
มีโจ๊กของฝรั่งเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการสนทนากับแม่บ้านรายหนึ่ง ทำนองถามเคล็ดลับในการครองรักครองเรือน (ขออภัยที่อาจจำรายละเอียดได้ไม่มาก) แม่บ้านผู้นั้นตอบว่า เธอจะตัดสินใจแต่เรื่องเล็กๆ ปล่อยให้สามีตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ คำถามถัดมาคือเรื่องเล็กๆ ที่ว่านั้นคืออะไร เธอตอบว่าก็เรื่องการบ้านการเรือน เรื่องลูกเข้าโรงเรียน อะไรประมาณนี้ ครั้นพอถามต่อว่าแล้วเรื่องใหญ่ๆ ที่สามีตัดสินใจนั้นเรื่องอะไรกันบ้าง คำตอบของเธอล้วนเป็นเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองของฝรั่งสมัยนั้น ขออภัยอีกทีว่าผมจำได้เรื่องเดียว คือ จีนไหนจะได้ที่นั่งในสหประชาชาติ นอกจากนั้นอาจจะเป็นเรื่องคดีวอเตอร์เกต สงครามเวียดนามหรือสงครามเกาหลี อะไรทำนองนั้น
ดูเหมือนว่าบรรดานักโหราศาสตร์เอง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ก็ชอบเรื่อง “ใหญ่ๆ” ทำนองนี้เสมอมา นับตั้งแต่ยุคที่หนังสือพิมพ์เป็นใหญ่ มาจนกระทั่งถึงยุคทีวีถ่ายทอดข่าวผ่านดาวเทียม และยุคอินเตอร์เน็ตอีเมล์ เรื่องนักโหราศาสตร์กับการทายเหตุการณ์บ้านเมืองกลายเป็นเรื่องหนึ่งที่เล่ากันไม่รู้จบทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าการขยันทายผิดๆ ถูกๆ ให้เป็นข่าวดังไว้ก่อน การถูกหลอกให้หาฤกษ์ปฏิวัติในประวัติของท่านอาจารย์จรัญ พิกุล การทำนายผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง การทายว่ารัฐบาลจะอยู่รอดหรือถูกโค่นล้มเมื่อไหร่อย่างไร ฯลฯ
เรื่องการเมืองยังใหญ่ไม่พอ ยังเลยเถิดไปถึงเรื่องภัยธรรมชาติ วินาศภัย อุบัติเหตุใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องดาราคนไหน ใครจะดัง ใครจะดับ ใครจะแต่งกับใคร หรือจะเลิกกับใคร ดาราอักษรย่อตัวนั้นตัวนี้จะเป็นอย่างไร ใครกินยาน้ำผิดสูตรจนท้องป่องก่อนแต่ง ฯลฯ
เราจะไม่เสียเวลากับพวกแอบอ้างอุตริที่เก่งทางใช้สื่อสร้างอัตตาให้กับตัวเอง แต่เราจะมาคุยกันว่าการศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองหรือเหตุการณ์ทั่วไปด้วยโหราศาสตร์ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมโลกนั้น มีพื้นฐานและแนวทางอย่างไรกันบ้าง
ข่าวดาวกับข่าวทั่วไป
เรื่องการทายเหตุการณ์บ้านเมืองนั้น ผมได้เคยเรียนถามอาจารย์ มานิตย์ ธีระเวชชโรกุล ตั้งแต่เริ่มรู้จักกับท่านใหม่ๆ ท่านก็ยินดีชี้แนะให้ (โดยไม่เกี่ยงผลประโยชน์ใดๆ เหมือนผู้ตั้งตัวเป็นอาจารย์บางรายในสมัยหลังๆ) ว่าให้บันทึกตำแหน่งดาวรายวันตามที่เราได้จากปฏิทิน สังเกตความเคลื่อนไหวของดาวอย่างต่อเนื่องทั้งการทำมุม การยกราศี และการพักร์ เสริด มณฑ์ของดาวแต่ละดวงว่าเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นข่าวขึ้นมา ก็จะสังเกตได้ว่าเหตุการณ์อย่างไหนเกิดขึ้นจากอิทธิพลดาวอะไรบ้าง
