|
 |
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับผู้ศึกษา โหราศาสตร์  วันที่ 26/07/2009 22:58:36
(บทความเก่าของผู้เขียนลงในพยากรณ์สารเมื่อหลายปีมาแล้ว จำไม่ได้ว่าฉบับใด คิดว่ายังไม่ล้าสมัย จึงนำมาลงไว้เป็นข้อเตือนใจนักศึกษาโหราศาสตร์รุ่นใหม่ทุกท่าน)
ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ได้เคยเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปวิชาหนึ่งเกี่ยวกับสังคมวิทยา จะมีชื่อว่าวิชาอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ที่จำได้แม่นก็คือในตอนหนึ่งท่านอาจารย์ผู้สอนได้วิจารณ์การพัฒนาชนบทในประเทศไทยว่ามีลักษณะเหมือนชื่อบะหมี่สำเร็จรูปยอดนิยม 3 ยี่ห้อ คือ “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” หมายความว่าไม่ได้ทำให้ชาวชนบทสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ต้องคอยพึ่งการช่วยเหลือต่างๆ จากภายนอกเสมอ (มาม่า) มีหลายองค์กรทำงานซ้ำซ้อนกัน(ยำยำ) และทำกันอย่างฉายฉวยหรือขอไปที(ไวไว) เมื่อได้ฟังแล้วก็รู้สึกชอบอกชอบใจว่าอาจารย์ช่างเข้าใจหาคำพูดมาเปรียบเปรยได้สะใจวัยรุ่นดีแท้
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนได้เติบโตผ่านหน้าร้อนหน้าหนาวมามากขึ้นมาจนถึงขณะนี้ ก็ได้เริ่มรู้สึกว่าไอ้เจ้าวิทยาการสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้คนสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้สะดวกรวดเร็วขึ้นประดุจลวกบะหมี่สำเร็จรูป ได้ทำให้คนในทุกสังคมทุกวงการมีนิสัยแบบ “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” กันไปเสียแทบทั้งนั้น โดยไม่ยกเว้นแม้แต่ในวงการโหราศาสตร์ของเรานี้ด้วย ผู้เขียนมีความอึดอัดกับสิ่งที่ได้พบเห็นเหล่านี้มาเป็นเวลานานแล้ว และขออนุญาตวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาสักครั้งหนึ่ง หวังว่าทางกองบรรณาธิการพยากรณ์สารจะไม่เซ็นเซอร์เสียก่อน เพราะผู้เขียนไม่ได้เจตนาที่จะประณามนักพยากรณ์คนใดคนหนึ่งหรือค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่อยากจะวิจารณ์พฤติการณ์ของคนทั่ว ๆ ไปในวงการ ซึ่งบางคนอาจจะมีลักษณะเช่นว่านี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่าง แต่ในที่สุดมันก็ได้กลายเป็นอุปสรรคแก่การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ให้ก้าวหน้าที่ควรแก่การแก้ไขต่อไป
ขออธิบายลักษณะ “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” ที่ปรากฏในหมู่ผู้ศึกษาโหราศาสตร์ที่ผู้เขียนได้สังเกตเห็นมานานดังต่อไปนี้
ลักษณะประการแรกที่เรียกว่า “มาม่า-ยำยำ-ไวไว” นี้ หมายความว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อุตส่าห์มาเรียนวิชาโหราศาสตร์แล้ว ก็ยังไม่มีความเป็นตัวของตัวเองพอที่จะพยากรณ์ได้ เนื่องจากเวลามาเรียนมักมีทัศนคติแบบเด็กนักเรียนว่าตัวเองมีหน้าที่มานั่งตักตวงความรู้ที่อาจารย์สอนสถานเดียว ไม่มีสติปัญญาที่จะเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ และไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะอ่านตำราเอง ดังเช่นเพื่อนของผู้เขียนรายหนึ่งซึ่งเรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยม ซึ่งสมัยนั้นหมอนี่เรียนเก่งขนาดสอบได้อันดับต้น ๆ เป็นประจำ แต่พอโตขึ้นแล้วมาเรียนโหราศาสตร์ทีหลังผู้เขียนก็พยายามจะสอบถามถึงหลักวิชาต่าง