
ในช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มศึกษาโหราศาสตร์ก็คงไม่ต่างจากผู้อ่านอีกหลายท่านที่จะต้องสับสนกับหลักการโหราศาสตร์ที่มีหลักการไม้เด็ดเคล็ดลับรายละเอียดพิสดารพันลึกแตกต่างกันไปจนจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่ยังนับว่าโชคดีที่ได้พบกับหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “ศิวเมษ” ผมทราบคร่าวๆ เพียงว่าท่านเคยมีอาชีพเป็นครูและศึกษานิเทศก์ ด้านโหราศาสตร์ท่านเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถนำหลักโหราศาสตร์ยูเรเนียนมาประยุกต์ใช้กับโหราศาสตร์ไทยได้อย่างแนบเนียน และเคยเป็นนักเขียนคนสำคัญของวารสาร “โหราเวสม์” ของเกษมบรรณกิจ แต่ระยะหลังไม่ได้ข่าวคราวอะไรเกี่ยวกับตัวท่านเลย สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ขออนุญาตลอกข้อความในหน้าแรกของหนังสือแทนการอธิบายเอง ดังนี้ “แก่นแท้ของวิชาโหราศาสตร์ว่าด้วย จักรราศี ดาวพระเคราะห์ เรือนชะตา การผสมความหมายของจักรราศีกับดาวพระเคราะห์, จักรราศีกับเรือนชะตา, ดาวพระเคราะห์กับดาวพระเคราะห์, ดาวพระเคราะห์กับเรือนชะตา และเรือนชะตากับเรือนชะตา”
นับตั้งแต่ได้ศึกษาตำราเล่มนี้ผมเชื่อมาตลอดว่า “หลักโหร” ที่แท้จริงมีเพียงสามเรื่องตามที่ท่านว่า คือ จักรราศี ดาวพระเคราะห์ และเรือนชะตา คุณจะใช้จักรราศีแบบไหน ดาวพระเคราะห์กี่ดวงคำนวณแบบไหน ใช้เรือนชะตาแบบไหน ขอให้แม่นความหมายของ 12 ราศี แม่นความหมายดาวทุกดวงที่ใช้ กับแม่นความหมาย 12 เรือนชะตา และที่สำคัญรู้จักผสมความหมายของปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกัน ก็แทบจะเพียงพอแล้ว
ส่วนชื่อคอลัมน์ “หลักโหรโดนใจ” ก็มาจากชื่อหนังสือเล่มนี้นั่นเอง
สนใจสั่งซื้อได้ที่ร้านเกษมบรรณกิจ เวิ้งนครเกษม ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะมีสาขาที่ซีคอนแสควร์ด้วยครับ ตอนที่ผมซื้อราคาเล่มละ 100 บาท ขณะนี้จะเป็นเท่าไหร่ก็ลองสอบถามทางร้านดูนะครับ
เพิ่มเติม (13 พฤศจิกายน 2546)
ได้ทราบจากผู้ชมเว็บท่านหนึ่งว่า ขณะนี้ทางเกษมบรรณกิจ ไม่ได้พิมพ์จำหน่าย “หลักโหร” แล้ว และไม่ทราบได้ว่าจะพิมพ์ใหม่อีกหรือไม่ ถึงอย่างนั้นถ้าผมจะจำหน่ายจ่ายแจกเองคงไม่เหมาะสม ในที่นี้จึงขอเพิ่มเติมด้วยข้อเสนอของอาจารย์ศิวเมษซึ่งปรากฏอยู่ใน “ปัจฉิมภาค” ของหนังสือเล่มดังกล่าว ดังนี้
