย่างสมบูรณ์ และจึงเป็นที่มาของบทความในตอนนี้ ที่ผู้เขียนให้ชื่อว่า “ใครผูกพันกับใครในจักรวาล”
2. จุดเจ้าชะตาต้องมาก่อน
อาจารย์ประยูรฯท่านจะกล่าวย้ำหลักการนี้เสมอในระหว่างการบรรยายในชั้นเรียน ซึ่งหมายความว่า ในการอ่านและพยากรณ์ดวงชะตาใดๆก็ตาม (พื้นดวง, ดวงชะตาจรทุกรูปแบบ) ต้องพิจารณาจุดเจ้าชะตาว่าจรมาถึงกันหรือไม่เป็นลำดับแรก เพราะเหตุการณ์ที่ประทับใจจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อมีโครงสร้างจุดเจ้าชะตาถึงจุดเจ้าชะตาแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นในการพยากรณ์ดวงทินวรรษนั้น หากไม่พบโครงสร้างจุดเจ้าชะตาถึงจุดเจ้าชะตา แม้ว่าพฤหัสหรือเสาร์จะมาแรงเพียงใด ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ดีหรือร้ายที่ประทับใจเลย ในการสมพงศ์ดวงชะตาก็เช่นเดียวกันคือ “ถ้าจุดเจ้าชะตาระหว่างดวงชาตาทั้งสองสัมพันธ์ถึงกัน การคบหาเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลทั้งสองจะเป็นความสัมพันธ์ที่ประทับใจและมีนัยสำคัญ” ส่วนจะเป็นความประทับใจที่ดีหรือร้ายอย่างไรนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาสืบเนื่องต่อไป
เพื่อให้เห็นภาพของความสัมพันธ์ที่ประทับใจ และมีนัยสำคัญระหว่างบุคคลสองคน ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างการเปรียบเทียบจุดเจ้าชะตาระหว่างดวงของบุคคลต่างๆต่อไปนี้เป็นคู่ๆได้แก่
(1) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ V.S. พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์
ทั้งสองท่านเป็นขุนพลคู่ใจข้างกายจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งยง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสองลงเอยด้วยความแตกหัก จอมพลสฤษดิ์ฯ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งเสียชีวิต ไม่ต้องสงสัยเลยครับ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองท่านนี้มีนัยสำคัญและประทับใจแน่ๆ
จอมพลสฤษดิ์ฯ เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2451 เวลา 01.35 น. กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอกเผ่าฯ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2452 เวลา 6.01 น. กรุงเทพฯ
จากการตรวจความสัมพันธ์ระหว่างจุดเจ้าชะตาพบ
อาทิตย์ ผ = จันทร์ ส 45 องศา ระยะวังกะ 24 ลิปดา
ราหู ผ = ลัคนา ส 45 องศา ระยะวังกะ 4 ลิปดา
(2) พลตรีจำลอง ศรีเมือง V.S. พลเอกสุจินดา คราประยูร
พลเอกสุจินดาฯ เป็นนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดอำนาจจากการปฏิวัติของคณะ ร.ส.ช. ส่วนพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการสืบอำนาจทางการเมืองของคณะร.ส.ช. ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาทมิฬ”
พลตรีจำลอง ศรีเมือง เกิดเมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม 2478 เวลา 11.45 น. กรุงเทพฯ
พลเอกสุจินดา คราประยูร เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2476 เวลา 3.35 น. กรุงเทพฯ
จากการตรวจความสัมพันธ์ระหว่างจุดเจ้าชะตาพบ
เมอริเดียน ส = เมอริเดียน จ 90 องศา ระยะวังกะ 52 ลิปดา
เมอริเดียน ส = ลัคนา จ 180 องศา ระยะวังกะ 36 ลิปดา
จันทร์ ส = อาทิตย์ จ 135 องศา ระยะวังกะ 38 ลิปดา
(3) เจ้าฟ้าชายชาลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ V.S. คามิลล่า ปาร์คเก้อร์ โบวเลส คู่รักที่ได้รับการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก
เจ้าฟ้าชายชาลส์ ประสูติ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2491 เวลา 21.14 น. ลอนดอน
คามิลล่าฯ เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2490 เวลา 5.00 น. ลอนดอน
จากการตรวจความสัมพันธ์ระหว่างจุดเจ้าชะตาพบ
เมอริเดียน บ = -ลัคนา ช 135 องศา ระยะวังกะ 17 ลิปดา
เมอริเดียน บ = -ราหู ช 45 องศา ระยะวังกะ 11 ลิปดา
จันทร์ บ = -ลัคนา ช 135 องศา ระยะวังกะ 21 ลิปดา
จันทร์ บ = -ราหู ช 135 องศา ระยะวังกะ 6 ลิปดา

(4) พอล นิวแมน V.S. โจอัน วูดร์เวิร์ด
คู่รักในอุดุมคติที่เล่าขานกันเป็นตำนานอมตะของฮอลลีวู้ด
พอล นิวแมน เกิดเมื่อ 26 January 1925 06.30.00 AM EST Clevelland, OH, Zone +05.00 081W4200 41N3000
โจอัน วูดร์เวิร์ด เกิดเมื่อ 27 February 1930 04.00.00 AM EST Thomasville, GA, Zone +5.00 083W5900 30N5000
จากการตรวจความสัมพันธ์ระหว่างจุดเจ้าชะตาพบ
จันทร์ จ = -อาทิตย์ พ 90 องศา ระยะวังกะ 54 ลิปดา
3. เมื่อจุดเจ้าชะตาไม่มา?
