(หมายเหตุ มกราคม 2553 : ด้วยบทความนี้ผ่านมาพอสมควรแล้ว และในปัจจุบันผมได้ใช้ Printer รุ่นอื่นแทนแล้ว จึงขอได้โปรดระวังบางประเด็นที่อาจจะไม่อัพเดทด้วยครับ)
สำหรับบทความนี้ คงต้องออกตัวอีกเช่นเคย ว่าเป็นเพียงทัศนะและประสบการณ์ส่วนตัวของนักเล่นคอมพิวเตอร์คนหนึ่งเท่านั้น ท่านสามารถใช้วิจารณญาณได้ว่าอะไรควรเชื่อแค่ไหน
นับแต่ผมเริ่มเล่นคอมพิวเตอร์มา ก็พอจะมีประสบการณ์การใช้เครื่องพิมพ์หรือ Printer มาไม่มากไม่น้อยเกินไปนัก โดยส่วนตัวเครื่องพิมพ์ที่ใช้เป็นตัวแรกคือ เครื่องพิมพ์แบบ 9 เข็ม Epson LX800 ซึ่งยังใช้พิมพ์กระดาษต่อเนื่องเป็นหลัก และสามารถใส่กระดาษ A4 แบบที่เราใช้ทุกวันนี้ได้เหมือนกัน แต่บางทีก็ต้องอาศัยเทคนิคในการตั้งหัวกระดาษด้วยลูกบิดคล้ายๆ เครื่องพิมพ์ดีดอยู่บ้าง และเวลาสั่งพิมพ์แต่ละทีก็สะเทือนเลื่อนลั่นไปสามบ้านแปดบ้านกันเลยครับ
เป็นธรรมดาที่พอถึงระยะหนึ่ง ก็ต้องปลดระวางเครื่องพิมพ์เก่าไป จังหวะนั้น เครื่องพิมพ์เลเซอร์แต่ละรุ่นยังมีราคาแพงอยู่ แต่เครื่องพิมพ์แบบหมึกฉีด ที่เรียกกันว่า Inkjet บ้าง DeskJet บ้าง พึ่งเริ่มมีวางขาย และแน่นอนว่ารุ่นแรกๆ ก็เป็นเพียงเครื่องพิมพ์ขาวดำ ในตอนนั้นผมตัดสินใจซื้อเครื่องพิมพ์ HP DeskJet 500 ด้วยเหตุผลว่ามันถูกและประหยัดกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ โดยคุณภาพด้อยกว่าไม่มาก
บทเรียนสำคัญจาการใช้เครื่องพิมพ์หมึกฉีดคือ หากเราไม่ค่อยได้ใช้งานมันเป็นประจำ หลอดหมึกซึ่งมีหัวพิมพ์อยู่ด้วยจะเกิดอาการอุดตัน พิมพ์ไม่ออกทั้งที่ยังมีหมึกอยู่ วิธีแก้ แม้จะใช้โปรแกรมสั่งให้เครื่องล้างหัวพิมพ์ก็แล้ว ถอดตลับหมึกมาแช่น้ำอุ่นก็แล้ว เคาะก็แล้ว ปลุกเสกคาถาแช่ด่าสารพัดสารเพก็แล้ว จนอ่อนอกอ่อนใจ ก็ยังไม่ค่อยได้ผลมากนัก ระยะหลังแม้ว่าเครื่องพิมพ์หมึกฉีดจะพัฒนาทั้งการพิมพ์สี ความคมชัด การมีโปรแกรมบอกปริมาณหมึก ฯลฯ ก็ยังรู้สึกเข็ดๆ ชอบกล
เมื่อถึงเวลาปลดระวางเจ้า DeskJet 500 ก็พอดีจังหวะที่พอจะมีเครื่องพิมพ์เลเซอร์ตัวเล็กๆ ราคาพอเหมาะบ้าง และคิดว่างานอดิเรกต่างๆ ที่บ้านก็แทบไม่ได้ใช้การพิมพ์สีอะไร หมึกหรือโทเนอร์ชุดหนึ่งประหยัดมากเพราะใช้บ้างไม่ใช้บ้างก็ไม่มีอาการติดขัด และพิมพ์ได้หลายแผ่นจนแทบจะลืมไปเลย จึงไม่ได้ให้ความสนใจกับเจ้าพวก Inkjet ที่กำลังบูม แต่หากินกับแบบ “เครื่องถูกหมึกแพง” แต่อย่างใด คราวหนึ่งก็ยังเจอดีกับบริษัทแห่งหนึ่งจนได้ เมื่อผมได้เสนอหัวหน้าขอซื้อเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อราชการด้วยประการทั้งปวงเฉกเช่นเดียวกับเมื่อเราใช้งานที่บ้าน แต่เจ้าบริษัทบ้านั้นมันไม่เต็มใจที่จะขายเครื่องพิมพ์เลเซอร์เอาเลย แล้วหันไปล็อบบี้หัวหน้าผมจนต้องกลายเป็นซื้อเครื่อง Inkjet จนได้ เลยต้องมาผจญปัญหาหมึกแห้งหมึกหมดเข้าให้อีกจนกระทั่งย้ายหน่วยงานนั่นแหละครับ
