|
|
ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล วันที่ 00/00/0000 00:00:00
ในที่สุดผมก็ได้ตัดใจซื้อ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล กับเขาตัวหนึ่ง หลังจากจดๆ จ้องๆ มานาน ด้วยปัญหาด้านงบประมาณ กับมัวแต่ไปสนใจเรื่องอื่น ในฐานะของคนที่พึ่งจะเป็นมือใหม่ในด้านการถ่ายภาพ เรื่องที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้จึงไม่ใช่เรื่องทางเทคนิควิชาการอะไรมากมาย เป็นแค่ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่กำลังคิดหรือยังรีรอที่จะซื้อ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล สักตัว ซึ่งหากท่านมีประสบการณ์พอสมควร ต้องการความรู้เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านี้ มีเว็บไซต์เกี่ยวกับ กล้องถ่ายภาพดิจิตอล อยู่มากมาย ดังเช่น thaidphoto.com (http://www.thaidphoto.com/) ซึ่งพี่ชายผม คือ คุณ รุจ จินตมาศ มีส่วนในการจัดทำ เป็นต้น
ซื้อกล้องยี่ห้อไหนรุ่นไหนดี
กล้องที่ผมตัดสินใจซื้อเป็นตัวแรกคือกล้อง Samsung Digimax 301 เป็นกล้องรุ่นเล็กราคาประหยัด ประมาณหกพันกว่าบาท ซึ่งตอบยากเหมือนกันว่าทำไมในที่สุดจึงเป็นกล้องตัวนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรู้สึกว่างบน้อย จึงพยายามเปรียบเทียบกล้องราคาประมาณห้าพันกว่าบาทขึ้นไปแต่ไม่ถึงหมื่นบาท และอีกประการที่สำคัญคืออยากได้กล้องที่สามารถแสดงภาพออกทางโทรทัศน์ได้ เพราะคิดว่าญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเราหลายคนไม่ได้เป็นมนุษย์ไอที จะให้ดูภาพที่จอแอลซีดีที่ตัวกล้องก็เล็กไป จะถ่ายลงคอมพิวเตอร์แล้วเปิดให้ดูก็ไม่สะดวก แล้วเจ้ากล้องที่ราคาประมาณไล่ๆ กันนี้ก็มีแต่เจ้าตัวนี้ที่ต่อทีวีได้
เมื่อซื้อมาแล้วสิ่งที่ไม่ค่อยจะถูกใจอยู่บ้างในภายหลังประการแรก คือ การที่เจ้ากล้องตัวนี้มันสามารถซูมได้แต่แบบดิจิตอลเพียง 3 เท่าเท่านั้น ไม่สามารถซูมแบบออพติคอลได้เลย การซูมหรือขยายภาพแบบดิจิตอล เป็นการขยายภาพที่ต้องการถ่ายด้วยวิธีการคำนวณว่าถ้าภาพเดิมมีจุดกี่จุดสีอะไรบ้าง เมื่อขยายภาพขึ้นแล้วจะต้องเพิ่มจุดอะไรสีอะไรตรงไหน แบบเดียวกับเวลาเราดูภาพในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรม Photoshop หรือ ACD See แล้วสั่งขยายภาพนั่นแหละครับ ส่วนการซูมแบบออพติคอล นั้นคือการซูมโดยใช้กำลังความสามารถของตัวเลนส์ ทำให้ได้ภาพที่ชัดกว่า ไม่พร่ามัวเหมือนการซูมแบบดิจิตอล เมื่อกล้องของผมซูมได้แต่ดิจิตอล บ่อยครั้งที่ต้องเข้าไปถ่ายใกล้ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ ถ้าเข้าใกล้มากไม่ได้จริงๆ การซูมภาพประมาณ 1-2 เท่ากว่าๆ ก็ให้ภาพที่พอยอมรับได้