สรุปว่า ถ้าจุดเจ้าชะตาในระหว่างดวงชะตาสองดวงสัมพันธ์ถึงกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญและก่อให้เกิดความประทับใจได้ต่อไป อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างจุดเจ้าชะตาเลยนั้น ย่อมแสดงว่ามีโอกาสน้อยลงที่ความสัมพันธ์นั้นจะมีนัยสำคัญและประทับใจเท่านั้น ขอย้ำว่าเพียงมีโอกาสน้อยลงเท่านั้นไม่ได้เป็นการปิดกั้นโอกาสโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้จำเป็นต้องนำหลักเรื่อง “ห้ามทายย้อนศร” ของอาจารย์ประยูรฯเข้ามาใช้กำกับในกรณีนี้เช่นเดียวกับการพยากรณ์และการอ่านดวงชะตาทางโหราศาสตร์ในกรณีอื่นๆทุกกรณีที่ “ห้ามทายย้อนศร” ยกตัวอย่างเช่น นกที่บินได้มีสองปีก แต่ไม่ได้หมายความว่า นกที่มีสองปีกจะบินได้เสมอไป ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลเหตุผลต่างๆที่เป็นไปได้ว่าแม้จะมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งและประทับใจระหว่างบุคคลสองคนแต่ไม่ปรากฏว่าจุดเจ้าชะตาถึงกัน ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีต่อไปนี้
(1) อาจารย์ประยูรฯเขียนไว้ชัดเจนในบทความที่เคยผ่านตาผู้เขียนบทหนึ่ง ว่าดวงชะตาที่แท้จริงของบุคคลนั้นคือ “ดวงชะตาปฏิสนธิ” แต่เป็นเรื่องยากที่จะทราบเวลาปฏิสนธิได้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาคลอดจากท้องแม่ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญรองลงมาในการพยากรณ์ ดังนั้นหากมีการติดตามดาวพระเคราะห์จรประจำวันโดยละเอียดทุกวัน จะพบว่ามีบางตำแหน่งในดวงชะตาเป็นจุดวิกฤติที่เกิดเหตุการณ์สำคัญเสมอทั้งๆที่ไม่มีปัจจัยใดๆสถิตอยู่ ซึ่งถ้าวิเคราะห์ในรายละเอียดจะพบว่า ตำแหน่งดังกล่าวมักเป็นตำแหน่งของจุดเจ้าชะตาในดวงปฏิสนธินั่นเอง และตำแหน่งดังกล่าวมักจะสัมพันธ์ถึงจุดเจ้าชะตาในดวงคู่ครองอีกด้วย ดังนั้นการถึงกันของจุดเจ้าชะตาอาจไปเกิดขั้นในมิติที่มีดวงปฏิสนธิเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ ทำให้ตรวจไม่พบ
(2) คนสองคนอาจเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญและประทับใจได้ หากในช่วงเวลานั้น จุดเจ้าชะตาจรสุริยาตรเข้ามาร่วมปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น อาทิตย์ วี 1 ของฝ่ายชายอาจกำลังทับจันทร์กำเนิดของฝ่ายหญิงอยู่ก็ได้ ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวความผูกพันลึกซึ้งระหว่างจิตวิญญาณของทั้งสองฝ่ายย่อมเกิดขึ้นเสมือนหนึ่งกรณีที่อาทิตย์กำเนิดฝ่ายชายทับจันทร์กำเนิดของฝายหญิง หรืออาจมีสัมพันธ์ทางเพศที่เปี่ยมสุขเช่นเดียวกับกรณี อังคารกำเนิดฝ่ายชายทับศุกร์กำเนิดฝ่ายหญิงก็ได้ ในระหว่างที่อังคารวี1 ฝ่ายชายทับศุกร์กำเนิดฝายหญิง ในกรณีดังกล่าวนี้ไม่สามารถตรวจพบได้ง่ายๆด้วยเครื่องมือทางโหราศาสตร์ทั่วๆไปที่ใช้กันอยู่ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ความประทับใจดังกล่าวจะคลายตัวลงเมื่อโครงสร้างจรที่เกิดขึ้นค่อยๆสลายตัวไปตามกาลเวลา
