(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://rojn.blogth.com/Astro )
คราวนี้ขอบอกความจริงกันสักนิด ว่าได้เขียนเรื่องนี้จริงเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 แต่เอามาไว้ที่วันที่ 16 นี้ อันเป็นวันที่ได้มีการจัดงานวันรำลึกถึง อาจารย์ จรัญ พิกุล (หรือที่บางท่านเขียนเป็น จรัล พิกุล เป็นปรมาจารย์คนสำคัญผู้หนึ่งที่ทำให้โหราศาสตร์ยูเรเนียนเผยแพร่ในประเทศไทย เกิด 3 ธันวาคม 2466 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2547) และมีการบรรยายเกี่ยวกับโปรแกรมโหราศาสตร์ยูเรเนียน ซึ่งผมก็เป็นวิทยากรคนหนึ่งด้วย ที่จริงก็อยากจะเขียนให้ตรงวัน แต่ด้วยติดอะไรบางอย่างเกินจะแก้ตัว ก็ต้องแจ้งความจริงกันไว้ เผื่อใครติดตามเป็นประจำจะได้ไม่งงว่าทำไมพึ่งจะมาเห็นเรื่องนี้ทีหลัง
โปรแกรมการบรรยายในวันที่ 16 นี้ อาจจะชอบกลอยู่หน่อยที่ได้เชิญผู้พัฒนาโปรแกรมโหราศาสตร์ยูเรเนียน 3 รายมาบรรยาย ซึ่งอาจถูกมองในแง่ร้ายได้ว่าเอา 3 คนนี้มาขายโปรแกรมแข่งกันหรือไง โดยความรู้สึกส่วนตัวก็เห็นว่าผู้พัฒนาโปรแกรมรายหลังๆ เริ่มมีฝีไม้ลายมือแซงหน้าผมไปบ้างแล้ว จึงได้พยายามตั้งหัวข้อบรรยายเสียใหม่ และจัดทำ PowerPoint ประกอบการบรรยายเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาของการพัฒนาโปรแกรม รวมถึงแนวโน้มที่คาดว่าจะเป็น แทนการสาธิตโปรแกรมรุ่นล่าสุด ที่ยังคาราคาซังเพราะอารมณ์ศิลปินมีๆ หายๆ จนทำไปได้ไม่ถึงไหน
ประเด็นหนึ่งที่ผมนำมาเสนอ นำมาจากแนวคิดของ Blog เพื่อนบ้านกันรายหนึ่ง คือ www.peetai.com ที่นำเสนอว่า โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์นั้น ไม่ใช่สินค้าตัวหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของการบริการ (Software as a Service) ผมก็นำมาคิดต่อว่า แล้วโปรแกรมโหราศาสตร์นั้น มันให้บริการอะไรกับใครยังไง ผลออกมาดังภาพที่แปลงจาก PowerPoint ข้างล่าง

ผลจากการนำเสนอดูเหมือนผู้ฟังและผู้จัดจะยังไม่ค่อยขานรับเท่าไหร่นัก (แต่ถ้าเขาขานรับเป็นอย่างดี ผมก็หาเหตุเอามาเขียน Blog จนได้แหละน่า) ทีนี้ท่านผู้อ่านจะขานรับหรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องอธิบายเพิ่มเติมอันอีกนิด
คือท่านอาจารย์จรัญ พิกุล ได้กล่าวอยู่เสมอว่า ดวงชะตาในระบบยูเรเนียนนั้น เป็นเสมือนปทานุกรมหรือพจนานุกรมที่บอกเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของเราไว้อย่างละเอียดครบถ้วนอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องราวเหล่านั้นมันอยู่กระจัดกระจาย ไม่เป็นที่เป็นทางพอที่เราจะหยิบจับมาดูได้ง่ายๆ จึงต้องใช้ความรู้และเครื่องมือในการที่จะหยิบจับมันมาเรียบเรียงกันใหม่ให้อ่านได้รู้เรื่อง