(หมายเหตุ มกราคม 2553: เนื่องจากบทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่เปิดเว็บเมื่อปี 2546 ขอได้โปรดพิจารณาในบางประเด็นที่อาจจะไม่อัพเดทด้วยครับ ถ้าว่างผมจะเขียนเกี่ยวกับ NetBook ที่ได้ซื้อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ให้อ่านแทนครับ)
เมื่อสักปีสองปีก่อนผมยังเคยพูดกับพวกนักโหราศาสตร์ด้วยกันว่า คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเขาผลิตมาสำหรับพวกนักธุรกิจรวยๆ ราคาแต่ละเครื่องมันจึงสูง อย่างน้อยห้าหมื่นปลายๆ เฉียดหกหมื่นขึ้นไป หลายรุ่นราคาแสนกว่า เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติต่างๆ ยากที่บรรดานักโหราศาสตร์ทั่วไปที่รายได้ไม่มากจะเอื้อมถึง
ว่ากันว่าเหตุสำคัญที่ทำให้โน้ตบุ๊คราคาสูงนั้น ก็เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตส่วนจอภาพให้แบนและบางนั่นเอง ราคาโน้ตบุ๊คกว่าครึ่งหรือสองในสามเป็นต้นทุนในการผลิตจอเลยทีเดียว
บรรดานักโหราศาสตร์ที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ซึ่งก็มักจะเป็นโหราศาสตร์ยูเรเนียน จึงมักต้องใช้คอมพิวเตอร์มือสอง ราคาสักหมื่นกว่าๆ นอกจากเหตุผลเรื่องงบประมาณแล้ว โปรแกรมทางโหราศาสตร์เท่าที่มีขายกันก็ไม่ได้ต้องการเครื่องที่เสป็คสูงมากนัก แหล่งสำคัญคือร้านไม่กี่ร้านในห้างพันธุ์ทิพย์ที่นำเข้าของมือสองจากญี่ปุ่น แป้นพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ+ญี่ปุ่น ที่ติดสติ๊กเกอร์อังกฤษ+ไทยทับลงไป แม้กระนั้นก็ยังมีแป้นหรือคีย์ที่เกินมาอยู่สองสามอัน ตอนที่ผมยังไม่มีโน้ตบุ๊คมือสองของตัวเอง เวลาได้ต้องพิมพ์หรือต้องแก้ปัญหาอะไรให้เจ้าของเครื่องประเภทนี้ ปรากฏว่าจะมีเจ้าแป้นส่วนเกินอยู่คู่หนึ่งที่ดันมาอยู่ตรงที่ที่ผมจะใช้นิ้วโป้งในการเคาะ Space Bar ทำให้การใช้งานขลุกขลักอยู่บ้าง
ถึงตอนที่จะต้องตัดสินใจซื้อโน้ตบุ๊คไว้ใช้เองนั้นเป็นไปด้วยความลำบาก และใช้เวลานาน เหตุเพราะอยากได้เครื่องมือหนึ่งเงินผ่อน แต่ติดขัดว่าเงินเดือนไม่สูงพอจะทำบัตรเครดิต เครื่องที่ราคาระดับต้นๆ ก็ตัวใหญ่เทอะทะ ไม่คล่องตัวสำหรับคนที่ยังต้องขึ้นรถเมล์อย่างผมเลย เครื่องที่เล็กและบางหน่อยก็ราคาสูงต้องผ่อนอย่างหนักและนาน เหมือนจะต้องลดเงินเดือนตัวเองจนแทบไม่พอกินเป็นปีๆ เลยทีเดียว
พอจะหันมาดูเครื่องมือสองปัญหาก็ทำนองเดียวกัน เครื่องที่ราคาถูกหน่อยก็เสป็คต่ำไป เป็นซีพียูรุ่นเก่า แต่ละตัวก็ใหญ่ๆ ทั้งนั้น ถ้ารวมกับอุปกรณ์และเอกสารที่ต้องใช้ประจำแล้ว คงต้องหิ้วกันตัวเอียงแน่ และที่ผมต้องการมากคืออยากได้รุ่นที่มีพอร์ตยูเอสบีอย่างน้อยหนึ่งพอร์ต เพื่อที่จะได้ต่ออุปกรณ์บางตัวเพื่อการถ่ายข้อมูลด้วยซีดีรอมหรือสายเชื่อมโยงกับเครื่องใหญ่ได้โดยไม่ต้องมามัวพึ่งอยู่แต่แผ่นฟล้อปปี้ดิสก์ที่ความจุนิดเดียว
เกือบจะไปซื้อเครื่องอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่โน้ตบุ๊ค แต่เป็นเครื่องตั้งโต๊ะขนาดเล็กที่จอกับตัวเครื่องอยู่ด้วยกัน ขนาดจอประมาณ 10 นิ้ว ความหนาใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊ค มีขาตั้งพับใส่กระเป๋าได้ ราคาคิดว่าพอไปไหว ยังติดอยู่ว่าใส่ในกระเป๋าที่มีอยู่ไม่ได้แน่ และไม่รู้จะซื้อกระเป๋าแบบไหนมาใส่
ต้นเดือนเมษายน 46 ถอนเงินเตรียมจะซื้อเจ้าเครื่องนั้นแบบยังสองจิตสองใจ ก่อนไปถึงร้านนั้นผ่านร้านขายโน้ตบุ๊คมือสองจากญี่ปุ่นก็แวะดูเพื่อสงบสติอารมณ์