ส่วนเรื่องการใช้สแกนเนอร์ส่วนตัวนั้น คงไม่มีอะไรต้องบอกกล่าวกันเท่าไรนัก เพราะไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงหรือความหลากหลายทางเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ เคยมีเพื่อนเอาสแกนเนอร์แบบมือถือ (Handheld) มาให้ยืมใช้อยู่ประเดี๋ยวเดียว ก็หันมาใช้สแกนเนอร์ตั้งโต๊ะ (Flatbed) ของ Genius โดยได้มีการปลดระวางเครื่องแบบต่อทางพอร์ตพรินเตอร์มาใช้เครื่องพอร์ต USB เท่านั้นเอง
ระยะหลัง จะเริ่มเมื่อไหร่แน่ก็ไม่ทราบ ได้มีการผลิตอุปกรณ์ชนิดใหม่ ที่รวมเอาคุณสมบัติของเครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนเนอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เข้าด้วยกัน โดยบางเครื่องยังใช้เป็นโทรสารได้ด้วย เรียกว่า Multi Function ขึ้นมาจำหน่ายกันอีก โดยในส่วนการพิมพ์นั้น ก็มีทั้งการพิมพ์ระบบ Inkjet ที่เดิมเป็นเพียงขาวดำแล้วพัฒนามาเป็นสี และการพิมพ์ขาวดำแบบ Laser (อนาคตคงมีการพิมพ์สีแบบเลเซอร์เช่นเดียวกับตัวเครื่องพิมพ์เลเซอร์สีที่กำลังถูกลงบ้างแล้ว) ผมก็ยังไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะการที่มันทำได้สามสี่อย่างในเครื่องเดียวกัน เมื่อวันร้ายคืนร้ายฟังก์ชันใดเกิดมีปัญหาต้องส่งซ่อมขึ้นมา คุณก็จะพลอยไม่ได้ใช้งานมันอย่างอื่นไปด้วย
แต่ในที่สุดเมื่อต้องพกกล้องดิจิตอลไปงานต่างๆ แล้วอดใจไม่ได้ ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่อะไรโดยตรง เสร็จแล้วก็ไม่สามารถเก็บไว้ชื่นชมในฮาร์ดดิสก์ตัวเองตามลำพังได้ตลอดไป โดยเฉพาะเมื่อมีรูปเจ้านายผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ด้วย จะเขียนลงแผ่นดิสก์หรือซีดีให้ไปพิมพ์หรืออัดรูปกันเองก็ใช่ที่ และด้วยความที่เป็นโรคชีพจรลงเท้า ต้องไปห้างพันธุ์ทิพย์หรือร้านไอทีอยู่บ่อยๆ จึงได้ดูและเปรียบเทียบคุณลักษณะและราคาของเจ้าพวกเครื่องพิมพ์สีและมัลติฟังก์ชันด้วยความสับสนในใจว่าจะต้องซื้อต้องใช้รุ่นไหนหรือไม่
ด้านการพิมพ์ ใจหนึ่งก็พยายามทำใจให้พอเพียงกับการพิมพ์ขาวดำเลเซอร์พร้อมๆ กับความรู้สึกเข็ดขยาดการใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องการพิมพ์ภาพจากล้องดิจิตอลดังที่กล่าว
ด้านการสแกนต่างๆ ความจริงเจ้าเครื่อง Genius USB ที่ใช้อยู่ก็น่าจะแค่นใช้ไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่วันนั้นจะอีกนานแค่ไหน และถ้าได้เครื่องสแกนที่สามารถป้อนต้นฉบับทีละหลายๆ แผ่นด้วยตัวป้อนกระดาษ (ADF – Automatic Document Feeder) ก็น่าจะช่วยให้งานบางอย่างง่ายขึ้น
ด้านการถ่ายเอกสาร ที่จริงก็นานๆ ครั้ง การสแกนด้วยเครื่องสแกนแล้วสั่งพิมพ์ทางพรินเตอร์ดูเหมือนไม่ใช่ปัญหา
ด้านการรับส่งโทรสาร ยังไม่จำเป็นสำหรับงานส่วนตัวในขณะนี้เลย
และแล้ว เครื่องมัลติฟังก์ชันของ Brother รุ่น DCP-120C ก็เข้ามาอยู่ในความฝัน จนกระทั่งเข้ามาในชีวิตจริงผมจนได้ โดยเริ่มจากการดีไซน์ที่ดูเท่ห์สวยงาม ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป มีอุปกรณ์ป้อนกระดาษอัตโนมัติสำหรับการสแกนและการถ่ายเอกสารหลายๆ แผ่น (ในคู่มือแนะนำให้ใช้กระดาษที่ไม่บางจนเกินไป และไม่ควรใส่เกินครั้งละ 10 แผ่น) สามารถพิมพ์ภาพได้สวยงามใกล้เคียงกับภาพถ่าย ตลับหมึกแม่สีแยกกันรวมทั้งหมึกดำด้วยเป็น 4 ตลับ หากสีใดหมดก็เปลี่ยนเฉพาะสีนั้น และมีอุปกรณ์อ่านหน่วยความจำของกล้องถ่ายรูปดิจิตอล (Card Reader) ติดตั้งอยู่ในตัว