อีกจุดหนึ่งซึ่งถ้าพลาดไปแล้วจะเป็นปัญหาที่แก้แทบไม่ได้เลย คือการที่เจ้ากล้องตัวนี้ออกแบบมาให้มีสวิตซ์ตั้งการถ่ายมาโคร (การถ่ายระยะใกล้มาก) ไว้ที่ข้างซ้ายของตัวกล้อง (สังเกตภาพประกอบ) ซึ่งโอกาสสูงมากที่มือเราเองจะไปโดนเสียเอง ซึ่งจะทำให้ภาพที่เราตั้งใจถ่ายปกติเกิดการพร่ามัวเพราะตั้งโฟกัสผิด ถ้าเป็นไปได้อาจจะต้องหาเทปหรืออะไรมากันไม่ให้สวิตซ์เลื่อน หรือกรณีที่ทดลองใช้การถ่ายมาโคร เมื่อเสร็จแล้วต้องตั้งกลับเป็นการถ่ายปกติทันที
|
อุปกรณ์เพิ่มเติม
นอกจากกล้องตัวใหม่ของคุณแล้ว อุปกรณ์ที่ควรกำหนดงบประมาณเพื่อซื้อพร้อมกันไปเลยทีเดียว ได้แก่
- การ์ดหน่วยความจำ (กล้องบางรุ่นโดยเฉพาะที่กำลังโปรโมชั่นอาจมีแถมให้แล้ว) ซึ่งใช้ในการบันทึกภาพแทนฟิล์ม แนะนำว่าควรซื้อขนาดสัก 128 เมกะไบต์ขึ้นไป เพื่อจะได้ไม่ต้องมาหงุดหงิดทีหลังว่าถ่ายได้ไม่กี่ภาพ
- ชุดถ่านที่ชาร์จไฟได้พร้อมแท่นชาร์จ อย่าหวังพึ่งถ่านไฟฉายธรรมดาหรือแม้กระทั่งถ่านอัลคาไลน์เลยครับ กล้องดิจิตอลเป็นอุปกรณ์ที่กินไฟมาก ยอมเสียเวลาชาร์จไฟบ้างดีกว่าต้องซื้อถ่านกันแทบทุกครั้งที่ใช้งานหรือต้องซื้อเก็บเป็นแพ็คๆ และถ้าจำเป็นต้องให้ใครยืมกล้องพร้อมถ่านชาร์จได้ละก็ ต้องกำชับว่าอย่าทิ้งถ่านเป็นอันขาด
อุปกรณ์ที่อาจจำเป็นอีกตัวคือ ไดร์ฟอ่านการ์ดหน่วยความจำ (Card Reader) เพื่อใช้แทนการต่อกล้องกับคอมพิวเตอร์เพื่อประหยัดถ่านบ้าง ไม่อย่างนั้นเวลาที่คุณต่อกล้องกับคอมพิวเตอร์ควรรีบก๊อปปี้ภาพลงเครื่องทันที
ส่วนอะแด๊ปเตอร์สำหรับเสียบปลั๊กไฟบ้านนั้นไม่ค่อยจำเป็นนัก (แต่ถ้ากล้องรุ่นไหนแถมมาให้แล้วก็ดีไป) และขาตั้งกล้องก็ใช้เฉพาะการถ่ายบางโหมดบางเวลา เช่น การถ่ายภาพตัวเอง หรือการถ่ายในโหมดที่ต้องการความนิ่งมือสั่นไม่ได้ ควรจะทยอยซื้อทีหลังดีกว่าครับ ทั้งนี้กล้องบางรุ่นอาจมีอุปกรณ์บางตัวที่ผมกล่าวมาให้เราโดยปกติหรือโดยช่วงโปรโมชั่นพิเศษอยู่แล้ว
|
ตาคน VS เลนส์+แฟลช
ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของที่คนพึ่งหัดถ่ายรูปอย่างผม คือ การหลงผิดว่าถ้าตาเราเห็นภาพอย่างไร เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้วจะต้องออกมาอย่างนั้น ปัญหาเรื่องการถ่ายย้อนแสง ถ่ายภาพแล้วมืดกว่าที่เห็น การถ่ายมาโคร การซูม และอะไรต่างๆ เป็นเรื่องที่มือใหม่ต้องยอมสละเวลาศึกษาทำความเข้าใจและฝึกฝนตลอดจนถามผู้ที่ถ่ายภาพมาก่อนให้ดี เพื่อจะได้ตั้งค่ากล้องให้ถูกต้องก่อนถ่าย
ไปถ่ายอะไรที่ไหนดี
จากการสังเกตสังกาของผม โดยเฉพาะในช่วงกำลังเห่อกล้องอยากฝึกถ่ายภาพนั้น พบว่าแม้แต่ในป่าคอนกรีตเมืองกรุงก็ยังพอเลือกหาทิวทัศน์ที่น่าสนใจถ่ายภาพได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตึกทรงโบราณในบางท้องที่ ตึกสมัยใหม่สไตล์แปลกหรู สวนหย่อมของบางตึกบางบ้านที่มีไว้ลดมลพิษ สวนอาหารหลายแห่ง วัดหลายวัดและศาสนสถานต่างๆ บนสะพานลอยข้ามถนนบางแห่งและบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหลายสถานีก็มีมุมดีๆ สำหรับถ่ายภาพอาคารสถานที่ใกล้เคียงอยู่มาก ดังนั้น แม้ท่านจะเป็นคนเมืองที่ไม่ค่อยได้เที่ยวต่างจังหวัดอย่างผม ก็สามารถหาประสบการณ์การถ่ายภาพวิวสวยๆ ได้ไม่ยาก