สิ่งที่จะต้องมีนอกจากปฏิทินโหราศาสตร์หรือโปรแกรมที่บอกตำแหน่งดาวแล้ว ควรมีไดอารี่หรือสมุดบันทึกสำหรับจดตำแหน่งดาวและเหตุการณ์รายวัน ซึ่งหากกลัวเปลืองกระดาษอาจจดใส่ในปาล์ม พ็อคเก็ตพีซี หรือในพีซีธรรมดาที่หากไม่รู้จะใช้โปรแกรมอะไรก็ใช้แค่ไมโครซอฟต์เวิร์ดก็ยังได้
สำหรับท่านที่ใช้โปรแกรม Solarfire นั้น ท่านสามารถสั่งให้โปรแกรมแสดงความเคลื่อนไหวของดาวจรว่าสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งในรูปแบบข้อความธรรมดา และกราฟิกได้ด้วย รายละเอียดศึกษาได้จากวิธีการใช้โปรแกรมครับ
จังหวะฟ้า
อย่างไรก็ตาม การศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวของดาวแบบรายวัน แม้จะมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวเป็นรายวันนั้น เมื่อถึงรอบเวลาหนึ่ง ก็จะมีการสรุปภาพรวมของข่าวที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็น ข่าวในรอบสัปดาห์ รอบเดือน หรือรอบปี แต่ในการพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าจะกลับกัน คือ พยากรณ์ล่วงหน้าในรอบเวลาต่างๆ แทน
การพยากรณ์เหตุการณ์ในรอบเดือนนั้น นิยมผูกดวง ณ วันเวลาที่จันทร์จรทับกับอาทิตย์จรสนิทองศา เรียกว่า จันทร์ดับ หรือ อมาวสี ซึ่งมักจะใกล้เคียงกับวันแรม 15 ค่ำ หรือขึ้น 1 ค่ำ ตามปฏิทินจันทรคติ โดยจะต้องมีการคำนวณวันเวลาที่แน่ชัดลงไป ซึ่งในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์แห่งนี้ ได้มีการนำเสนอดวงอมาวสีพร้อมการคาดการณ์โดยสังเขปอยู่เป็นประจำ อิทธิพลของอมาวสีนี้จะมีประมาณ 1 เดือน คือจนกว่าจะถึงอมาวสีครั้งใหม่ นอกจากนี้ บางท่านยังนิยมที่จะนำดวงของวันเวลาที่พระจันทร์เพ็ญ หรือปูรณมีมาใช้ในการพยากรณ์เหตุการณ์ในรอบปักษ์หลัง หรือสองสัปดาห์หลังของเดือนจันทรคติ รวมไปถึงการนำวันเวลาที่จันทร์ทำมุม 90 องศากับอาทิตย์มาพยากรณ์ในรอบสัปดาห์อีกด้วย
การพยากรณ์ในรอบเดือนอีกแบบที่นิยมใช้กันไม่น้อย คือ วันเวลาที่อาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีต่างๆ ซึ่งในจักรราศีสายนะที่ใช้ในโหราศาสตร์สากล จะอยู่ประมาณวันที่ 21-22 ของแต่ละเดือน ถ้าเป็นจักรราศีแบบนิรายนะที่ใช้ในโหราศาสตร์ภารตะ-ไทย จะประมาณวันที่ 13-15 ของแต่ละเดือน วันเวลาที่แน่นอนให้ศึกษาจากสื่อหรือโปรแกรมทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง อิทธิพลของดวงนั้นๆ ก็จะมีผลประมาณ 1 เดือนจนกว่าอาทิตย์จะยกเข้าราศีใหม่ โดยไม่มีการแบ่งครึ่งหาวันเวลาที่อาทิตย์เข้าสู่กลางราศี แต่ที่แปลกคือหลังจากที่ผมได้เคยถูกขอร้องให้ศึกษาการคำนวณดวงจีนแบบโป๊ยยี่สี่เถียว