
โหราศาสตร์ยูเรเนียน เป็นโหราศาสตร์แนววิทยาศาสตร์ พัฒนาขึ้นจากโหราศาสตร์แนวจิตวิทยา หรือ " โหราศาสตร์ยุคศิลป " ซึ่งนิยมศึกษากันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยอาศัยพื้นฐานวิชา -คำนวณและวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ผู้วางรากฐานโหราศาสตร์ยูเรเนียน เป็นนักโหราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ " อัลเฟรด วิตเตอ " เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1878 ท่านผู้นี้ได้ริเริ่มวางพื้นฐานของงานโหราศาสตร์นี้ขึ้นด้วยความมานะอุตสาหะ เป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 1919 ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากนักโหราศาสตร์รุ่นเก่าคัดค้านหลักการของท่านในทำนองหาว่าออกนอกทาง อย่างไรก็ดี ท่านอัลเฟรด วิตเตอ ก็หาได้ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงเหล่านั้นไม่และคงพยายามถ่ายทอดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อันได้จากประสบการณ์และความเป็นอัจฉริยะทางโหราศาสตร์ของท่าน ลงในนิตยสารโหราศาสตร์ ชื่อ " อาสโตรโลกิชเชอ รุนเชา " กับนิตยสาร " อาสโตรโลกิชเช่น เบลทเตอ " ในระหว่างปี ค.ศ. 1919 ถึง 1921 ในที่สุด เสียงสะท้อนต่าง ๆ เหล่านั้นก็ค่อยๆจางหายไป และงานทางโหราศาสตร์ของท่าน คือ " โหราศาสตร์ยูเรเนียน " ก็ค่อย ๆ มีหลักฐานมั่นคงขึ้นโดยลำดับ จนเป็นที่นิยมศึกษากันทั้งภายในประเทศเยอรมันเอง และทั่วโลก ตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจาก " หลักนิยม " บางประการของโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยเฉพาะ " ทฤษฎีจุดอิทธิพล " เป็นทฤษฎีที่ค่อนข้างจะเข้าใจและเข้าถึงยากอยู่สักหน่อย ทำให้นักศึกษาบางท่านเข้าไม่ถึงความลึกซึ้งของทฤษฎี เช่น นายฟรังค์ กลาน ผู้ค้นพบวิธีคุมกำเนิด โดยวิชาโหราศาสตร์ซึ่งรู้จักกันดี ในหมู่นักโหราศาสตร์ยุคปัจจุบันทั่วโลก เป็นต้น ไม่เห็นด้วย แต่ฟรังค์ กลาน ก็ได้นำเอา " ทฤษฎีพระเคราะห์สนธิ " อันมีชื่อเสียงของโหราศาสตร์ยูเรเนียน มาดัดแปลงใช้กับโหราศาสตร์ยุคศิลป ปรากฏว่า ได้รับความนิยมจากนักโหราศาสตร์สมัยนี้มากเหมือนกัน แต่จะสามารถพยากรณ์ได้อย่างวิจิตรพิศดาร เหมือนศิษย์ผู้เข้าใจทฤษฎีทั้งหมดของท่านถึง หาได้ไม่ และในที่สุดขณะนี้ ปรากฏว่า นักโหราศาสตร์ที่เคยนิยมความคิดเห็นของฟรังค์ กลาน มาก่อน ต่างก็พากันหันมาศึกษา " หลักนิยม " ของท่าน อัลเฟรด วิตเตอ ใหม่อีก เช่น นักโหราศาสตร์ส่วนใหญ่ในสหรัฐ ฯและในสหพันธสมาคมโหร ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
ส่วนในประเทศอินเดีย ซึ่งจากการสันนิษฐาน ปรากฏว่า เป็นแหล่งที่มาของโหราศาสตร์ไทยเรานั้น ได้ศึกษาโหราศาสตร์ยูเนียนนั้นมาเป็นเวลานานแล้ว จากเอกสาร พบว่า ท่านศาสตราจารย์บีวี รามัน เจ้าของนิตยสาร " แอสโตรโลยิกัล แมคกาซีน " อันมีชื่อเสียงของอินเดีย ได้คุ้นเคยกับสถาบันโหราศาสตร์ยูเรเนียน ประเทศเยอรมันมาตั้งแต่ก่อน ปี ค.ศ. 1963 และเขาได้กล่าวอย่างเป็นทางการว่า วิชาโหราศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์
ในบรรดาศิษย์และผู้ร่วมงานของท่าน อัลเฟรด วิตเตอ มีบุคคลสำคัญ ๆ ที่ควรยกย่อง ตามลำดับ คือ
