การกำหนดและรักษา รหัสผ่าน (Password)  วันที่ 00/00/0000 00:00:00
แม้ว่าการรักษาความลับในระบบสารสนเทศจะได้มีการพัฒนาไปมาก เช่น การใช้บัตรสมาร์ตการ์ด การพิมพ์ลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา ฯลฯ แต่ระบบรักษาความลับหลายระบบที่ใกล้ตัวเรา เช่น การล็อกอินเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต การเข้าเว็บเฉพาะบางเว็บ การใช้งานระบบ LAN หรือฐานข้อมูลบางฐาน หรือแม้กระทั่งการเปิดคอมพิวเตอร์ที่อาจเจอการป้อนรหัสที่ไบออสหรือที่ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส ก็ยังคงต้องใช้การพิมพ์ตัวอักษรที่แป้นพิมพ์อยู่
และแม้ว่ารหัสผ่านจะเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่มนุษย์ไอทีประเภททำได้อย่างใจคือไทยแท้ ก็มีพฤติกรรมที่ยิ่งกว่าการละเลยเสียอีก เช่น จดล็อกอินเนมกับรหัสผ่านติดหราไว้หน้าจอเครื่อง หรือตะโกนขอยืมใช้สิทธิกันกันหน้าตาเฉย
ที่ที่เก็บรหัสผ่านได้ดีที่สุดไม่ใช่สมุดจดหรือตู้เซฟที่ไหน แต่เป็นสมองของเราเอง ปัญหาคือถ้าตั้งรหัสไว้ง่ายเกินไปคนอื่นก็เดาได้ง่าย ถ้ายากเกินไปตัวเองก็จะลืม
การพิมพ์รหัสผ่านให้พิมพ์ด้วยการพิมพ์สัมผัสไวๆ ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัว เช่น ถ้าจำเป็นต้องพิมพ์ต่อหน้าคนอื่นจะได้ไม่ต้องลำบากลำบนกับการบังไม่ให้เขาเห็นจนเสียกิริยา
การกำหนดรหัสผ่านนั้น ท่านว่าให้กำหนดไว้สัก 6-8 ตัวอักษร จะไม่สั้นไม่ยาวเกินไป
ตัวอักษรที่ใช้ควรผสมกันระหว่างอักษรตัวเล็กตัวใหญ่ตัวเลขและเครื่องหมายต่างๆ เท่าที่ระบบนั้นๆ จะอนุญาตให้ใช้ได้ เคยเจอบางระบบเหมือนกันที่ไม่ยอมให้ใช้ตัวอักษรตัวใหญ่กับเครื่องหมายบางตัว ไม่รู้ทำไม กับยังนึกไม่ออกว่ามีระบบโปรแกรมไหนที่ยอมให้ใช้ตัวอักษรไทยได้
ไม่ควรตั้งรหัสตามชื่อของบุคคล สิ่งของ สัตว์เลี้ยงใกล้ตัว ไม่ตั้งเป็นคำศัพท์อะไร และไม่ควรเป็นคำอะไรที่อ่านได้ทั้งสิ้น มีหนังแบทแมนตอนหนึ่งที่ผู้ร้ายโดนเลขาตัวเองแอบเข้าถึงข้อมูลทั้งที่เธอเป็นคนซื่อๆ เซ่อๆ เพียงเพราะว่าไปตั้งรหัสผ่านตามชื่อแมวของตัวเอง
ถึงตรงนี้หลายท่านก็คงยังสงสัยอยู่ว่าถ้าตั้งไว้พิลึกกึกกือมากๆ แล้วจะจำได้ยังไง
ตรงนี้มีฝรั่งคนหนึ่งที่ผมได้รู้จักตอนรับราชการที่ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งนับว่าเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและอาจารย์ผมในหลายเรื่อง เคยสอนไว้ดั่งนี้
ให้นึกถึงเพลงใดเพลงหนึ่งที่เราชอบ หยิบเอามาใช้สักท่อนหนึ่งประมาณ 6-8 พยางค์นั้นแล
เช่น Country road take me home to the place.
อักษรย่อของท่อนนี้คือ crtmhttp ได้ตัวอักษรมาแปดตัว มี t ซ้ำกัน 3 ตัว และควรหาทางเปลี่ยนบางตัวเป็นตัวเลข สัญลักษณ์หรือตัวใหญ่ซะบ้าง
ตัว r ลองเปลี่ยนเป็น = ซึ่งมีลักษณะเหมือนถนน ส่วนตัว t ที่มาจาก to ลองเปลี่ยนเป็นเลข 2 (two) ตัว t ที่มาจาก the เป็น Article ที่เรารู้จักมาตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ก็แปลงให้เป็นตัวใหญ่ซะเลย
ก็จะได้ c=tmh2Tp ง่ายสำหรับเราแต่ยากสำหรับคนอื่น ยังไงก็อย่าชะล่าใจร้องเพลงท่อนนี้บ่อยๆ
อีกวิธีหนึ่งได้มาจากตอนไปอบรมหลักสูตรหนึ่งของ NECTEC คงคิดได้โดยบังเอิญเวลาอยากจะพิมพ์ภาษาไทยแต่ลืมดูว่าแป้นเป็นภาษาอังกฤษ
วิธีนี้จึงเหมือนจะฝืนกฎบางข้อที่กล่าวข้างต้น คือให้เอาชื่อหรือคำในภาษาไทยมาใช้แต่พิมพ์โดยแป้นพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ
เช่น ถ้าผมเอานามสกุลตัวเอง จินตมาศ มาใช้เป็นรหัส เวลาพิมพ์สัมผัสด้วยแป้นภาษาอังกฤษก็จะเป็น 0bo9,kL เป็นตัวอักษร 7 ตัว ประกอบด้วยอักขระตัวใหญ่ตัวเล็กเครื่องหมายตัวเลขครบเครื่องเลยทีเดียว
เรื่องรหัสผ่านและระบบรักษาความปลอดภัยยังมีรายละเอียดหยุมหยิมอีกมาก ผู้ดูแลระบบที่ซีเรียสมากๆ ยังแนะนำให้เปลี่ยนรหัสเป็นระยะๆ เช่น ทุกเดือน ทุกสัปดาห์ ไม่ว่าอย่างไรดูเหมือนปัญหาของรหัสผ่านจะอยู่คู่กับทุกระบบงานเพื่อให้ยาแก้ปวดหัวรักษาลูกค้าประเภทมนุษย์ไอทีไว้ได้ตลอดไป |