แล้วก็ไปปิ๊งกับเครื่องโน้ตบุ๊คโตชิบา Dynabook 3010 รูปลักษณ์ใกล้เคียงกับเครื่องมือหนึ่งที่เคยฝันไว้ จอขนาด 10 นิ้ว ตัวบางเฉียบ ซีพียู เพนเทียม 266MMX แรม 96 MB ฮาร์ดดิสก์ 4 GB ข้อจำกัดคือมันบางซะจนไม่มีซีดีรอมในตัว ไดรฟ์เอที่มีให้ก็ต้องต่อออกมาข้างนอก บรรดาพอร์ตอะไรต่อมิอะไรที่เครื่องปกติเขามีกันก็เป็นอุปกรณ์ภายนอกที่ต้องซื้อต่างหาก ยกเว้นพอร์ตยูเอสบีที่ปรารถนาจำนวน 2 พอร์ตมีไว้ให้แล้ว
หลังจากสอบถามและทดสอบอะไรบางอย่างอยู่พอประมาณแล้ว ผมก็ยินดีชำระเงินตามราคาโดยไม่ต่อสักคำ ต่อจากนั้นชีวิตผมต้องสาละวนกับการลงโปรแกรมและข้อมูล รวมถึงการหาซื้อกระเป๋าและอุปกรณ์บางตัวเพิ่มเติม ฮาร์ดดิสก์เคยเสียหนึ่งครั้งในระหว่างการรับประกันซึ่งทางร้านก็ยินดีเปลี่ยนให้ สิ่งที่ได้มาคือความคล่องตัวและความพร้อมในการใช้งานนอกสถานที่ แม้จะไม่ถึงขั้นทำเงินเป็นเรื่องเป็นราวก็ตาม ใครได้พบเห็นเครื่องก็ประทับใจกับขนาดที่กระทัดรัด นักโหราศาสตร์บางรายที่ต้องแบกเครื่องตัวใหญ่ๆ หนักๆ อยู่ออกอาการเหมือนอยากจะเสกให้เครื่องของตัวมีขนาดเล็กลงแบบเดียวกับของผมในพริบตา
ต่อมาไม่นานกระทรวงไอซีทีประกาศขายคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรทั้งแบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ค ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองด้าน ที่จริงเสป็คโดยรวมของไอซีทีมันดีกว่าเครื่องมือสองของผมอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยนึกเสียดายอะไรเลย นอกจากความรู้สึกว่าเครื่องที่มีอยู่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว กระทรวงนี้ดูเหมือนอยากโชว์ออฟว่าข้าขายเครื่องถูกช่วยเหลือชาวบ้านมากกว่าที่จะบอกความจริงกับผู้บริโภคให้ชัดๆ ว่าไอ้เครื่องแบบนั้นมันทำอะไรได้แค่ไหน เหมาะกับคนกลุ่มไหน
และที่สำคัญคือทำไมรัฐบาลต้องทะลึ่งมาขายของตัดราคาแข่งกับชาวบ้าน ทำราวกับตัวเองเป็นห้าง Discount Store ที่กำลังผุดขึ้นมาทำลายล้างร้านโชห่วยอยู่ทุกวันๆ ทำไมไม่ทำแค่ออกมาตรการอะไรให้บริษัทต่างๆ ขายเครื่องได้ในราคาพอเหมาะพอสม หรือคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะในด้านบริการหลังการขาย น่าจะดูเข้าท่ากว่า
ประสบการณ์ของผมคงไม่ใช่สูตรสำเร็จของการซื้อคอมพิวเตอร์สำหรับนักโหราศาสตร์ คนที่มีเงินถุงเงินถังมีรถยนต์แล้วมาจับโหราศาสตร์เขาก็สามารถซื้อเครื่องมือหนึ่งดีๆ ได้โดยไม่เกี่ยงขนาดและน้ำหนัก คำถามอมตะสองข้อในการซื้อคอมพิวเตอร์ไม่ว่าเครื่องตั้งโต๊ะหรือโน้ตบุ๊คคือ จะซื้อไปทำอะไร และมีงบเท่าไหร่
ถ้าผู้ซื้อรายใดตอบคำถามแรกว่าไม่ได้ใช้อะไรมากล่ะก็ อย่าพึ่งพาซื่อหาเครื่องสเป็คต่ำมาเป็นอันขาด ควรเผื่อเสป็คให้สูงกว่าที่เขาต้องการอีกสักนิด ยิ่งถ้ามีครอบครัวมีลูกแล้วละก็ ความต้องการเล่นเกมจะตามมาภายหลังอย่างแน่นอน
เพิ่มเติม:
วันนี้ (26 ก.ย. 2546) ตอนพักเที่ยงได้ไปพบหนังสือชื่อ "คัมภีร์ Notebook" ของคุณจักรกฤษณ์ นพคุณ ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 จึงได้ซื้อมาอ่านดู คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งนักโหราศาสตร์และมนุษย์ไอทีทั่วไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอุดหนุนหรือจะหาอ่านตามห้องสมุดก็ตามอัธยาศัย