๑. เรื่องตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ ในปัจจุบันนี้ในวงการโหราศาสตร์ของเมืองไทยเรามีปฏิทินบอกตำแหน่งดาวพระเคราะห์ใช้กันอยู่ ๒ ระบบ คือ
ก. ปฏิทินโหราศาสตร์ระบบสุริยยาตร
ข. ปฏิทินโหราศาสตร์ระบบดาราศาสตร์
สำหรับท่านที่ใช้ปฏิทินโหราศาสตร์ระบบสุริยยาตรนั้น ขอฝากให้ท่านลองนำเอาดวงชะตาต่างๆ เท่าที่ท่านมีอยู่ในสมุดสถิติมาแปลงเป็นตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ระบบดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นระบบที่ตรงกับความเป็นจริงบนท้องฟ้า และลองหาลัคนาด้วยการใช้เวลานักษัตรดูบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้นำมาใช้กับหลักการของ “หลักโหร” เล่มนี้แล้ว ท่านจะตัดสินใจได้เองว่า ควรจะยึดถือปฏิทินโหราศาสตร์ระบบใดต่อไป
๒. เรื่องของเรือนชะตา ท่านที่เคยนิยมเรือนชะตาแบบมีอาณาเขตเท่ากับราศี กล่าวคือ ไม่ว่าลัคนาจะมีสมผุสเท่าใดในราศีใด ก็ถือว่าราศีนั้นทั้งราศีเป็นเรือนชะตาที่ ๑ หรือเรือนลัคนาทั้งหมดนั้น ขอให้ท่านลองทดสอบกับเรือนชะตาที่ใช้จุดลัคนาเป็นจุดเริ่มต้นของเรือนที่ ๑ ดูบ้าง เมื่อท่านมีสถิติมากๆ ขึ้นแล้ว ท่านก็จะสามารถตัดสินใจได้เองเช่นกันว่า ท่านควรจะยึดถือเรือนชะตาแบบใดอีกต่อไป
๓. เรื่องของดาวทำมุมกัน ท่านที่นิยมถือดาวทำมุมกันทางราศี เช่น อาทิตย์ อยู่ราศีเมษ แล้วมีพุธอยู่ราศีเมษเช่นกัน ก็ถือว่าอาทิตย์กุมกับพุธเลยทีเดียว โดยมิได้พิจารณาที่องศาของดาวพระเคราะห์ทั้งสองดวงนั้นว่า ได้กันหรือไม่นั้น ขอให้ท่านจงใช้วิธีที่ดาวทำมุมกับแบบชนิดองศาชนองศาหรือห่างกันได้ไม่เกิน ๓ องศาดูบ้าง แล้วท่านจะเริ่มรู้สึกว่า ข้อสงสัยหรือข้อยกเว้นต่างๆ ของหลักวิชาโหราศาสตร์ที่โหรรุ่นเก่าๆ ท่านมีอยู่และวางไว้นั้น จะมีอันหมดไปอย่างสิ้นเชิง
ข้าพเจ้า จะไม่ขอชักจูงท่านให้หันมาใช้หลักการดังกล่าวนี้ตามข้าพเจ้า แต่ใคร่ขอให้ท่านได้ลองพิสูจน์และเรียนรู้ด้วยตัวของท่านเอง และตัดสินใจด้วยตัวของท่านเอง
แน่ละ นักโหราศาสตร์ที่เคยชินอยู่กับระบบเดิมของท่าน ย่อมไม่มีความเชื่อถือในสิ่งที่ไม่มีอยู่ในหลักการเดิมของท่าน แต่ก็ในเมื่อท่านไม่เชื่อแล้ว ทำไมท่านไม่ลองพิสูจน์ดู
คำพระท่านว่า “จงอย่าเชื่อสิ่งใด ในเมื่อยังมิได้พิสูจน์” เพราะฉะนั้น จึงใคร่ขอให้ท่านจงเริ่มลงมือพิสูจน์เสียแต่วันนี้ และเดี๋ยวนี้เถิด
(หมายเหตุเพิ่มเติม ขณะนี้ท่านสามารถศึกษาหลักการของ "หลักโหร" โดยย่อได้จากกลุ่มบทความ "หลักโหรศิวเมษ" ครับ)