|
 |
โหราศาสตร์ มีวิชาเดียว  วันที่ 26/07/2009 22:58:52
ในงานประชุมเพื่อจัดตั้งชมรมโหราศาสตร์ภาคเหนือตอนล่างที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา ได้มีผู้อภิปรายจากสำนักโหราศาสตร์ไทยสำนักหนึ่ง แสดงท่าทีไม่นิยมชมชอบในพยากรณ์ศาสตร์อื่น โดยเฉพาะโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่มีผม คุณกำพล ภาระโภชน์ (Astroman) และคุณนิติ นิลพันธ์ (พ่อหมอไทย) เป็นเสมือนตัวแทนในที่ประชุมนั้นอยู่
ในวันนั้นไม่มีผู้ใดโต้ตอบท่านผู้นั้นในลักษณะที่จะทำให้เสียบรรยากาศ ผมเพียงแต่กล่าวถึงการเคารพในความแตกต่างของผู้ศึกษาในแต่ละศาสตร์ ส่วนพ่อหมอไทยก็สงวนท่าทีในฐานะเป็นตัวตั้งตัวตีและพิธีกรในการจัดประชุมครั้งนั้น ส่วน Astroman ก็เพียงแต่อธิบายประวัติวิชาโหราศาสตร์ตามที่ได้เรียนมาจากอาจารย์พลตรีประยูร พลอารีย์ ว่าแหล่งวิชาโหราศาสตร์ดั้งเดิมของโลกคือดินแดนบาบิโลเนีย ลุ่มน้ำไทกริสและยูเฟรติส ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิรัค มีจารึกโบราณต่างๆ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีแสดงหลักวิชาดั้งเดิม ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั้งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งโหราศาสตร์ยูเรเนียนก็มีที่มาจากการค้นพบและศึกษาจารึกโบราณของบาบิโลเนียดังกล่าว รายละเอียดท่านผู้ชมเว็บสามารถศึกษาได้จากแหล่งอื่น อาทิ ส่วนบทนำของคัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ
ส่วนที่ผมอยากจะพูดคุยกันต่อในเว็บนี้ ในฐานะผู้เคยศึกษาประวัติศาสตร์ที่เน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ ก็อยากจะเชิญชวนให้ท่านลองวิเคราะห์ดูว่า การแบ่งแยกว่านั่นเป็นของไทย นี่เป็นของสากล หรืออะไรเป็นของชาติไหน เป็นสิ่งที่ทำได้จริงจังขนาดไหน
โดยแท้ที่จริงแล้ว วัฒนธรรมหรืออารยธรรมของแต่ละชนชาติไม่ว่าด้านใด ล้วนเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดไปมาซึ่งกันและกัน จนยากที่จะหาวัฒนธรรมบริสุทธิ์ได้ การเอาแต่ “รักษาวัฒนธรรม” กับการเอาอย่างวัฒนธรรมอื่นโดยไม่ลืมหูลืมตาล้วนเป็นสุดโต่งคนละขั้วกัน วัฒนธรรมที่ดีย่อมมีการเลือกสรรสิ่งที่ดีจากวัฒนธรรมอื่นมาปรับใช้ให้เหมาะกับตนด้วย
เพลง “ไทยเดิม” นั้น มีตั้งแต่เขมรไทรโยค ลาวดวงเดือน แขกต่อยหม้อ มอญดูดาว ฯลฯ และวงดนตรีไทยเครื่องสายก็มี “ขิม” ร่วมอยู่ด้วย พุทธศาสนามีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย คำในภาษาไทยหลายคำมีที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต และเขมร รูปแบบของธงไตรรงค์มาจากแถบสีที่ชาติสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนิยมใช้ และในปัจจุบันนี้มีใครบ้างที่ยังแต่งชุดไทยในโอกาสใด ดังนี้เป็นต้น
ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าชาติไทยมีอะไรแปลกประหลาดไปจากชาติอื่น ทุกภาษาล้วนมีการหยิบยืมถ้อยคำมาจากภาษาของชาติอื่นที่ตนติดต่อด้วยทั้งสิ้น พม่าจะเคยสู้รบขับเคี่ยวกับคนไทยมาขนาดไหนก็ยังมีอาหารที่เรียกว่า “โยเดียซุป” (โยเดียคืออยุธยาหรือคนไทยนั่นเอง) ไมเคิล ไรท์เคยเล่าว่าปี่สก็อตเคยเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมอย่างกว้างขวางในยุโรปหลายท้องถิ่นมาก่อน ศาสนาคริสต์ของฝรั่งก็กำเนิดจากนิกายหนึ่งของชาวยิว เช่นเดียวกับที่ศาสนาอิสลามกลายเป็นศาสนาประจำชาติของหลายประเทศนอกเขตอาหรับ ฯลฯ
เหตุที่วัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งกลายเป็นสิ่งเลวร้ายในสังคมไทยอาจจะเนื่องมาจากลัทธิจักรวรรดินิยมในอดีต ที่ปัจจุบันยังคงดำรงอยู่ในเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ อันต่างจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในสังคมโบราณที่อยู่บนพื้นฐานของการเกื้อกูลกัน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การรักษาเอกราชของไทยและการกู้ชาติของประเทศเพื่อนบ้านก็ล้วนมีพื้นฐานมาจากการเรียนรู้จากตะวันตกในระดับหนึ่งทั้งสิ้น