ๆ ความที่ผู้เขียนเป็นคนพูดไม่เก่งนักก็ได้แต่อธิบายเท่าที่ทำได้แล้วก็แนะให้ไปอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ หมอนี่ก็สารภาพออกมาว่าตัวแกไม่ถนัดที่จะศึกษาด้วยตัวเอง ชอบให้มีคนมาสอนมาจี้กันมากกว่า ในห้องเรียนของสมาคมเราก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมาเรียนวิชาซ้ำ ๆ หลาย ๆ ปีด้วยความเชื่อตาม ๆ กันมาว่าจะเก่งขึ้นมาได้ แต่ไม่เคยเอาสิ่งที่เรียนไปทบทวนหรือไปพยากรณ์ใครเลย ผู้เขียนพบเห็นคนประเภทนี้แล้วก็ได้แต่สมเพทว่าคนประเภทนี้มันจะเป็นที่พึ่งให้คนที่มาดูดวงได้อย่างไรกัน การยึดถือครูบาอาจารย์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนแต่ก็ต้องยึดถือทางสายกลาง คือเชื่อมั่นในตัวเองพอที่จะค้นคว้าหาประสบการณ์ความรู้ที่แปลกไปจากที่ครูอาจารย์สอน เพราะเวลาออกพยากรณ์จริงสภาพมันเหมือนเพลงฮิตเพลงหนึ่งที่ว่า "เวทีแห่งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงจะคอยเสี้ยมสอน" ถ้าขาดพี่เลี้ยงหรือมาม่าไม่ได้แล้วก็อย่ามาเสียเวลาเรียนโหราศาสตร์เลย
ในขณะที่ลักษณะมาม่าเป็นสิ่งสุดโต่งข้างหนึ่งที่ทำให้ผู้ศึกษาโหราศาสตร์ขาดความเป็นตัวของตัวเองการพยายามไขว่คว้าหาความรู้หลาย ๆ ทางมาผสมผเสกันซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความรอบคอบนั้น หากขาดวิจารณญาณแล้ว ก็จะกลายเป็นการเอาอะไรต่อมิอะไรมา "ยำยำ" เข้าด้วยกันจนเละเป็นโจ๊กได้ คนจำพวกนี้จะมีความเชื่อในทำนองว่าถ้ารู้อะไรเพียงไม่กี่อย่างแล้วจะเอาตัวไม่รอด ต้องหาความรู้หลาย ๆ อย่างมาประกอบกันพยากรณ์โดยขาดความเข้าใจว่าวิธีการพยากรณ์แต่ละแบบนั้นมันมีรากฐานที่มาที่แตกต่างกันมาก กระทั่งการผูกดวงก็ยังใช้ปฏิทินคนละอย่างกันแล้ว ดังจะพบเห็นอยู่บ่อย ๆ ว่าในบรรดาผู้ที่มาเรียนวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่สมาคมฯนั้น บางคนยังพกปฏิทินสุริยยาตร์ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว หรืออาจารย์จำรัส สิริ มาหน้าตาเฉย อีกหลายคนเป็นประเภทดวงกี่แบบ ๆ ก็จะเอาหมด เลข 7 ตัวลายมือ โหงวเฮ้ง ก็จะเอาหมด แต่เสร็จแล้วก็ไม่เห็นจะรู้อะไรจริงสักอย่าง
ในบรรดาเกร็ดความรู้ร้อยแปดพันเก้าประการที่มีอยู่ในวงการโหราศาสตร์เรานั้น หากจะแยกแยะกันจริง ๆ แล้ว จะมีความแตกต่างระดับแรกในเรื่องของการใช้ปฏิทิน 2 แบบ คือแบบสุริยยาตรและแบบดาราศาสตร์นิรายนะ ซึ่งคำนวณแบบเดียวกันกับปฏิทินดาราศาสตร์สายนะที่ใช้ในโหราศาสตร์สากล ต่างกันแต่ว่าจะตัดอยนางศหรือไม่จนบางกรณีอาจจะถือเป็นแบบเดียวกันก็ได้ แต่ปฏิทินแบบสุริยยาตรนั้นจะเอามาเปรียบเทียบกับแบบสายนะไม่ได้เลย เพราะแค่การคำนวณก็คนละเรื่องกันแล้ว พอถึงระดับการพยากรณ์ในโหราศาสตร์ไทยนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีเพียง 3 แนวทางใหญ่ ๆ เท่านั้น คือการพยากรณ์แบบราศีนิยมหรือที่เรียกกันว่า "ดวงอีแปะ" ซึ่งมักจะไปอิงกับทักษาหรือโยคเกณฑ์สารพัดแบบ การพยากรณ์สิ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น "ไส้ชะตา" คือ นวางค์ ตรียางค์ และฤกษ์ และการดูดวงสมผุสซึ่งมักจะต้องใช้เรื่องเชิงมุมแบบสากลเข้ามาประกอบ
ในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ขอตัดสินชี้ขาดว่าแนวทางใดถูกต้องที่สุด แต่จะขอตั้งข้อสังเกตว่าหลักการของทั้ง 3 แนวทางนี้ แม้ในจะอาศัยพื้นฐานขั้นต้นจากดวงราศีนิยมเหมือนกัน เมื่อศึกษาไปจนถึงระดับหนึ่ง จะพบว่าแต่ละแนวทางจะมีกฎเกณฑ์หยุมหยิมของมันเองจนไม่สามารถจะไปประสานกับแนวทางอื่นได้เลย เพียงแค่ในแนวทางอันเดียวกันบางทียังแทบจะไปกันไม่ได้เช่นพวกที่เล่นแค่ราศีนิยมบางคนก็ใช้ทักษาบางคนก็ไม่ใช้ แล้วผู้ที่ศึกษาในแนวนี้ก็มองว่าพวกเล่นองศากับตรียางค์นวางค์ฤกษ์นี่คิดมากไม่เข้าเรื่อง พวกที่ศึกษาในอีก 2 แนวก็มองว่าดูแต่ราศีอย่างเดียวจะไปทำอะไรได้ ดังนี้เป็นต้น ในที่นี้จึงอยากจะขอแนะนำว่าให้เลือกศึกษาเพียง 1 ใน 3 แนวทางที่ว่ามานี้ อย่าเที่ยวเก็บเอาเรื่องที่ต่างแนวทางมาผสมผเสกัน และเลือกใช้ปฏิทินเพียงแบบใดแบบหนึ่งระหว่างสุริยยาตรกับดาราศาสตร์ทั้งในดวงเดิมและดวงจรให้เป็นระบบเดียวกัน แล้วท่านจะพบว่าหัวสมองของท่าน "พล่าน" น้อยลงไปมาก
พฤติการณ์อีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตในวงการของเราคือ "ไวไว" ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โตแล้วเรียนลัด" อันเป็นเรื่องของบุคคลจำพวกที่เห็นคนอื่นที่เรียนมาก่อนเขาทายกันแม่น ๆ ก็อยากจะเก่งอย่างนั้นบ้าง แต่ไม่ยอมเข้าใจว่ากว่าเขาจะมีความรู้ขนาดนั้นได้ต้องศึกษาค้นคว้าและทำนายหาประสบการณ์มาตั้งเท่าไหร่ คิดเอาง่าย ๆ แต่เพียงว่าถ้าลองคุยลองตื๊อดูสักหน่อยเดี๋ยวก็จะได้เคล็ดลับมาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ราวกับพระเอกนิยายกำลังภายในบางเรื่องที่พอได้อาจารย์ดี ๆ มาบอก "เคล็ดวิชา" ให้หรือได้คัมภีร์วิทยายุทธดี ๆ สักเล่มมาอ่านเที่ยวเดียวก็จะกลายเป็น "จอมยุทธ" ขึ้นมาได้ ซึ่งในโลกแห่งความจริงของวงการโหราศาสตร์มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าพวกที่ชอบเรียนแบบครูทักลักจำแบบนี้เวลาทำนายดวงชะตาก็จะมีแต่ลูกเล่นเบ็ดเตล็ดตื้น ๆ ที่จำขี้ปากเขามาใช้ผิด ๆ ถูก ๆ เวลาที่เรียนอะไรในห้องเรียนของสมาคมก็จะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะคอยจ้องจะจดจำแต่ลูกเล่นที่จะเอาไปใช้อย่างฉาบฉวยตามความเคยชิน มากกว่าที่จะค่อย ๆ เรียนรู้อะไรอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าไปเรียนวิชาที่ต้องใช้ความคิดมาก ๆ อย่างยูเรเนียนหรืออินทภาษบาทจันทร์แล้วจะไม่รู้เรื่อง ลงท้ายก็วนอยู่แค่ดวงไม่มีสมผุสหรือเลข 7 ตัวส่งไปเลย ซึ่งความสามารถก็ยังเทียบกับคนที่เขาเรียนทางนี้มาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่ได้
สุดท้ายนี้ก็ขอให้นักพยากรณ์รุ่นใหม่ทั้งหลายได้สำรวจตัวเองว่ามีนิสัยดังในข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมานี้หรือไม่และปรับปรุงตัวเองเสีย เพราะข้อเสียเหล่านี้มีแต่จะทำให้เรามีความรู้แต่เพียงงู ๆ ปลา ๆ แล้วยังจะทำให้ผู้ที่มาขอพยากรณ์ต้องเสียประโยชน์อีก การเรียนโหราศาสตร์นั้นควรจะเรียนเพื่อไปสู่ความเชื่อมั่นในตัวเองในทางที่ถูก อันจะนำไปสู่การเป็นที่พึ่งของตนเองและสังคมได้ ศึกษาอย่างมีวิจารณญาณว่าสิ่งใดควรเชื่อไม่ควรเชื่อตามแนวทางที่ได้เลือกสรรอย่างรอบคอบแล้ว และมีความอดทนพอที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขอให้จำไว้เถิดว่าวิชาโหราศาสตร์นั้นมันไม่มีหลักการอะไรที่ง่ายชนิดผูกดวงแก๊กเดียวก็ดูรู้ว่าใครจะรวยจะจนเมื่อไหร่ ถ้าใครยังหลงคิดว่าจะเล่นโหราศาสตร์กันได้ง่าย ๆ เหมือนกินบะหมี่ซองแล้วละก็ เลิกเรียนโหราศาสตร์เสียจะดีกว่า
|
หลักโหรโดนใจ
|