ท่าน ฟรีดริชค์ ซีกกรีน เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1877 ท่านผู้นี้ค้นพบ " สิ่ง " ที่เราเรียกกันว่า " ดาวทิพย์ " รวม 4 ดวง และมีชื่อเรียกกัน ในหมู่นักโหราศาสตร์ว่า " ดาวทิพย์ ซีกกรีน "เพิ่มขึ้นจากที่ท่านอัลเฟรต วิตเตอ ได้ค้นพบไว้ก่อนแล้ว 4 ดวง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า " ดาวทิพย์ วิตเตอ "รวมเป็น 8 ดวง ด้วยกัน ดาวทิพย์ทั้ง 8 ดวง ซึ่งค้นพบโดยวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนนี้ มีวิถีโคจรอยู่ห่างไกลจากดาวพระเคราะห์เนปจูน ออกไป และมีชื่อเรียกเป็นส่วนรวมในภาษาต่างประเทศว่า " ทรานเนปจูน " นับว่า เป็นงานชิ้นที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งของวงการโหราศาสตร์ของโลก ที่น่า - มหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นคือ ท่านอัลเฟรด วิตเตอ ยังสามารถสร้างปฎิทินดาวทิพย์ทั้ง 8 เพื่อบอก -ข้อมูลทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ คือสมผุส ไรท์แอสเซ็นเชี่ยน เดคลิเนชั่น แลตติจูดฟ้า ฯลฯ ทั้งอนาคตและย้อนหลัง เช่นเดียวกับปฎิทินดาวในทางดาราศาสตร์ได้อีกด้วย ท่าน ซีกกรีน ผู้นี้ เป็นนักโหราศาสตร์มือ 2 รองจากท่าน อัลเฟรด วิตเตอ
ท่านลุดวิก รูดอลฟ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1893 ท่านผู้นี้เป็นผู้เรียบเรียง " คัมภีร์ -โหราศาสตร์ยูเรเนียน " และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งปวงของวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียน แต่ผู้เดียวท่านสนิทสนมและคุ้นเคยกับข้าพระพุทธเจ้ามากเป็นพิเศษ ปัจจุบัน มีตำแหน่ง ประธานคนที่ 1 ของสถาบันโหราศาสตร์ยูเนียน ประเทศเยอรมัน ( โรงเรียนโหราศาสตร์ ฮัมเบร์ก )
ท่านแฮร์มันน์ เลเฟลดท์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1899 ท่านผู้นี้เป็นบุคคลชั้นสมองของวงการโหราศาสตร์ยูเรเนียนทีเดียว เป็นผู้รวบรวม " คัมภีร์สูตรพระเคราะห์สนธิ " ซึ่งเป็นกิจกรรมทางเอกสารที่จะคำนวณให้สามารถนำเอาข้อมูลทางโหราศาสตร์ที่แท้จริงบรรจุลงใน " คอมพิวเตอร์ " ได้ ต่อไปนี้อนาคตนักโหราศาสตร์ จะอาศัยคู่มือนี้เป็นคู่มือในการพยากรณ์
ท่านอูโด รูดอลฟ์ ท่านผู้นี้เป็นผู้คุ้นเคยกับข้าพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เป็นบุตรชายของท่าน
ลุดวิก รูดอลฟ์ เขาจะเป็นผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โหราศาสตร์ยูเรเนียน สืบแทนจากบิดา โหราศาสตร์ยูเรเนียน มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปในประเทศเยอรมันว่า " ฮัมเบอร์กเกอร์ ชูเลอ "ซึ่งอาจแปลความได้ว่า " คัมภีร์ฮัมเบอรก " หรืออาจแปลตามตัวว่า " โรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมเบอรก "ก็ได้ ซึ่งมีชื่อคล้ายกับ " โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ " ของเรา การที่มีนามว่า " โหราศาสตร์ยูเรเนียน "ซึ่งมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า " ยูเรเนียนแอสโตรโลยี่ " นั้น เกิดขึ้นเพราะ นักโหราศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อ ฮันส์ นิค เกอร์มันน์ ขอซื้อลิขสิทธิ์แปลคัมภีร์ โหราศาสตร์ยูเรเนียนทั้งปวง เป็นภาษาอังกฤษ โดยเหตุผลเกี่ยวกับการโฆษณาเพื่อ จำหน่ายหนังสือที่แปลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศสมัยใหม่ ได้ขอร้องให้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษในทำนองเป็นโหราศาสตร์ระบบใหม่อีกระบบหนึ่งต่างหาก