ย้อนกลับมาเรื่องโหราศาสตร์ เชื่อว่าโหราศาสตร์ไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ซึ่งอาจรวมถึงลังกาพม่ารามัญและจีนบ้าง จนในปัจจุบัน ปฏิทินที่คำนวณโดยอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้วและสานุศิษย์ ก็ไม่ได้ดำเนินรอยตามคัมภีร์สุริยยาตร์ล้วนๆ หากแต่ยังต้องอาศัยการประยุกต์ความรู้จากดาราศาสตร์สากล โดยเฉพาะการคำนวณจันทร์ ดังปรากฏในคำนำของปฏิทินนั้นๆ เอง หลักทักษาที่หลายสำนักใช้ว่ากันว่ามาจากเลขเจ็ดตัวของพม่ารามัญ
ผมจึงอยากเสนอว่าไม่ว่าโหราศาสตร์หรือวิชาการวัฒนธรรมใดๆ ก็ตาม ไม่อาจกำหนดแบ่งแยกได้ว่าสิ่งใดเป็นของชาติใดได้โดยเด็ดขาด เราอาจจริงจังกับความเป็นไทยเป็นสากลหรือเป็นนั่นเป็นนี่ได้ในระดับหนึ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบางประการ เช่น เพื่อแสดงความเป็นชาติเดียวกันสังคมเดียวกัน แต่เราไม่อาจเอาเป็นเอาตายกับมันได้ เพราะเราหาวัฒนธรรมบริสุทธิ์แทบไม่ได้ และไม่ควรที่จะปิดกั้นธรรมชาติของวัฒนธรรมที่จะต้องเรียนรู้ถ่ายทอดซึ่งกันและกัน
ไม่ว่าโหราศาสตร์ไทยฝรั่งแขกจะคำนวณดาวแตกต่างกัน ใช้ดาวมากน้อยต่างกัน มีทฤษฎีปลีกย่อยแตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักใหญ่ๆ หลายประการก็มีอยู่คล้ายกัน มี 12 ราศีเหมือนกัน 12 เรือนชะตาเหมือนกัน ความหมายของดาวหลักๆ แทบไม่แตกต่างกัน
และในส่วนที่แตกต่างกันไปบ้างบางครั้งก็เป็นสิ่งที่อาจประนีประนอมหรือหยิบยืมมาใช้ซึ่งกันและกันได้ จักรราศีแบบนิรายนะในโหราศาสตร์ไทยและสายนะแบบสากลนั้น ดังที่อาจารย์ศิวะเมษเคยเสนอในหนังสือหลักโหรว่า จักรราศีแบบไทยนั้นหากใช้เรือนชะตาตามองศาลัคนาแบบยูเรเนียนแทนเรือนชะตาแบบทั้งราศีจะมีความแม่นยำมากขึ้น หลักพินทุบาทว์ เช่นที่ว่า “ศุกร์เจ็ดอาจารย์เจ้า ว่าร้อนนิรันดร์” นั้นในโหราศาสตร์สากล/ยูเรเนียนดูคล้ายไม่มีปัญหาอะไร ทั้งที่หลายดวงเป็นตามตำราไทยว่าไว้จริงๆ การผสมความหมายดาวโดยหลักคู่มิตร คู่ศัตรู คู่ธาตุ คู่สมพล เมื่อเทียบกับสูตรพระเคราะห์สนธิก็มีเหตุผลที่สอดคล้องกันอยู่มาก (ดูเรื่องดาวคู่สมพลในบทความเรื่อง “พฤหัสดีและเสาร์ร้ายจริงๆ หรือ” ประกอบ)
ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยข้อความตอนหนึ่งจากคำนำหนังสือสูตรพระเคราะห์สนธิของอาจารย์พลตรีประยูร พลอารีย์ ว่า
อย่างไรก็ดี คำแปลทั้งหลายที่ตราไว้ในคัมภีร์นี้ย่อมเป็นเสมือน “แนวทางอันหนึ่ง” สำหรับ “ชี้แนะ” หนทางที่จะพยากรณ์แก่ผู้ใช้คัมภีร์นี้เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการใช้วลีสั้นๆ เท่าที่จำเป็น ในการพยากรณ์ให้แก่เจ้าชะตาจริงๆ จึงเป็นภารกิจของผู้พยากรณ์ที่จะต้องหาคำพูดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสอดคล้องกันกับข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบ ทั้งนี้รวมทั้งการคำนึงถึงกาลสมัยด้วย ยิ่งไปกว่านั้นหากนักศึกษาผู้มีความรู้ความเข้าใจพบว่าสมควรจะปรับปรุงแก้ไขคำแปลสูตรใด ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้านประสบการณ์ของท่านเอง ก็อาจปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ได้ตามหลักวิชา ซึ่งเหตุผลเกี่ยวกับหลักวิชานี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นของต่างประเทศและมาจากนักโหราศาสตร์จากสำนักที่ใช้แนวทางของท่านอัลเฟรด วิตเตอ เท่านั้น แม้จากสำนักอื่นๆ ทั้งแบบไทย ภารตะหรือสากลก็ตาม หากมีเหตุผลและรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ที่มาจริงๆ แล้ว ก็สามารถที่จะนำมาเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปรับปรุงได้เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะวิชาโหราศาสตร์ในโลกนี้มีเพียงวิชาเดียวและเป็นอันหนึ่งอันเดียว การแบ่งแยกใดๆ ก็ตาม ผู้ที่มีการศึกษาสมัยนี้ต่างทราบดีว่า ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติทางด้านจิตวิทยา การโฆษณาและการค้า |
หลักโหรโดนใจ
|