(3) ตำแหน่งสัมพันธ์ที่มีฤทธิ์นั้นไม่ใช่มีเฉพาะตำแหน่งสัมพันธ์ทางองศาเป็นจำนวนเท่าของมุม 45 องศาเท่านั้น ยังมีตำแหน่งสัมพันธ์อื่นๆอีกหลายชนิด เช่น ตำแหน่งสัมพันธ์ขนาน, การสัมพันธ์ผ่านทางเมอริเดียน-ลัคนา ดาวพระเคราะห์, การสัมพันธ์ผ่านทางราหูของดาวพระเคราะห์,ฯลฯ, และตำแหน่งสัมพันธ์อื่นๆที่วิชาโหราศาสตร์อาจยังค้นไม่พบอีก
(4) เนื่องจากเมอริเดียนและลัคนานั้นคลาดเคลื่อน 1 องศาภายในเวลาเพียง 4 นาทีเท่านั้น ดังนั้นในกรณีที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างจุดเจ้าชะตานั้น อาจเป็นเพราะการถึงกันของจุดเจ้าชะตาระหว่างดวงทั้งสองมีเมอริเดียนและหรือลัคนาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่เนื่องจากเวลาเกิดที่ใช้ผูกดวงคลาดเคลื่อน ทำให้ตรวจไม่พบการถึงกันของจุดเจ้าชะตาดังกล่าว
(5) สืบเนื่องจากข้อ (4) อาจได้วันเวลาเกิดที่ผิดมาใช้ก็ได้
4. เรารักใคร V.S. ใครรักเรา
สืบเนื่องจากข้อ 3 ถ้าทราบว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อไปอย่างมีนัยสำคัญและประทับใจแล้ว ที่ควรจะต้องทราบต่อไปก็คือในความสัมพันธ์นั้นมีความรักเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะหากไม่มีความรักเกิดขึ้นโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปเป็นการแต่งงานและหรืออยู่ร่วมกันกันฉันท์สามีภรรยาก็คงจะมีน้อยลง โคลงพระนิพนธ์ที่ยกมาประกอบหัวข้อในตอนที่ 4 นี้ เป็นความพยายามอันหนึ่งของนักโหราศาสตร์ที่พยายามจะศึกษาว่าโครงสร้างใดที่ทำให้เกิดความรักขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย โดยเนื้อหาในบทโคลงเป็นการบอกว่าหญิงเป็นฝายรักชายในกรณีใด ชายเป็นฝ่ายรักหญิงในกรณีใด และต่างฝ่ายต่างรักซึ่งกันและกันในกรณีใด อย่างไรก็ตามเนื้อหาในคำโคลงใช้คำว่า “ตนุศรี” โดยคำว่าศรีอาจหมายถึง “ศรี” ในทักษาพยากรณ์ ทำให้มีท่านผู้รู้ตีความโคลงบทนี้ไปต่างๆกัน แล้วแต่มติความเห็นของแต่ละท่าน สำหรับผู้เขียนใช้การตีความง่ายๆว่าคำว่า “ตนุศรี” คือตนุลัคน์หรือดาวเจ้าเรือนลัคนานั่นเอง ส่วนคำว่าศรีนั้นเป็นการกล่าวถึงตนุลัคน์ของฝ่ายหญิงจึงนำมาต่อจากคำ “ตนุ” ดังนั้นตามความเห็นของผู้เขียนตีความว่าเนื้อหาในโคลงดังกล่าวบอกว่า ถ้าดาวเจ้าเรือนลัคนาฝายหญิงไปกุมลัคนาฝ่ายชาย ชายเป็นฝ่ายรักหญิง และกลับกันถ้าดาวเจ้าเรือนลัคน์ฝ่ายชายไปกุมลัคนาฝายหญิง หญิงเป็นฝ่ายรักชาย และถ้าดาวเจ้าเรือนลัคนาของแต่ละฝ่ายต่างก็กุมลัคนาของอีกฝายหนึ่งแบบที่ยูเรเนี่ยนเราเรียกว่า “ครบวงจร” ทั้งสองฝ่ายจะเกิดความรักซึ่งกันและกันและจะอยู่ร่วมชีวิตด้วยกันจนกว่าความตายจะมาพราก
ในโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนนั้นผู้เขียนไม่เคยอ่านพบว่ามีตำราใดบอกตรงๆชัดๆเหมือนตำราโบราณของไทยเราที่อ้างถึงในวรรคก่อน และเท่าที่ทราบอาจารย์ประยูรฯท่านไม่เคยสอนเรื่องการสมพงศ์ดวงชะตาเป็นหัวข้อเฉพาะเจาะจง คงมีแต่กล่าวถึงไว้ในบางแห่งเพื่อประกอบเนื้อหาหลักในหัวข้ออื่นๆเท่านั้น จึงจำเป็นต้องสังเคราะห์ตีความจากบางหลักการในคำสอนของท่านเพื่อนำมาใช้ในกรณีนี้ หลักการสำคัญที่ท่านสอนในการเปรียบเทียบดวงชะตาคือ ต้องการพิจารณาเรื่องใดให้ดูปัจจัยที่หมายถึงเรื่องนั้นเป็นหลัก จากนั้นดูว่ามีจุดเจ้าชะตาของอีกฝ่ายหนึ่งให้แสงถึงปัจจัยนั้นๆหรือไม่ ถ้าถึงการมีสัมพันธ์กับบุคคลนั้นจะทำให้ปัจจัยดังกล่าวในดวงชะตาที่พิจารณาทำงาน (Being Activated)