ปรากฏว่าวันเวลาที่อาทิตย์ยกราศีในระบบสายนะกลับไปตรงกับวันเวลาเปลี่ยน “สารทเล็ก” ของจีน โดย “สารทใหญ่” ไปตรงกับวันเวลาที่อาทิตย์อยู่กลางราศีของระบบสายนะ อนาคตคงจะต้องศึกษากันต่อไป เท่าที่ปรากฏในโหราศาสตร์ต่างๆ นั้น เรามักถือว่าวันเวลาที่อาทิตย์ยกราศีเมษเป็น “ดวงประจำปี” สำหรับพยากรณ์เหตุการณ์ในรอบปีนั้นๆ ด้วย ทางด้านโหราศาสตร์ยูเรเนียนจะเห็นแตกต่างไปจากโหราศาสตร์อื่นตรงที่ใช้ดวงขณะอาทิตย์ยกราศีมกรเป็น “ดวงประจำปี” แทน
นอกจานี้ยังมีเรื่องดวงวันเวลาที่ดาวใหญ่ดาวสำคัญ (ในทางโหราศาสตร์จะหมายถึงดาวเคราะห์วงนอกตั้งแต่พฤหัสเป็นต้นไป) ทำมุมกัน เช่น พฤหัสกับเสาร์กุมกัน มฤตยูทำมุมกับดาวเนปจูน หรือเมื่อครั้งอาจารย์ จรัญ พิกุล ยังมีชีวิต ท่านก็เคยใช้ดวงเมื่อจันทร์ “บัง” (ทั้งกุมและมีเดคลิเนชั่นเท่ากัน) ดาวต่างๆ อยู่บ่อยๆ
เอาเป็นว่าเมื่อเราได้วันเวลามาผูกดวงจังหวะฟ้าเหล่านี้ อันได้แก่ อมาวสี อาทิตย์ยกราศี และอื่นๆ แล้ว เราก็จะผูกดวงวันเวลาดังกล่าว ณ เมืองหรือสถานที่ที่เราต้องการ โดยถือว่าดวงที่ผูก ณ เมืองหลวงของประเทศใด ก็จะเป็นเสมือน “ดวงเมือง” ของประเทศนั้นในรอบเวลานั้นๆ เช่น ดวงอมาวสี วันที่ 2 พฤศจิกายน 2548 ณ กรุงเทพฯ ก็จะเป็นดวงเมืองประเทศไทยในรอบเดือน ดวงวันอาทิตย์ยกราศีมกร ณ วอชิงตันดีซี ในเดือนธันวาคม 2548 ก็จะเป็นดวงเมืองของอเมริกาในรอบปีนับแต่วันเวลาที่อาทิตย์ยกราศีมกรครั้งนี้ ไปจนถึงวันเวลาที่อาทิตย์ยกราศีมกรปี 2549
การพยากรณ์ดวงเหล่านี้ก็ในทำนองเดียวกับการพยากรณ์ดวงบุคคลทั่วไป เช่น การหาดาวเด่นในดวงชะตา จุดเจ้าชะตาแต่ละจุดไปสัมพันธ์กับดาวไหนอย่างไรบ้าง มีดาวอะไรอยู่ในเรือนชะตาไหน ดาวเล็กดาวใหญ่สัมพันธ์กันอย่างไร ฯลฯ แล้วแต่ว่าใครจะใช้หลักการพยากรณ์แนวไหน โดยตัวที่จะบอกความแตกต่างของดวงเมืองแต่ละเมืองคือลัคนาและเมอริเดียนที่จะคำนวณได้ต่างกันนั้นเอง ซึ่งรายละเอียดคงยาวเกินกว่าชื่อเรื่องที่กำหนดไว้ว่า “พื้นฐานและแนวทาง”
ต้องมีพื้นดวงหรือไม่?
ในวงการโหราศาสตร์ไทยเมื่อมีการพยากรณ์ดวงเมืองกันนั้น ย่อมจะต้องกล่าวถึง “ดวงเมือง” อันเป็นวันเวลาขณะที่วางเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา “รุ่งแล้วเก้าบาท” ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันแม้กระทั่งในวงการโหราศาสตร์ไทยเอง ว่าเวลาที่แท้จริงคือกี่โมงยามกันแน่? (จากการคำนวณของอาจารย์ มานิตย์ ธีระเวชชโรกุล ด้วยเครื่อง DR70 วันดังกล่าวอาทิตย์ขึ้นที่กรุงเทพฯ เวลา 06.04.57 น. เวลา 1 บาท เท่ากับ 6 นาที เวลา รุ่งแล้วเก้าบาท จึงน่าจะเป็น 06.58.57 น.) เวลาผ่านมานานดวงนี้ยังเชื่อถือได้หรือไม่? ถ้าไม่ใช้ดวงนี้จะใช้ดวงเหตุการณ์ไหนแทน? เช่น ดวงปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 หรือไม่?