เพื่อให้ดูเหมาะสมกับที่เป็นโหราศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น ในสมัยที่โลกกำลังมีความเจริญทางด้านวัตถุอยู่นี้ ท่านลุดวิก รูดอลฟ์ จึงได้ขนานนาม โดยอาศัยทฤษฎีการแบ่งยุคในวิชาโหราศาสตร์ว่า " ยูเรเนียน แอสโตรโลยี่ " ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า " โหราศาสตร์ยูเรเนียน " เหตุผลทาง โหราศาสตร์คือ โหราศาสตร์ระบบนี้ได้สถาปนาขึ้นระยะที่ " จุดวิษุวัติ " กำลังโคจร ยกจากราศี มีนเข้าสู่ ราศีกุมภ์ ในวิชาโหราศาสตร์ ราศีกุมภ์ มีดาวมฤตยู ซึ่งเรียกกันในภาษาต่างประเทศว่า " ยูเรนัส " ครองเป็นเกษตร อยู่ จึงถือว่า เป็นเกษตรประจำยุค ท่านลุควิก รูดอลฟ์ จึงเอาชื่อดาวยูเรนัส อันเป็นดาวเกษตรประจำยุค แปลงมาเป็น " ยูเรเนียน " แล้วใช้ตั้งเป็นชื่อในภาษาอังกฤษของโหราศาสตร์ ตามแนวทางของท่านอัลเฟรด วิตเตอ นี้
โดยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่า โหราศาสตร์ยูเรเนียน หาใช่ ระบบของโหราศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นใหม่แต่ประการใดไม่ หากแต่เป็น " สถาบัน " การค้นคว้าและวิจัยทางโหราศาสตร์ สถาบันหนึ่ง เช่นเดียวกับ " สถาบันค้นคว้าและวิจัยโหราศาสตร์กรุงเทพ " ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อ รวบรวมค้นคว้าวิจัยและพัฒนา วิชาโหราศาสตร์ของโลก ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยวิธีการอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และการคำนวณสมัยใหม่เข้ามาประกอบเท่านั้น ทั้งนี้โดยการอาศัย " แนวทาง " หรือ " หลักนิยม " ซึ่งท่านอัลเฟรด วิตเตอ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า น่าจะเป็น " แกนแท้ " ของวิชาโหราศาสตร์ของโลก ที่ถ่ายทอดกันมาโดยลำดับอย่างแท้จริง เป็นมูลฐานปัจจุบัน สาระสำคัญที่ทำให้ " โหราศาสตร์ยูเรเนียน " มีลักษณะพิเศษไปกว่า โหราศาสตร์
แนวจิตวิทยา คือ การพัฒนาทฤษฎีสำคัญ 4 ทฤษฎี คือ
1 พิกัด แอนติสเชียน
2 โค้งสุริยยาตร์
3 ดวงชะตาอนุเคราะห์
4 ศูนย์รังสี
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีปลีกย่อยต่าง ๆ อีก ซึ่งจำแนกไปจากทฤษฎีสำคัญทั้ง 4 นี้ โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ ถือหลักนิยมตามแนวทางของโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมเบอรก ของท่าน อัลเฟรด วิตเตอ โดยเคร่งครัด นอกจากจะเปิดหลักสูตรการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งเรียกกันตามสมัยนิยมว่า " โหราศาสตร์ยูเรเนียน " แล้ว ยังมีสถาบันค้นคว้าและวิจัยโหราศาสตร์กรุงเทพ ซึ่งปฎิบัติงานประสานกับสถาบันโหราศาสตร์ยูเรเนียน ประเทศเยอรมัน ด้วย อย่างใกล้ชิด กล่าวคือ โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพซึ่งปฎิบัติงานประสานกับสถาบันโหราศาสตร์ยูเรเนียน ประเทศเยอรมัน ด้วย อย่างใกล้ชิด กล่าวคือ โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ จะได้พยายามพัฒนากิจกรรมทางโหราศาสตร์ในประเทศไทย ให้เจริญก้าวหน้า ทันกับกาลสมัย เพื่อนำเกียรติยศและชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ในอนาคตต่อไป
คัดมาจากคำกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา โดยพลตรีประยูร พลอารีย์
เนื่องในงานพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรโหราศาสตร์ยูเรเนียน
โรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2518