ดังนั้นในกรณีของความรัก จึงน่าจะต้องพิจารณาที่ดาวศุกร์ซึ่งเป็นดาวเจ้าการของความรักในทางโหราศาสตร์เป็นสำคัญ และในการเปรียบเทียบดวงชะตานั้น ฝ่ายที่จะเกิดความรักคือฝ่ายที่ดาวศุกร์มีตำแหน่งสัมพันธ์ถึงจุดเจ้าชะตาของอีกฝายหนึ่ง การสังเคราะห์หลักการนี้ขึ้นมาคงเป็นแค่จุดเริ่มต้นของประเด็นคำถามว่าโครงสร้างทางโหราศาสตร์โครงสร้างใดที่บอกได้ว่า “เรารักใคร และ ใครรักเรา” เท่านั้น เพราะเป็นความรักในความหมายทางโหราศาสตร์ที่ดาวศุกร์ถูกกระตุ้นให้ทำงาน แต่คำจำกัดความของความรักในหัวใจของมนุษย์นั้นครอบคลุมความรู้สึกที่ประทับใจต่างๆมากมาย เช่นความผูกพัน ความห่วงหาอาลัย ความเป็นห่วงเป็นใย ฯลฯ ซึ่งดาวศุกร์อาจครอบคลุมไปไม่ถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถมีเครืองมือชี้บอกในเบื้องต้นได้บ้างว่า “เรารักใคร และ ใครรักเรา” ซึ่งก็ย่อมมีประโยชน์มากมายกว่าการที่ไม่มีเครื่องมือชี้บอกใดๆไว้ใช้เลย
5. สรุป
บทความนี้เสนอแนวคิดสองประการเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาสมพงศ์ดวงชะตาระหว่างหญิงกับชาย เครื่องมืออันแรกเป็นคำสอนโดยตรงของท่านอาจารย์พลตรีประยูร พลอารีย์ ที่กล่าวว่าในการเปรียบเทียบดวงชะตานั้น ถ้ามีจุดเจ้าชะตาสัมพันธ์ถึงกัน แสดงว่าแนวโน้มมีมากที่ความสัมพันธ์นั้นจะพัฒนาต่อไปอย่างมีนัยสำคัญและประทับใจ ส่วนเครื่องมือถัดไปเป็นการสังเคราะห์คำสอนบางส่วนของอาจารย์ประยูรฯ เพื่อนำมาใช้ช่วยในการชี้วัดว่าจะเกิดความรัก (ระหว่างเพศ, ความรักระหว่างหญิงกับชาย) ในความสัมพันธ์นั้นหรือไม่ ทั้งสองประการนี้ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญที่นำไปสู่การแต่งงานและหรืออยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา เพราะหากดวงชะตาไม่ได้ชี้บอกว่าจะมีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญและประทับใจต่อกันแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะลงเอยด้วยการแต่งงานอยู่กินด้วยกัน และแม้ดวงชะตาจะชี้บอกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญและประทับใจ แต่หากไม่ชี้บอกเลยว่ามีความรักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์นั้น โอกาสที่จะลงเอยด้วยการแต่งงานอยู่กินกันก็คงจะน้อย หรือถึงเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นชีวิตคู่ที่เปี่ยมสุขได้เท่าที่ควรเพราะขาดความรักที่เป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ไป
เครื่องมือทั้งสองนี้ย่อมมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในทางปฏิบัติแน่นอน เช่นเดียวกับเครื่องมืออื่นๆในทุกๆสาขาวิชา ทุกๆศาสตร์ในโลกนี้ และการศึกษาค้นคว้าในวิชาโหราศาสตร์ยังคงจะต้องทำกันต่อไปไม่มีสิ้นสุดตราบเท่าที่ดวงดาวยังโคจรเคลื่อนที่ต่อไปบนฟากฟ้าอันไกลโพ้นนั้น