เปรียบเทียบกันแบบยุคไอทีเวลานี้ ข้อมูลชีวิตเราในดวงยูเรเนียนอาจพอเทียบได้กับข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ที่จะต้องหาอย่างถูกวิธีด้วยสิ่งที่อาจเรียกว่า Search Engine โดยระยะแรกอาจเป็นจานคำนวณชนิดต่างๆ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นก็มาใช้โปรแกรมกัน ทีนี้ไม่ว่าจานคำนวณหรือซอฟต์แวร์ใดๆ ก็ตาม เราไม่อาจใช้มันอย่างสะเปะสะปะได้ แต่จะต้องอาศัยความรู้ในการที่จะจับประเด็นว่า เราอยากจะดูเรื่องอะไร ใน PowerPoint ที่นำมาแสดงผมใช้คำว่า Index ไปพลางก่อน แต่ที่ถูกจะเป็น Keyword หรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อตั้งประเด็นตามคำค้นหรือคำดัชนีที่ว่านี้ให้กับ Search Engine แล้ว จึงจะได้ผลลัพธ์เบื้องต้น (Output) ออกมา เรียกว่าเป็นการอ่านดวง แล้วจึงจะตีความ (Interpret) ออกมาเป็นคำพยากรณ์ที่สมบูรณ์อีกที
นอกจากการทำงานของซอฟต์แวร์ที่จะให้บริการแก่ผู้พยากรณ์ดังที่ว่าแล้ว "Software as a Service" ยังน่าจะหมายความไปถึงว่า มันไม่ใช่สินค้าที่โปรแกรมเมอร์ขายให้กับยูสเซอร์เท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่โปรแกรมเมอร์ให้บริการแก่ยูสเซอร์ชนิดที่คำว่า After Service อาจจะยังไม่เพียงพอ โปรแกรมเมอร์หรือเจ้าของโปรแกรมน่าเป็นผู้ให้บริการที่ดีแก่ยูสเซอร์ตั้งแต่ช่วงที่กำลังจะตัดสินใจซื้อด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าโปรแกรมของเรามันทำอะไรได้แค่ไหน ซื้อแล้วควรมีคู่มือให้แล้วอาจต้องสอนการใช้โปรแกรมเพิ่มบ้างตามสมควร รวมถึงการรอรับฟังผลหรือเป็นฝ่ายติดตามยูสเซอร์เองเลยว่าได้มีความเข้าใจและสามารถนำโปรแกรมไปใช้งานได้แค่ไหน อันจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไปตลอด ในกรณีของโปรแกรมโหราศาสตร์ยูเรเนียน เจ้าของโปรแกรมจึงต้องมีทั้งความรู้ในโหราศาสตร์ยูเรเนียนอยู่พอตัว กับความมีจิตใจในการให้บริการ (Service Mind) ประกอบอยู่ด้วย อันที่จริงเรื่องเหล่านี้ก็มีอยู่ในใจในสมองผมมาบ้างแล้ว แต่ไม่เคยเรียบเรียงจนเป็นระบบ จนกระทั่งได้แนวคิดจาก www.peetai.com ครับ
3 ก.ค.2551 ณ เวลานั้นผมอาจจะยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไปนิด "Software as a Service" นั้น เท่าที่ได้ยินในระยะหลังๆ เขาหมายถึง โปรแกรมที่ใช้งานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแทนการติดตั้งลงในเครื่อง ตัวอย่างเช่น บริการทั้งหลายของ Google ที่เปรียบเทียบกับ Software แบบเดิมอย่างชัดๆ เช่น การใช้งาน Google Document (docs.google.com) แทนการติดตั้ง Microsoft Office ฯลฯ
ส่วนไฟล์ PowerPoint ที่ผมใช้บรรยายในวันนั้น (Lecture25500922.ppt) ดาวน์โหลดได้โดยคลิกที่นี่ครับ