ไม่ใช่แต่ในเมืองไทยเท่านั้นที่มีปัญหาทำนองนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็เคยมีการถกเถียงว่าดวงเมืองของเขาที่แท้จริง ควรจะเป็นวันเวลาประกาศอิสรภาพ 4 กรกฎาคม 1778 หรือไม่ รายละเอียดปรากฏในหนังสือชื่อ The True Horoscope of the United States of America by Helen M Boyd ซึ่งผมเคยได้รับสำเนาหนังสือเรื่องนี้จากอาจารย์มานิตย์ฯ โดยสรุป หนังสือเล่มนี้ถือว่าดวงเมืองที่แท้จริงของอเมริกาคือ วันที่อาณานิคมอเมริกาประกาศสงครามกับอังกฤษ เมื่อ 6 กรกฎาคม 1775 เวลา 11.00 น. ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย โดยทดสอบจากเหตุการณ์จรอื่นๆ มากมาย
สำหรับโหราศาสตร์ยูเรเนียนนั้น ตามหลักจริงๆ จะไม่ถือว่ามี “พื้นดวง” ในการพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมือง แต่นักโหราศาสตร์ยูเรเนียนเมืองไทยท่านหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดคือดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ พูดในการสัมมนาเรื่องสุริยคราสเมื่อปี 2538) เคยให้ความเห็นว่า ดวงพระฤกษ์เสาหลักเมืองของไทยก็ยังให้ความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง ไม่อาจละทิ้งไปโดยสิ้นเชิง
ในส่วนตัวผมเองไม่ได้ใช้พื้นดวงใดๆ ในการพยากรณ์เหตุการณ์จรของบ้านเมือง แต่ด้วยเหตุผลของการไม่มีเวลาและความสะดวกในการขึ้นรูปดวงในเว็บบอร์ด แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการใช้พื้นดวงเหล่านี้โดยสิ้นเชิง และคงต้องฝากให้ผู้ศึกษาโหราศาสตร์แต่ละท่านได้ศึกษาพิจารณากันต่อไป
เพิ่มเติม 1 พ.ย.2548
เรือนชะตาต่างๆ ในดวงเมือง
จากหนังสือ “โหราศาสตร์การเมือง สำหรับ พยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองนานาประเทศ” โดย อ.จรัญ พิกุล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2493 หน้า 38-42
ภพที่ 1 หรือลัคนา หมายถึง ประเทศและประชาชนพลเมืองโดยส่วนรวมทั้งหมด สภาพทั่วไปของความไพบูลย์รุ่งเรืองและสุขภาพ
ภพที่ 2 หมายถึง เศรษฐทรัพย์ของชาติ การคลัง ภาษี ศุลกากร และธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเงิน เช่น ธนาคาร ตลาดหุ้น และการค้า
ภพที่ 3 การขนส่ง การคมนาคมภายใน เช่น ทางรถไฟ ถนน แม่น้ำ รถยนต์ ตลอดจนการให้ข่าวสื่อสาร เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ภายในประเทศ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือเล่ม และบรรดาเพื่อนบ้านใกล้เคียง งานด้านวรรณกรรมและการศึกษา (โรงเรียนอนุบาลอยู่ในภพที่5)
ภพที่ 4 หมายถึง ที่ดิน เจ้าของที่ดินและคนงานที่เกี่ยวกับงานดิน พืชผลไร่นาธัญญาหาร เหมืองแร่ สาธารณอาคาร พรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา หรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
ภพที่ 5 หมายถึง การมหรสพต่างๆ สถานที่รื่นเริงและหย่อนใจ คนเกิด เด็ก โรงเรียน กีฬา การพนันขันต่อ เรื่องที่เกี่ยวกับสังคมชั้นสูงและงานสังคม
ภพที่ 6 หมายถึง การสาธารณสุข หรือความเจ็บไข้ บริการของชาติ กองทัพบก-เรือ ข้าราชการพลเรือน และชนชั้นกรรมาชีพ
ภพที่ 7 หมายถึง การต่างประเทศ ความสัมพันธ์กับต่างประเทศไม่ว่ามิตรหรือศัตรู การเมืองหรือการค้า การแต่งงานหรือการสมรสของประชาชน การหย่าร้าง (คงหมายถึงกรณีมีบาปเคราะห์) ผู้หญิง สินค้าขาเข้า และสงคราม
ภพที่ 8 หมายถึง การตาย ประเภทของคนที่ตาย ภาษีคนตาย ความสัมพันธ์ทางการเงินกับต่างประเทศ ความลับของรัฐบาล โรคระบาด สภาองคมนตรี
ภพที่ 9 หมายถึง การเดินเรือ การคมนาคมทางทะเล และระยะทางไกล การบินไม่ว่าจะเกี่ยวกับคนโดยสารหรือสินค้า สายโทรเลข โทรศัพท์ทางไกล การศาสนา วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย การโฆษณา การวิทยุ การหนังสือพิมพ์ ข่าวสารการเมืองนอกประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ การพิมพ์ และสถาบัน
ภพที่ 10 หมายถึง กษัตริย์ ประธานาธิบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐบาลและผู้รับผิดชอบ บุคคลสำคัญของชาติ การค้าของประเทศ สินเชื่อและอำนาจ เกียรติคุณชื่อเสียงของประเทศ
ภพที่ 11 หมายถึง รัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาการเมืองและท้องถิ่น นโยบายและความมุ่งหมายของชาติ สัมพันธมิตรกับประเทศต่างๆ การบัญญัติกฎหมาย
ภพที่ 12 หมายถึง เรือนจำ ที่ดัดสันดาน อาชญากร จารชน ศัตรูลึกลับของประเทศทั้งภายในและภายนอกประเทศสมาคมหรือคณะพรรคลับ โรงพยาบาลโรคจิต โรงทาน องค์การประชาสงเคราะห์ทั่วไป เช่น โรงพยาบาล สถานรับเงินการกุศล วินาศกรรม ความทุกข์ระทม ความสูญเสียของชาติ ศาสนาเร้นลับ