งานสำคัญต่างๆ
การเตรียมตัวล่วงหน้าที่สำคัญที่สุดคือ การเตรียมชาร์จถ่านไว้ให้พร้อมทั้งก้อนจริงและก้อนสำรอง อย่างละ 1 ชุด ตามจำนวนที่กล้องของท่านต้องใช้ เช่น กล้องผมใช้ถ่าน AA 2 ก้อน แต่ต้องเตรียมไว้จริงถึง 4 ก้อน เป็นอย่างน้อย รวมถึงการลบภาพเก่าออกจากการ์ดหน่วยความจำเพื่อให้แน่ใจว่ามีพื้นที่พอบันทึกภาพ การเตรียมอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ที่อาจต้องใช้ เช่น ขาตั้งกล้อง งานที่เป็นพิธีการบางอย่างที่มีการแจกกำหนดการล่วงหน้าก็ควรศึกษาทำความเข้าใจเพื่อการวางแผนคร่าวๆ ว่าจังหวะไหนเราจะต้องไปถ่ายใครหรือเหตุการณ์อะไร รวมถึงการบันทึกหมายเหตุของภาพนั้นๆ กันลืม ควรไปถึงสถานที่ก่อนเวลาสักหน่อยเพื่อดูสถานที่ว่าจะถ่ายจากมุมใดได้บ้าง และเตรียมตั้งค่ากล้องให้เหมาะสม
งานโหราศาสตร์และการพยากรณ์ล่ะ?
เมื่อตอนที่กล้องถ่ายภาพดิจิตอลวางตลาดใหม่ๆ เคยคุยกับผู้ศึกษาลายมือว่าจะใช้กล้องพวกนี้ในการจัดเก็บภาพมือคนได้หรือไม่ ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนนัก สังเกตมาจนถึงปัจจุบันนักพยากรณ์ลายมืออาชีพดังเช่นหลายท่านที่สถาบันโหรเลขที่ ๕ ก็ยังนิยมการพิมพ์ภาพมือด้วยหมึกอยู่ ซึ่งผมคงไม่บังอาจไปแนะนำให้ใครเขาทำอะไรที่ฝืนความถนัดเดิมๆ สังเกตจากกล้องผมเองก็ยังถ่ายภาพมือไม่เห็นลายละเอียดชัดเจนมากนัก แม้เชื่อว่ากล้องรุ่นที่ดีๆ กว่าที่ผมใช้น่าจะเก็บภาพมือได้ดีกว่า ถ้าวันไหนนึกสนุกอยากเรียนลายมือขึ้นมาก็คงต้องเรียนการพิมพ์มือให้เข้าใจก่อนอยู่นั่นเอง ส่วนท่านที่เป็นนักพยากรณ์ลายมือที่มีประสบการณ์แล้ว จะตัดสินใจทดลองอย่างไรก็แล้วแต่ความเห็นของท่านก็แล้วกันครับ
ส่วนงานโหราศาสตร์ที่ต้องผูกดวงตามวันเวลาเกิดนั้น จะได้ประโยชน์จากกล้องดิจิตอลในกรณีที่ต้องการศึกษารวบรวมใบหน้าและลักษณะบุคคลมาศึกษาประกอบดวง ว่าผู้ที่มีลัคนาหรืออาทิตย์ในราศีนั้นราศีนี้มีลักษณะตรงตามตำราเพียงใด ผมเคยได้รู้จักผู้ศึกษาดวงสิบลัคนาท่านหนึ่งที่ได้เก็บภาพแสกนจากภาพถ่ายของบุคคลต่างๆ ไว้ ซึ่งหากผู้ศึกษาในแนวนี้ใช้กล้องถ่ายภาพดิจิตอลก็จะช่วยได้มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้องเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้นี้อาจต้องพิจารณาเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลในภาพพอสมควร ผู้ที่ศึกษาวิชาโหงวเฮ้งก็น่าจะใช้ประโยชน์จากกล้องดิจิตอลในการรวบรวมภาพบุคคลได้เช่นเดียวกัน
หนังสือแนะนำ : คู่มือเลือกซื้อและใช้งานกล้องดิจิตอลฉบับสมบูรณ์ โดย อรวินท์ เมฆพิรุณ และวศิน เพิ่มทรัพย์ สำนักพิมพ์ Provision
|
โหราศาสตร์-ไอที
|