ที่สำคัญคือราคาถูก ในขณะที่ซื้อราคาสี่พันเก้าร้อยบาทเศษๆ เท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นหรืออุปกรณ์อื่นแล้ว ถูกกว่ามากมาย เช่น เครื่องพิมพ์หรือมัลติฟังก์ชันที่พิมพ์สีหลายยี่ห้อ ทั้งที่ถูกและแพงกว่านี้ไม่ได้แยกตลับหมึกสี เมื่อสีไหนหมดก็ต้องเปลี่ยนทั้งหมด เครื่องสแกนเนอร์แบบมีอุปกรณ์ป้อนกระดาษบางรุ่นมีราคากว่า 15,000 บาท เครื่องมัลติฟังก์ชันรุ่นอื่นของ Brother ที่ถูกกว่าเล็กน้อยก็เพราะไม่มีอุปกรณ์ป้อนกระดาษ รุ่นที่มีโทรสารด้วยก็แพงเกินและยังไม่คิดจะรับส่งเอกสารที่บ้าน ไหนจะมีขนาดใหญ่โตเกินตัว มัลติฟังก์ชันยี่ห้ออื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันก็มีราคาหมื่นกว่าบาท แพงกว่าประมาณสองเท่า
ปัญหาหรือข้อจำกัดที่พบบ้าง ได้แก่การลงไดรเวอร์และโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์ที่เวลาซื้อ พนักงานขายทดลองติดตั้งให้ดูในเครื่อง Notebook ด้วยแผ่นซีดีตามขั้นตอนในคู่มือ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอผมกลับมาติดตั้งด้วยวิธีเดียวกันกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่บ้านกลับมีอาการแฮงก์ขึ้นหน้าจอสีฟ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ (อาจเป็นที่สเป็คเครื่องผมเอง) ต้องเปลี่ยนมาติดตั้งโดยใช้การ Add Hardware จาก Control Panel ของ Windows จึงสามารถทำงานได้ ถัดมาคือครั้งหนึ่ง ได้เผลอเอาบทความเก่าของโหราเวสม์ซึ่งสภาพพอๆ กับหนังสือพิมพ์เก่าๆ นั่นแหละครับ มาสแกนด้วยอุปกรณ์ป้อนกระดาษ ปรากฏว่าบทความนั้นเสียหายยับเยิน ซึ่งต้องยกประโยชน์ว่าผมเป็นฝ่ายลืมคำเตือนในคู่มือเอง
นอกจากการพิมพ์ภาพถ่ายกล้องดิจิตอลสมความอยากส่วนตัวของผมแล้ว ผลงานชิ้นเอกชิ้นแรกที่เจ้า DCP-120C มอบให้ผมและผู้สนใจโหราศาสตร์ยูเรเนียนทุกๆ ท่าน คือ การสแกนสำเนาหนังสือเรื่อง “แนะนำโหรายูเรเนียน” เป็นไฟล์ PDF ซึ่งผมได้เปิดให้ดาวน์โหลดที่ http://www.rojn-info.biz/ ต้นฉบับที่ผมใช้ทำงานเป็นกระดาษถ่ายเอกสารรวม 66 หน้า A4 (ถ่ายจากหนังสือโดยคว่ำถ่ายทีละ 2 หน้าคู่กัน) หากใช้เครื่องสแกนที่ไม่มีอุปกรณ์ป้อนกระดาษแล้ว คงใช้เวลาเป็นอาทิตย์กับการปิดเปิดฝาปิดกระจกเครื่องสแกนเพื่อนำกระดาษเข้าๆ ออกๆ บวกกับเวลาทอดถอนหายใจแก้เซ็งอีกไม่รู้กี่ครั้ง ผมใช้มันทำงานสำเร็จได้ในช่วงเวลาข้ามคืนเท่านั้น!!!
หากท่านพบเห็นเจ้ามัลติฟังก์ชันตัวนี้เข้าในร้านไอทีแห่งใด ลองทบทวนดูดีๆ นะครับว่าคุณมีความจำเป็นต้องใช้งานอะไร อย่างไร แค่ไหน เดี๋ยวจะหาว่ามาชวนให้เสียเงินกับไอทีโดยไม่รู้จะคุ้มเหมือนผมหรือเปล่า ลางเนื้อชอบลางยาครับ
นำมาให้แสดงให้สอดคล้องกับบทความเท่านั้น ใครอยากได้หาซื้อแถวบ้านคงง่ายกว่าครับ